คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5750/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2533 เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2547 ดังนั้น ขณะกระทำความผิดจำเลยคงมีอายุเพียง 13 ปีเศษ เท่านั้น หาใช่ 14 ปีเศษ ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 74 การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนและลดมาตราส่วนโทษตาม ป.อ. มาตรา 75 แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104 (2) จึงเป็นการไม่ชอบ
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 357 ลงโทษจำคุกแต่ได้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยส่งตัวไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา มีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 1 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา กรณีเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104 (2) แทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงต้องห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 124 ประกอบมาตรา 6 และ ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้จับกุมซึ่งสอบถามแล้วได้ความว่าจำเลยจะนำรถจักรยานยนต์ไปขับเล่นประกอบกับพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่ปรากฏว่าจำเลยช่วยซ่อนเร้น จำหน่าย พาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ด้วยประการใด ซึ่งรถจักรยานยนต์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 357
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 (ที่ถูก มาตรา 357 วรรคแรก) ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 14 ปีเศษลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 1 ปี เมื่อได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม ทั้งสภาพของความผิด ประกอบรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมาแล้ว เห็นว่า หากได้รับการอบรมขัดเกลานิสัย ความประพฤติน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยยิ่งกว่าจะให้รับโทษจำคุก เพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของจำเลยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมามีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 1 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา ทั้งนี้ให้จำเลยอบรมวิชาชีพอย่างน้อย 1 วิชาชีพ ยกฟ้องจำเลยข้อหาลักทรัพย์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอายุของจำเลยผิดไปจากสำนวนหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2533 เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2547 ดังนั้น ขณะกระทำความผิดจำเลยคงมีอายุเพียง 13 ปีเศษ เท่านั้นหาใช่ 14 ปีเศษ ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนและลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลล่างทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (3) (ก) ประกอบด้วยมาตรา 247 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ว่าในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 74 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่เนื่องจากเป็นกรณีที่ทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกันต่างแต่เพียงกำหนดอายุของจำเลย และจำนวนเงินที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองต้องชำระต่อศาล หากเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำผิดบังคับแก่จำเลย ปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกามา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เสียใหม่ให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า จำเลยมีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ลงโทษจำคุกแต่ได้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครราชสีมา มีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 1 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา กรณีเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) แทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงต้องห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 124 ประกอบมาตรา 6 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่าจากคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้จับกุมซึ่งสอบถามจำเลยแล้วได้ความว่าจำเลยจะนำรถจักรยานยนต์ไปขับเล่นประกอบกับพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา ไม่ปรากฏว่าจำเลยช่วยซ่อนเร้น จำหน่าย พาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งรถจักรยานยนต์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ปรากฏตามรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา ปรากฏว่า ขณะจำเลยกระทำความผิดอยู่ในระหว่างปิดเทอมและไปฝึกหัดซ่อมรถจักรยานยนต์ จำเลยจึงอาจจะกระทำความผิดไปด้วยความคึกคะนองตามประสาวัยรุ่น ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน นิสัยและความประพฤติโดยทั่วไปไม่ปรากฏข้อเสียหายที่ร้ายแรงอีกทั้งยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาที่ 2 โรงเรียนราชสีมา 2 และนายทองคูณ ปู่ของจำเลยเป็นผู้ประกันตัวจำเลยตั้งแต่ศาลชั้นต้นตลอดมาจนถึงศาลฎีกา แสดงให้เห็นว่าบุคคลที่ใกล้ชิดยังมีความห่วงใยในตัวจำเลย หากให้โอกาสแก่จำเลยกลับไปอยู่ในความดูแลของบิดามารดาและศึกษาเล่าเรียนยังโรงเรียนในสังคมเช่นเดิมตามปกติน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมยิ่งกว่าส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 3 จังหวัดนครราชสีมา”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 13 ปีเศษ จำเลยไม่ต้องรับโทษ ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นว่ากล่าวตักเตือนจำเลยให้ประพฤติตนเป็นพลเมืองดีและมิให้ก่อเหตุร้ายใดๆ ขึ้นอีก ให้มอบตัวจำเลยแก่บิดามารดาและให้บิดามารดาคอยควบคุมดูแลจำเลยมิให้ก่อเหตุร้ายใดๆ ขึ้นภายในเวลา 1 ปี หากจำเลยก่อเหตุร้ายขึ้นให้บิดาหรือมารดาชำระเงินต่อศาลชั้นต้นครั้งละ 500 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (2) เดิม นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share