แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 นั้นไม่ได้หมายความว่าศาลมีอำนาจเพียงชี้ว่าการประเมินนั้นได้กระทำถูกหรือไม่ถูกเท่านั้น แต่ศาลย่อมมีอำนาจชี้ขาดจำนวนเงินที่ประเมินด้วยได้
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงิน 2,005 บาท 42 สตางค์แต่ศาลให้คืน 1,305 บาท 42 สตางค์นั้นไม่เป็นการตัดสินเกินคำขอ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเคยเรียกเก็บภาษีโรงร้านจากจำเลยปีละ 100 บาท ในปี 2487 จำเลยเรียกให้ชำระ 2,105 บาท 42 สตางค์ เป็นการเกินความจริง และคลาดเคลื่อนจากหลักเกณฑ์จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยคืนเงินที่เกิน 2,005 บาท 42 สตางค์ พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยต่อสู้ว่า เก็บภาษี 2,105 บาท 42 สตางค์ ไม่เกินจากความจริงและไม่คลาดเคลื่อนต่อหลักเกณฑ์
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ที่ดินและโรงเรือนทำเลที่ตั้งของโรงงานค่าของส่วนควบ เห็นควรให้เช่าเดือนละ 1,600 บาท ปีหนึ่ง 19,200 บาท ซึ่งเมื่อคำนวนแล้วควรเป็นค่าภาษี 800 บาท จึงให้จำเลยคืนเงิน 1,305 บาท 42 สตางค์แก่โจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 31 นั้น ไม่ได้หมายความว่าศาลมีอำนาจเพียงชี้ขาดว่าการประเมินนั้นได้ กระทำถูกหรือไม่ถูกเท่านั้น แต่ศาลย่อมมีอำนาจชี้ขาดจำนวนเงินที่ประเมินด้วยได้ และเห็นว่าศาลชั้นต้นประเมินสถานที่ และคำนวณว่าควรเสียภาษีปีละ 800 บาทนี้ ไม่เห็นมีเหตุจะแก้ไข
ส่วนที่โจทก์ขอเงินคืน 2,005 บาท 42 สตางค์ แต่ศาลคืน 1,305 บาท 42 สตางค์ นั้น ไม่เป็นการตัดสินเกินคำขอพิพากษายืน