คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3127/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าเมื่อผู้ใดมีลำไยสดอยู่ในความครอบครองไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของญาติพี่น้อง แม้จะไม่มีพื้นที่ปลูกลำไยเป็นของตนเองก็สามารถเข้าร่วมโครงการรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรตามนโยบายของรัฐได้ จำเลยกระทำความผิดไปเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งเมื่อถูกดำเนินคดีก็ให้การรับสารภาพมาโดยตลอด อันแสดงว่าจำเลยรู้สำนักในความผิดแห่งตน และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยเคยทำคุณงามความดี ทั้งเมื่อคำนึงถึงโทษจำคุกที่ได้รับเพียง 2 เดือน การให้จำเลยรับโทษจำคุกไปเสียเลย ย่อมไม่เป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวม สมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกซึ่งได้แยกดำเนินคดีต่างหากร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมายผู้มีหน้าที่รับแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ปี 2547 ว่าจำเลยมีพื้นที่ปลูกลำไยให้ผลผลิตแล้วจำนวน 14 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 944 กิโลกรัมต่อไร่ รวมผลผลิตทั้งสิ้น 13,216 กิโลกรัม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 137, 267
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในประการแรกว่าจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในทำนองว่าจำเลยมิได้มีเจตนากระทำความผิด และการกระทำของจำเลยมิได้ทำให้นางจรัสศรีและรัฐได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลฎีการับวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวนั้น เห็นว่า ข้อที่จำเลยยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์ซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่รับว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ชอบแล้ว และเมื่อจำเลยยกปัญหาข้อเท็จจริงนี้ขึ้นโต้แย้งในชั้นฎีกาอีก จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นเดียวกัน
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามฎีกาของจำเลยซึ่งโจทก์ไม่ได้แก้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าเมื่อผู้ใดมีลำไยสดอยู่ในความครอบครองไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของญาติพี่น้อง แม้จะไม่มีพื้นที่ปลูกลำไยเป็นของตนเองก็สามารถเข้าร่วมโครงการรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรตามนโยบายของรัฐได้ จำเลยกระทำความผิดไปเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งเมื่อถูกดำเนินคดีจำเลยให้การรับสารภาพมาโดยตลอด อันแสดงว่าจำเลยรู้สำนึกในความผิดแห่งตนและไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยมีเอกสารประกอบท้ายฎีกาว่า จำเลยเคยได้กระทำคุณงามความดีโดยเข้าร่วมทำงานเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยรับการฝึกอบรมไทยอาสาป้องกันชาติของจังหวัดลำพูน เป็นทหารกองประจำการเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรโครงการกองหนุนเพื่อความมั่นคงของชาติ ฝึกอบรมหลักสูตรแจ้งข่าวอาชญากรรมของสถานีตำรวจภูธรอำเภอทุ่งหัวช้าง หลักสูตรการฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กระทรวงมหาดไทย หลักสูตรราษฎรอาสาสมัครตำรวจชุมชนรุ่นที่ 1 ของตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน และเป็นผู้ประสานพลังแผ่นดินของศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ เมื่อคำนึงถึงโทษจำคุกที่จำเลยได้รับเพียง 2 เดือน ซึ่งมีระยะเวลาอันสั้นแล้ว การให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกไปเสียเลยนั้น ย่อมไม่เป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวม ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีด้วยการรอการลงโทษให้จำเลย แต่เพื่อให้จำเลยรู้สึกหลาบจำจึงเห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติของจำเลยด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share