คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1418/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อ. จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันหนี้ซึ่งโจทก์และ/หรือ อ. มีต่อจำเลย หนี้ของโจทก์และ อ. ที่จำนองเป็นประกันจึงแยกกันเป็นคนละส่วน การที่โจทก์ชำระหนี้ในส่วนของโจทก์ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรวมชำระหนี้ในส่วนของ อ. ด้วย และคงมีผลทำให้ภาระจำนองที่เป็นประกันหนี้ในส่วนของโจทก์ระงับสิ้นไปเท่านั้น แต่ภาระจำนองที่เป็นประกันหนี้ในส่วนของ อ. ยังคงมีอยู่ต่อไปตามสัญญาจำนอง การที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่จำนองมาจาก อ. ไม่ทำให้โจทก์มีความรับผิดในฐานะเป็นผู้จำนอง ฐานะของโจทก์เป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองซึ่งมีสิทธิที่จะไถ่ถอนจำนองที่ยังคงมีภาระเหลืออยู่นั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 และมาตรา 738 ซึ่งหากผู้รับจำนองยอมรับจำนองก็เป็นอันระงับสิ้นไปตามมาตรา 744 (4) เมื่อโจทก์เพียงแต่ชำระหนี้ที่มีต่อจำเลยตามหนังสือรับสภาพหนี้ โดยโจทก์ยังมิได้ไถ่ถอนจำนอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นหนี้จำเลยตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีรวม 3 ฉบับ คือฉบับลงวันที่ 18 มีนาคม2536 ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2536 และฉบับลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2537 ต่อมาวันที่ 31 ตุลาคม 2543 โจทก์ทำสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้กับจำเลยรวม 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2536 ซึ่งโจทก์มีหนี้คงค้างเป็นเงิน 1,002,140.91 บาท ฉบับที่สองเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 18 มีนาคม 2536 และฉบับลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2537 ซึ่งโจทก์มีหนี้คงค้างเป็นเงินรวม 9,251,280.25 บาท เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 ซึ่งโจทก์มีหนี้คงค้างเป็นเงินรวม 9,251,280.25 บาท เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 นายอภิวรรธน์ รัตนมังคละ ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 24323 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 327 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่จำเลยเป็นประกันลำดับสองเพื่อประกันหนี้ซึ่งโจทก์และ/หรือนายอภิวรรธน์มีต่อจำเลย ต่อมานายอภิวรรธน์ขายที่ดินจำนองทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2541 และขายสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2542 โจทก์จึงเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งติดจำนองดังกล่าว ภายหลังที่โจทก์ทำสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้กับจำเลย โจทก์ผ่อนชำระหนี้ให้แก่จำเลยเป็นเงินรวม 10,547,229.94 บาท ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ซึ่งเป็นจำนวนเกินวงเงินจำนอง ภาระจำนองของโจทก์ที่มีต่อจำเลยเป็นอันหมดสิ้นไป แต่จำเลยไม่ยอมไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 24323 ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมาและที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 327 ตำบลด่านเกวียน (ท่าอ่าง) อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมาพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า นายอภิวรรธน์จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องนอกจากเพื่อเป็นประกันหนี้ของโจทก์แล้วยังจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของนายอภิวรรธน์เองที่มีต่อจำเลยอีกด้วย แม้โจทก์ชำระหนี้ของโจทก์ที่มีต่อจำเลยครบถ้วนแล้ว แต่นายอภิวรรธน์ยังเป็นหนี้ค้างชำระแก่จำเลยหลายมูลหนี้ ภาระจำนองจึงยังไม่ระงับโจทก์รับโอนทรัพย์สินที่จำนองโดยทราบดีว่าภาระหนี้สินของนายอภิวรรธน์ยังมิได้ระงับไป การที่โจทก์ขอให้ไถ่ถอนจำนองเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคู่ความตกลงแถลงรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การทุกประการตามคำแถลงฉบับลงวันที่13 มิถุนายน 2546 และไม่ติดใจสืบพยานโดยขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายว่า เมื่อโจทก์ชำระหนี้ของโจทก์ที่มีต่อจำเลยครบถ้วนแล้ว จำเลยมีหน้าที่ต้องไถ่ถอนหลักประกันตามสัญญาจำนองให้แก่โจทก์หรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า เดิมโจทก์ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและเป็นหนี้ค้างชำระแก่จำเลยตามสัญญาดังกล่าวรวม 3 ฉบับ โดยมีนายอภิวรรธน์ รัตนมังคละ จำนองที่ดิน 2 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกันลำดับสอง เพื่อประกันหนี้ซึ่งโจทก์และ/หรือนายอภิวรรธน์มีต่อจำเลยในวงเงิน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ต่อมานายอภิวรรธน์ขายทรัพย์สินที่จำนองดังกล่าวให้แก่โจทก์หลังจากนั้นโจทก์ทำสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยและต่อมาโจทก์ชำระเงิน 10,579,229.94 บาทให้แก่จำเลยครบถ้วนตามสัญญารับสภาพหนี้แล้ว ส่วนนายอภิวรรธน์ยังเป็นหนี้คงค้างแก่จำเลยกว่า 5,000,000 บาทคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์สรุปความได้ว่า การที่นายอภิวรรธน์โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่จำนองมาเป็นของโจทก์ มีผลทำให้โจทก์เป็นผู้จำนองแทนที่นายอภิวรรธน์ และต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันด้วยหลักทรัพย์ต่อจำเลยตามสัญญาจำนองในวงเงินซึ่งกำหนดไว้เพียง 5,000,000 บาท แม้โจทก์กับนายอภิวรรธน์จะเป็นหนี้จำเลยรวมกันเกินกว่า 5,000,000 บาท แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 708 จำเลยไม่อาจบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองเกินวงเงินจำนวนดังกล่าวได้ เมื่อโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่จำเลยเกินกว่าจำนวนเงินดังกล่าวแล้วการจำนองย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 (1) นั้น เห็นว่า นายอภิวรรธน์จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันหนี้ซึ่งโจทก์และ/หรือนายอภิวรรธน์มีต่อจำเลย หนี้ของโจทก์และนายอภิวรรธน์ที่จำนองเป็นประกันจึงแยกกันเป็นคนละส่วน การที่โจทก์ชำระหนี้ในส่วนของโจทก์ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรวมชำระหนี้ในส่วนของนายอภิวรรธน์ด้วย และคงมีผลทำให้ภาระจำนองที่เป็นประกันหนี้ในส่วนของโจทก์ระงับสิ้นไปเท่านั้น แต่ภาระจำนองที่เป็นประกันหนี้ในส่วนของนายอภิวรรธน์ยังคงมีอยู่ต่อไปตามสัญญาจำนอง ทั้งการที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่จำนองมาจากนายอภิวรรธน์นั้น ก็ไม่ทำให้โจทก์มีความรับผิดในฐานะเป็นผู้จำนอง ฐานะของโจทก์เป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง ซึ่งมีสิทธิที่จะไถ่ถอนจำนองที่ยังคงมีภาระเหลืออยู่นั้นได้ โดยต้องเสนอใช้เงินให้แก่ผู้รับจำนองเป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้นตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 736 และมาตรา 738 ซึ่งหากผู้รับจำนองยอมรับจำนองก็เป็นอันระงับสิ้นไปตามมาตรา 744 (4) เมื่อคู่ความรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์เพียงแต่ชำระหนี้ที่มีต่อจำเลยตามหนังสือรับสภาพหนี้ โดยโจทก์ยังมิได้ไถ่ถอนจำนอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในข้ออื่นที่ต่อเนื่องมาจากปัญหาดังกล่าว เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นนี้ 1,500 บาท แทนจำเลย.

Share