คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3925/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิมอบอำนาจให้ทนายความทำหนังสือแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านพิพาท และตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทระหว่าง พ.กับจำเลยระบุว่า คู่สัญญาจะต้องไปจดทะเบียนซื้อขายที่ดินในวันที่ 19 สิงหาคม 2535 เมื่อถึงกำหนดนัด พ.ไม่ไปตามนัดจึงเป็นฝ่ายผิดนัด คำให้การดังกล่าวเป็นการปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดนัด ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ จึงเป็นการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่มิได้ผิดจากข้อเท็จจริงในสำนวน
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทตรงประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การ แม้จะไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทตามที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยไม่ได้คัดค้านภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นสั่งกำหนดประเด็น ตามป.วิ.พ.มาตรา 183 วรรคสี่ ถือว่าจำเลยสละประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวแล้ว
ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสัญญาระหว่าง พ.กับจำเลย กำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 19 สิงหาคม 2535 พ.ถึงแก่ความตายก่อนวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ดังนั้น สิทธิการรับโอนกรรมสิทธิ์และหน้าที่การชำระเงินที่เหลือของที่ดินและบ้านพิพาทตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวย่อมเป็นกองมรดกของ พ.ผู้ตาย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1600 การเรียกร้องสิทธิของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกต้องบังคับต่อทายาทหรือผู้จัดการมรดก การที่จำเลยมีหนังสือนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทแจ้งให้ พ.ไปดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามสัญญาหลังจาก พ.ถึงแก่ความตายแล้ว จึงย่อมไม่มีผลบังคับสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทจึงยังมีผลผูกพันกันอยู่ระหว่างจำเลยกับทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
แม้โจทก์จะไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลย แต่โจทก์ก็ดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยในฐานะคู่สัญญากับ พ.ปฏิบัติตามสัญญาได้

Share