แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒/๒๕๔๔
วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๕
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒ และ ๙ วรรคหนึ่ง(๑)
ศาลจังหวัดน่าน
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดน่านได้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง(๓) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้อง และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
นายอำนาจหรือพิเชษฐ์ ศรีเพชราวุธ โดยนายศรีสุวรรณ ฟ้าสะท้อน ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทย์ยื่นฟ้องนายประมวล สถิตเสถียร เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดน่าน จำเลยที่ ๑ นายนิพนธ์ ขันธปราบ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน จำเลยที่ ๒ จังหวัดน่าน โดยร้อยตำรวจตรีธนะพงษ์ จักกะพาก ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน จำเลยที่ ๓ ต่อศาลจังหวัดน่าน อ้างว่า โจทย์เป็นเจ้าของที่ดินตามใบจอง (น.ส.๒) เลขที่ ๕๑๗ หมู่ที่ ๔ ตำบลไชยสถาน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน โดยซื้อและรับมอบการครอบครองมาจากนางจินตนา เมษารักษ์ภิญโญ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๗ ซึ่งซื้อและรับมอบการครอบครองมาจากนายศรีวรรณ ฟ้าสะท้อน ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินในใบจองอีกต่อหนึ่ง เมื่อวันที่ ๓๑มกราคม ๒๕๓๓ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๑ จำเลยที่ ๑ ได้แจ้งโจทย์และนายศรีวรรณส่งมอบหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินใบจอง (น.ส. ๒) เลขที่ ๕๑๗ คืนและแจ้งว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๐๗ การออกใบจองดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทย์โต้แย้งและทำหนังสือชี้แจงจำเลยที่ ๑ แล้ว แต่จำเลยที่ ๑ ได้ออกคำสั่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดน่าน ที่ ๑๓/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๐๗ เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในใบจอง(น.ส. ๒) เลขที่ ๕๑๗ ของโจทย์ และแจ้งไปยังนายศรีวรรณทราบ ต่อมาจำเลยที่ ๒ ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทย์ทราบว่าที่ดินที่โจทย์ถือครองอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้โจทย์รื้อถอนอุปกรณ์และสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินซึ่งเป็นพื้นที่ราชการ การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทย์เสียหาย ขอให้ศาลจังหวัดน่านพิพากษายกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดน่าน ที่ ๑๓/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๒ และสั่งว่าที่ดินตามใบจอง (น.ส. ๒) เลขที่ ๕๑๗ ของโจทย์ไม่ได้อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทย์
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดีและอ้างว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองหรือคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลใช้บังคับ แต่ยังไม่มีการประกาศเปิดทำการศาลปกครอง บุคคลสามารถฟ้องคดีปกครองต่อศาลอื่นได้หรือไม่
คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา๒๗๑ บัญญัติว่า “ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงเว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่อำนาจของศาลอื่น ” ส่วนมาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ” ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย. ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ “ทั้งสองมาตรานี้เป็นบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจของศาลยุติธรรมและศาลปกครองที่แตกต่างกัน กล่าวคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจทั่วไปในการพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนดไม่ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ส่วนศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเฉพาะประเภทตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดเท่านั้น ศาลยุติธรรมที่มีอำนาจทั่วไปจึงมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีที่ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลหนึ่งศาลใดโดยเฉพาะ
คดีนี้โจทย์ฟ้องขอให้ยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดน่านที่ได้สั่งเพิกถอนใบจอง (น.ส.๒) หมู่ที่ ๔ ตำบลไชยสถาน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีลักษณะเป็นคดีปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งลงประกาศราชกิจจานุเบกษาในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๒ และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ อันเป็นวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โจทย์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดน่านในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ หลังจากที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลบังคับใช้แล้ว แต่ศาลปกครองเปิดทำการเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔ ขณะนั้นจึงยังไม่มีศาลปกครองที่มีเขตอำนาจเหนือคดีปกครอง ศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจในการรับคดีปกครองดังกล่าวไว้พิจารณาพิพากษาได้
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีปกครองที่เกิดขึ้นภายหลังพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลใช้บังคับ แต่ศาลปกครองยังไม่เปิดทำการ อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ศาลจังหวัดน่านจึงมีเขตอำนาจเหนือคดีนี้และต้องรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
นายธวัชชัย พิทักษ์พล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
สำเนาถูกต้อง
วลัยมาศ แก้วศรชัย
(นางสาววลัยมาศ แก้วศรชัย)
นิติกร ๔
๒