คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7515/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะประเมินราคาที่ดินพิพาทขณะยึดเพียง 404,000 บาท และผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ให้ราคาสูงสุด430,000 บาท ก็ตาม แต่ก่อนมีการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือสอบถามราคาที่ดินพิพาทไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือตอบมาว่า ที่ดินพิพาทราคา 808,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินและสูงกว่าราคาที่ผู้ซื้อทรัพย์ประมูลเกือบเท่าตัวประกอบกับการขายทอดตลาดครั้งนี้เป็นการขายครั้งแรกและจำเลยที่ 1 ไม่ได้มาระวังการขายเนื่องจากไม่ทราบวันขายทอดตลาด ทั้งค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในขณะนั้นมีเพียง 100,000 บาทเศษเท่านั้น พฤติการณ์ในการขายทอดตลาดดังกล่าวมีลักษณะเป็นการรวบรัดและกดราคา จึงเป็นการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทที่ไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินและโรงเรือนพิพาทกับให้ใช้ค่าเสียหาย คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินและโรงเรือนพิพาทและให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 50 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกจากที่ดินและโรงเรือนพิพาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าเสียหาย โจทก์ขอให้บังคับคดีและเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2534 โจทก์นำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1678 ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่เนื้อที่ 2 ไร่ 8 ตารางวา ของจำเลยที่ 1 เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ค่าเสียหาย ศาลอนุญาตให้ประกาศขายทอดตลาดได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 18มิถุนายน 2535 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวโดยนายเนติ ตันติมนตรี ผู้ซื้อทรัพย์ เป็นผู้เสนอซื้อราคาสูงสุดเป็นเงิน 430,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีได้เคาะไม้ขายให้ผู้ซื้อทรัพย์ในราคาดังกล่าว ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม 2535จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินและนำออกขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 18มิถุนายน 2535 และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อนุญาตให้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวราคา 430,000 บาท เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2535การดำเนินการบังคับคดีก่อนหน้านี้จำเลยที่ 1 ไม่ทราบเพราะเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เคยแจ้งเรื่องการนำยึดที่ดินและการประกาศขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบเลยทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย ทั้งการขายก็ต่ำกว่าราคาท้องตลาด ปัจจุบันที่ดินแปลงดังกล่าวมีราคาไม่ต่ำกว่า2,000,000 บาท เป็นการขายที่ไม่ชอบ ขอให้สั่งให้ยกเลิกการขายทอดตลาด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การขายทอดตลาดครั้งนี้ไม่ชอบมีคำสั่งให้ยกเลิกการขาย
ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกเลิกการขายทอดตลาดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายใหม่
ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า เมื่อวันที่ 24ธันวาคม 2534 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการยึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับตามคำพิพากษาโดยประเมินราคาที่ดินพิพาทขณะยึด404,000 บาท แต่เจ้าพนักงานที่ดินได้ประเมินราคาไว้ 808,000 บาทและได้ประกาศขายทอดตลาดในวันที่ 18 มิถุนายน 2535 ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ให้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 430,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้ขายแก่ผู้ซื้อทรัพย์ ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทชอบหรือไม่ เห็นว่าแม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะประเมินราคาที่ดินพิพาทขณะยึดเพียง 404,000 บาท และผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ให้ราคาสูงสุด 430,000 บาท ก็ตาม แต่ก่อนมีการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือสอบถามราคาที่ดินพิพาทไปยังเจ้าพนักงานที่ดินตามหนังสือที่ ยธ 0312/477 ลงวันที่ 21 มกราคม2535 ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้มีหนังสือตอบมาตามหนังสือที่ ชม 0020/670 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 ว่าที่ดินพิพาทราคา 808,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินและสูงกว่าราคาที่ผู้ซื้อทรัพย์ประมูลเกือบเท่าตัวเชื่อได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทราบราคาที่ดินพิพาทตามที่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้ง ประกอบกับการขายทอดตลาดครั้งนี้เป็นการขายครั้งแรก และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มาระวังการขายเนื่องจากไม่ทราบวันขายทอดตลาดที่ดินพิพาทดังที่วินิจฉัยข้างต้น ทั้งค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในขณะนั้นเพียง 100,000 บาทเศษเท่านั้น พฤติการณ์ในการขายทอดตลาดดังกล่าวมีลักษณะเป็นการรวบรัดและกดราคาจึงเป็นการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทที่ไม่ชอบ ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขาย

Share