แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ใช้รถยนต์พาผู้เสียหายไปขู่เอาทรัพย์โดยเป็นแผนการคบคิดกันไม่เพียงแต่ใช้เป็นยานพาหนะแต่อย่างเดียว ต้องริบรถตาม มาตรา 33(1)
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงไม่ถูก เพราะยังมีข้อเท็จจริงอื่นอีกหลายประการ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้เอง
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 ริบรถยนต์ของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้คืนรถยนต์แก่เจ้าของโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาว่าตามข้อเท็จจริงในสำนวนรถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานกรรโชกโดยตรงอันศาลจะมีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ดังฎีกาของโจทก์ได้หรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายและในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน แต่ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่ารถยนต์ของกลางนั้นจำเลยที่ 2 ใช้เป็นพาหนะนำผู้เสียหายทั้งสามไปพบจำเลยที่ 1 กับพวกเพื่อดำเนินการกรรโชกทรัพย์ตามแผนที่วางไว้เท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าการฟังข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวยังไม่ถูกต้อง เพราะยังมีข้อเท็จจริงอื่น ๆ อีกหลายประการที่ปรากฏจากพยานหลักฐานในสำนวน สมควรที่ศาลฎีกาจะได้ฟังข้อเท็จจริงเสียใหม่โดยข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันวางแผนในการกระทำความผิด โดยได้ให้จำเลยที่ 1 กับพวกอีกคนหนึ่งแต่งเครื่องแบบตำรวจไปรออยู่ที่สวนสาธารณะ แล้วให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของกลางพานายวาฮับซึ่งรู้จักผู้เสียหายทั้งสามมาก่อนนั่งไปในรถ เพื่อให้นายวาฮับไปชวนผู้เสียหายทั้งสามนั่งรถยนต์ของกลางไปเที่ยว แล้วจะขับรถพาไปที่สวนสาธารณะซึ่งจำเลยที่ 1 กับพวกรออยู่ เหตุการณ์เป็นไปตามแผนคือจำเลยที่ 2 ขับรถพานายวาฮับนั่งรถไปชวนผู้เสียหายที่โรงแรมหาดใหญ่ไปเที่ยว แล้วจำเลยที่ 2 ขับรถพานายวาฮับกับผู้เสียหายไปถึงหน้าสวนสาธารณะ จำเลยที่ 2 ให้สัญญาณแตร 2 – 3 ครั้ง จำเลยที่ 1 กับพวกอีกคนหนึ่งที่แต่งเครื่องแบบตำรวจซึ่งยืนอยู่แถวนั้นได้โบกมือให้รถหยุด แล้วจำเลยที่ 1ได้อ้างตนว่าเป็นตำรวจสันติบาลของประเทศมาเลเซีย ได้บอกกับผู้เสียหายทั้งสามว่า ได้รับแจ้งว่ารถยนต์คันนี้บรรทุกฝิ่นและสิ่งผิดกฎหมายขอทำการตรวจค้น แล้วหยิบกระเป๋าใส่เอกสารสีแดงใบหนึ่งออกมาจากที่วางของหน้ารถเปิดดูพบธนบัตรมาเลเซียอยู่ในกระเป๋า จึงกล่าวหาว่าธนบัตรเหล่านั้นเป็นธนบัตรปลอม และผู้เสียหายนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ขอเชิญผู้เสียหายไปสถานีตำรวจ ถ้าจะไม่ให้ถูกจับก็จะต้องให้เงินที่มีอยู่ติดตัว แล้วค้นเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งสามไปรวม 1,080เหรียญมาเลเซีย เสร็จแล้วไล่พวกผู้เสียหายลงจากรถ และขับรถหนีไป ศาลฎีกาจึงเห็นว่าจำเลยได้วางแผนใช้รถยนต์คันของกลางเป็นยานพาหนะนำนายวาฮับไปล่อลวงผู้เสียหายทั้งสามให้ขึ้นรถไปกับจำเลย แล้วพาผู้เสียหายไปยังจุดที่นัดหมาย พอถึงก็ใช้สัญญาณแตรรถบอกให้พวกจำเลยเข้ามาโบกมือให้รถหยุดแล้วกล่าวว่ารถคันของกลางได้บรรทุกฝิ่นและสิ่งผิดกฎหมายมาขอทำการตรวจค้นหยิบกระเป๋าใส่เอกสารในรถออกมาเปิดเห็นธนบัตรมาเลเซีย ได้อ้างว่าธนบัตรนั้นเป็นธนบัตรปลอม และอ้างว่าผู้เสียหายนำมากับรถ แล้วขู่เข็ญข่มขืนใจให้ผู้เสียหายยอมให้เอาเงินมาเลเซียที่ติดตัวไปในขณะที่ผู้เสียหายก็ยังอยู่ในรถ จนกระทั่งได้ทรัพย์สินต่าง ๆ ไปแล้วจึงได้ไล่ผู้เสียหายลงจากรถแล้วพากันขับรถหนีไปจึงเห็นได้ว่าจำเลยกับพวกได้ใช้รถของกลางในการกระทำผิดมาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งเสร็จสิ้นการกระทำผิด รถยนต์คันของกลางจึงมิได้ใช้ให้เป็นแต่เพียงยานพาหนะแต่อย่างเดียวดังข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ แต่เห็นได้ว่าได้ใช้ในเรื่องของการกรรโชกโดยตรง ดังพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงต้องริบรถยนต์ของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)”
พิพากษาแก้ ให้ริบรถยนต์ของกลาง