คำวินิจฉัยที่ 21/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดียื่นขอรังวัดสอบเขตต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่เนื่องจากเทศบาล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ก่อสร้างขยายถนนสาธารณะจากขนาด ๒ ช่องจราจรเป็น ๔ ช่องจราจร ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นเหตุให้หลักเขตและเนื้อที่ดินหายไปอยู่บนทางเท้าคอนกรีตบางส่วนไม่สามารถรังวัดได้ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนที่ดิน หากคืนไม่ได้ให้ใช้เงิน เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ก่อสร้างขยายถนนสาธารณะเป็นเหตุให้เนื้อที่ดินในโฉนดของผู้ฟ้องคดีหายไปบางส่วนก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณะเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๑/๒๕๕๙

วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๙
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนนทบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๖ นายบรรยง จูฑาธิปัตย์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องเทศบาลเมืองบางศรีเมือง ที่ ๑ สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี ที่ ๒ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นนทบุรี ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๓๑/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๒๘๐ ตำบลบางศรีเมือง อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ก่อสร้างขยายถนนสาธารณะผ่านบริเวณหน้าที่ดินดังกล่าวจากขนาด ๒ ช่องจราจรเป็น ๔ ช่องจราจร ผู้ฟ้องคดีจะขายที่ดินจึงได้ยื่นขอรังวัดสอบเขตต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำการรังวัดได้เนื่องจากหลักเขตหายไป เมื่อทำการรังวัดครั้งที่สามเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเนื้อที่ดินหายไปบางส่วน โดยส่วนที่หายไปอยู่บนเขตทางเท้าคอนกรีตทำให้รังวัดไม่ได้ ผู้ฟ้องคดีและผู้แทนนายกเทศมนตรีเมืองบางศรีเมืองได้คัดค้านแนวเขต นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ขอให้พิจารณาทบทวนราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินพิพาท เนื่องจากที่ดินดังกล่าวได้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคขยายถนนเป็น ๔ ช่องจราจร อยู่ใกล้ทางขึ้นลงสะพานนนทบุรี รวมถึงมีสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่มีการปรับราคาประเมินจากเดิมตารางวาละ ๒๖,๗๐๐ บาท เป็นตารางวาละ ๒๗,๐๐๐ บาท ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งว่าคณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์มีมติเห็นชอบยืนราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินแปลงพิพาท ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมซึ่งที่ดินของญาติผู้ฟ้องคดีเดิมเป็นที่ดินผืนเดียวกันตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีก่อนที่จะมีการก่อสร้างถนนตัดผ่านราคาประเมินเพิ่มขึ้นอีก ๖,๙๐๐ บาท และที่ดินของบุตรชายผู้ฟ้องคดีราคาประเมินเพิ่มขึ้น ๒,๐๐๐ บาท ทั้งที่ที่ดินตั้งอยู่ด้านหลังต่อจากที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนที่ดิน หากคืนไม่ได้ให้ใช้เงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกใบรังวัดที่ดินที่หายไปและออกแผนที่ใหม่และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จัดทำราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินที่พิพาทใหม่ให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากคำฟ้องในประเด็นที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนที่ดิน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกใบรังวัดใหม่ ผู้ฟ้องคดียังไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายและคำฟ้องในประเด็นที่ขอให้ประเมินทุนทรัพย์ใหม่เป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นระยะเวลาการฟ้องคดี
ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์
ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้รับฟ้องเฉพาะในประเด็นที่ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนที่ดินหรือหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเพราะเห็นว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ที่สาธารณะที่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีเดิมเป็นถนน ๒ ช่องจราจร มีความกว้างของเขตทางจากจุดกึ่งกลางถนน ซ้าย ๑๐ เมตร ขวา ๑๐ เมตร กรมทางหลวงได้ส่งมอบให้อยู่ในความดูแลของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ต่อมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ได้ทำการก่อสร้างขยายเป็นถนนคอนกรีต ๔ ช่องจราจร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ตรวจสอบแนวเขตที่สาธารณะโดยวัดจากกึ่งกลางถนนถึงแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีตลอดแนว ปรากฏว่าถนนที่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีมีความกว้างเพียง ๙.๖๕ เมตร ซึ่งอยู่ในแนวเขตของทาง ๑๐ เมตร ตามที่กรมทางหลวงได้ส่งมอบให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ การขยายทางดังกล่าวมิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และกรมที่ดินต่อศาลจังหวัดนนทบุรีเป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. ๘๓/๒๕๕๗ หมายเลขแดงที่ พ. ๘๑๑/๒๕๕๗ เรื่องละเมิดเรียกค่าเสียหายโดยศาลพิพากษาให้ยกฟ้องเพราะเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าการที่โจทก์ไม่สามารถรังวัดที่ดินพิพาทได้จำเลยทั้งสองได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหายอย่างไร เท่ากับโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๒๘๐ และประสงค์จะทำการซื้อขายที่ดินดังกล่าว ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ก่อสร้างขยายถนนสาธารณะผ่านหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีจาก ๒ ช่องจราจรเป็น ๔ ช่องจราจร ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นคำขอรังวัดสอบเขต ผลการรังวัดที่ดินด้านติดถนนสายสามแยก – ท่าน้ำนนท์ ปรากฏว่าหลักเขตและเนื้อที่ดินของผู้ฟ้องคดีหายไปโดยส่วนที่หายไปอยู่บนทางเท้าคอนกรีต ผู้แทนผู้ฟ้องคดีและผู้แทนนายกเทศมนตรีเมืองบางศรีเมืองในฐานะผู้ดูแลถนนสายสามแยก – ท่าน้ำนนท์ คัดค้านแนวเขต จนถึงขณะยื่นฟ้องคดีนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เข้ามาดำเนินการตรวจสอบหรือแก้ไขความเดือดร้อนของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องคดีต่อศาลขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนที่ดินหรือหากคืนไม่ได้ให้ใช้เงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะผู้ดูแลถนนสายสามแยก – ท่าน้ำนนท์ ได้ก่อสร้างขยายถนนสาธารณะรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ทำให้ในขณะรังวัดสอบเขตปรากฏว่าหลักเขตและเนื้อที่ดินหายไปบางส่วน โดยส่วนที่หายไปอยู่บนทางเท้าคอนกรีต ของถนนดังกล่าว จึงฟ้องคดีต่อศาลขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนที่ดินหรือหากคืนไม่ได้ให้ใช้เงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงมิใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนกรณีที่คดีนี้อาจมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์นั้น เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นประเด็นย่อยประเด็นหนึ่งของประเด็นพิพาทหลักที่ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความว่าการดำเนินงานก่อสร้างถนนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และแม้การพิจารณาในเรื่องสิทธิในที่ดินในคดีนี้จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินอันเป็นกฎหมายทั่วไป แต่ก็มิได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามมิให้ศาลปกครองนำบทกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี หรือกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลหนึ่งศาลใดโดยเฉพาะที่จะนำบทกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ประกอบกับตามมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินใด ๆ คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นการยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นกัน คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดียื่นขอรังวัดที่ดินของตนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และเจ้าหน้าที่รังวัดแจ้งว่าเนื้อที่ดินของผู้ฟ้องคดีหายไปบางส่วนและส่วนที่หายไปเป็นบริเวณที่อยู่ในส่วนทางเท้าคอนกรีต ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก่อสร้างขยายถนนซึ่งติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีจากเดิม ๒ ช่องจราจร เป็น ๔ ช่องจราจร จึงขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนที่ดินหรือชดใช้เงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวหาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่า ก่อสร้างขยายถนนและทางเท้าคอนกรีตรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การต่อสู้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก่อสร้างขยายถนนอยู่ในแนวเขตทางสาธารณะอันเป็นสมบัติของแผ่นดินมิได้ก่อสร้างรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด ประเด็นปัญหาที่สำคัญและเป็นประเด็นหลักจึงต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีใช้ก่อสร้างขยายถนนและทางเท้าคอนกรีตนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นแนวเขตทางซึ่งเป็นที่สาธารณะอันเป็นสมบัติของแผ่นดิน หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดหรือไม่ จึงเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินว่าเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณะเป็นสำคัญ หาได้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) เป็นสำคัญแต่อย่างใด จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดให้รับฟ้องเฉพาะในประเด็นว่า ผู้ฟ้องคดีจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๒๘๐ ตำบลบางศรีเมือง อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี จึงได้ยื่นขอรังวัดสอบเขตต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ปรากฏว่าหลักเขตหายไปและเนื้อที่ดินหายไปอยู่บนเขตทางเท้าคอนกรีตบางส่วนทำให้รังวัดไม่ได้เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ก่อสร้างขยายถนนสาธารณะจากขนาด ๒ ช่องจราจรเป็น ๔ ช่องจราจร ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนที่ดิน หากคืนไม่ได้ให้ใช้เงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนข้อหาอื่นไม่รับฟ้องและ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ที่สาธารณะที่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีเดิมเป็นถนน ๒ ช่องจราจร กรมทางหลวงได้ส่งมอบให้อยู่ในความดูแลของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เมื่อทำการก่อสร้างขยายเป็นถนนคอนกรีต ๔ ช่องจราจร ได้ตรวจสอบแนวเขตที่สาธารณะโดยวัดจากกึ่งกลางถนนถึงแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีตลอดแนว ปรากฏว่าถนนที่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีมีความกว้างเพียง ๙.๖๕ เมตร ซึ่งอยู่ในแนวเขตของทาง ๑๐ เมตร ตามที่กรมทางหลวงได้ส่งมอบให้ การขยายทางดังกล่าวมิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ก่อสร้างขยายถนนสาธารณะเป็นเหตุให้เนื้อที่ดินในโฉนดของผู้ฟ้องคดีหายไปบางส่วนก็ตาม แต่คดีนี้ผู้ฟ้องคดีขอให้รับรองคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่พิพาทของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายบรรยง จูฑาธิปัตย์ ผู้ฟ้องคดี เทศบาลเมืองบางศรีเมือง ที่ ๑ สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี ที่ ๒ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นนทบุรี ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share