คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5118/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำร้องของผู้ร้องที่กล่าวอ้างว่าการส่งหมายนัดไต่สวนคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ ถือได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างพฤติการณ์การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่ว่าด้วยการส่งคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่งผู้ร้องชอบที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวได้ แม้เป็นระยะเวลาภายหลังจากศาลมีคำสั่งแล้ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ตามคำร้องของผู้ร้องยอมรับว่า ได้ทราบว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2546 การที่ผู้ร้องเพิ่งมายื่นคำร้องเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2546 เกินกว่า 8 วัน จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2539 และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 39725 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยมีนายประเดิม ตันเจริญ ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อได้ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2546
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดและยังไม่ได้รับหมายนัดไต่สวนคำร้องของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ผู้รับจำนองที่ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด จึงไม่ทราบและไม่ได้มาศาลในวันนัดไต่สวนดังกล่าว ตามรายงานการส่งหมายนัดลงวันที่ 8 มีนาคม 2546 ที่ระบุว่าได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่ผู้ร้องโดยวิธีปิดหมายนั้นเป็นความเท็จผู้ร้องเพิ่งทราบว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2546 ซึ่งทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่และงดการบังคับคดีชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้ขาดนัดพิจารณาและคดีไม่ได้มีการพิจารณาไปฝ่ายเดียว ผู้ร้องจึงไม่อาจขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 ได้ แต่ถือได้ว่าผู้ร้องประสงค์ขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบซึ่งตามคำร้องผู้ร้องอ้างว่าเพิ่งทราบคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2546 แต่กลับมายื่นคำร้องในวันที่ 25 กันยายน 2546 ถือว่าเกินกว่า 8 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องทราบเรื่องการเพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อได้รับหนังสือของสำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรสาคร ฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2546 จึงทราบเรื่องในวันดังกล่าวซึ่งอยู่ในชั้นบังคับคดี จึงนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 มาใช้ในกรณีนี้ไม่ได้ นั้น เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องกล่าวอ้างว่าการส่งหมายนัดไต่สวนคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ถือได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างพฤติการณ์การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่ว่าด้วยการส่งคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่งผู้ร้องชอบที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวได้ แม้เป็นระยะเวลาภายหลังจากศาลมีคำสั่งแล้ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องยอมรับว่าได้ทราบว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2546 การที่ผู้ร้องเพิ่งมายื่นคำร้องยกข้อคัดค้านเรื่องผิดระเบียบขึ้นกล่าวอ้างเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2546 อันเป็นเวลาเกินกว่า 8 วัน จึงไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share