แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓/๒๕๕๐
วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๐
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วย การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๔๕ ศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ๑๘๗๑/๒๕๔๕ ระหว่าง นางเล็ก กาฬภักดี ผู้ฟ้องคดี นายกเทศมนตรีตำบลเขาพระ ที่ ๑ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ความว่า ผู้ฟ้องคดี เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๑๕๔๖ ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมอาคารพักอาศัย ๒ ชั้น เลขที่ ๙๒๙ อาคารดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างอาคารตามใบอนุญาตเลขที่ ๒๙/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๒ โดยหลักฐานโฉนดที่ดินตามที่ยื่นขออนุญาตนั้นมีพื้นที่เต็ม ๔๓ ตารางวา และใช้เนื้อที่ในการก่อสร้าง ๔๒.๘ ตารางวา ต่อมา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินปรากฏว่า การรังวัดสอบเขตที่ดินคลาดเคลื่อน เนื้อที่ที่ดินขาดหายไป ๑ ตารางวา ทำให้อาคารที่ก่อสร้างตามแบบแปลนเดิมไม่ตรงกัน โดยมีส่วนของอาคารคือเสาโชว์ และแท่นวางเสาโชว์หน้าอาคารชั้นสองแถบตะวันออกเหลื่อมล้ำกับหลักหมุด และจุดที่เหลื่อมล้ำกันนั้นไม่ใช่ที่ดินสาธารณะ แต่เป็นส่วนของที่ดิน ๔๓ ตารางวา ของผู้ฟ้องคดีที่มีอยู่ก่อนรังวัดสอบเขตที่ดิน ผู้ฟ้องคดีสอบถามเจ้าพนักงานที่ดินทราบว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิจะขอแก้ไขรูปแผนที่ให้ตรงกับที่ครอบครองก่อสร้างอาคารภายหลังได้ โดยต้องยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินและนำชี้แนวเขตที่ดินใหม่อีกครั้ง แต่ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กลับใช้อำนาจตามมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ออกคำสั่งเลขที่ ๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๕ สั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนส่วนที่เหลื่อมล้ำดังกล่าว และให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตดัดแปลงอาคารตามแบบ ข ๑ ภายใน ๓๕ วัน หลังจากดำเนินการรื้อถอนแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งดังกล่าวโดยไม่สอบถามหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงและโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้ชัดเจนเสียก่อน และเมื่อผู้ฟ้องคดีขอรังวัดเพื่อพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๕ พร้อมยื่นอุทธรณ์คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หรือรอการวินิจฉัยไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติในเรื่องแนวเขตที่ดินดังกล่าว ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการขอแก้ไขแนวเขตที่ดินให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายที่ดินแล้วจนได้รูปแผนที่ตรงตามแผนผังที่ก่อสร้างอาคารโดยมิให้หลักหมุดหรือแนวเขตที่ดินอยู่เหลื่อมล้ำเสาโชว์ และแท่นวางเสาหน้าอาคาร แต่เจ้าพนักงานที่ดินยังแก้ไขรูปแผนที่ให้ไม่ได้ เพราะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คัดค้านการนำชี้รังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี แทนที่จะเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นผู้คัดค้าน ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๘๕/๒๕๔๕ เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รับรองแนวเขตตามที่ผู้ฟ้องคดีนำชี้ หลังจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือที่ สพ ๐๐๒๓/๑๕๕๖๘ ลงวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๕ แจ้งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีโดยให้เหตุผลว่า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีได้มีการไกล่เกลี่ยกรณีที่ดินพิพาท ตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว ไม่สามารถตกลงแนวเขตกันได้ โดยไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานแต่อย่างใด ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๕ เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๕ มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนแผนผังที่ขออนุญาตและมีบางส่วนรุกล้ำทางสาธารณะ คำสั่งเลขที่ ๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๕ ให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขและให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตดัดแปลงอาคารออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่ดินของผู้ฟ้องคดีเดิมมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เนื้อที่ ๔๓ ตารางวา และเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินโดยการเดินสำรวจทั้งตำบล ที่ดินดังกล่าวจึงอาจคลาดเคลื่อนได้ เมื่อมีการรังวัดสอบเขตที่ดินโดยละเอียดจึงมีเนื้อที่เพียง ๔๒ ตารางวา และมีความชัดเจนในส่วนของทางสาธารณะ และผู้ฟ้องคดียินยอมให้แก้ไขเนื้อที่ดินในโฉนดตามที่รังวัดได้ จึงเป็นการยอมรับว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีมีเนื้อที่ ๔๒ ตารางวา
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ ๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๕ ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี โดยเห็นว่า ผู้ฟ้องคดียอมรับแนวเขตที่ดินโดยผู้ฟ้องคดีและเจ้าของที่ดินข้างเคียงเป็นผู้นำชี้ยืนยันแนวเขตโดยสมัครใจ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ที่ดินได้ทำการรังวัดแก้ไขแผนที่เนื้อที่ให้ตรงกับการนำชี้รังวัด และตรงตามสภาพความเป็นจริงแล้ว และการรังวัดดังกล่าวไม่ใช่การสมยอมเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีไม่อาจโต้แย้งว่าที่ดินดังกล่าวยื่นล้ำแนวหลักเขตหมายเลข ณ ๑ – ๕๔๒๒ เพื่อเป็นเหตุให้อาคารของผู้ฟ้องคดีปลูกสร้างไม่รุกล้ำทางสาธารณะได้ การใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๒ เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเห็นว่าอาคารของผู้ฟ้องคดีก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนแผนผังที่ได้รับอนุญาต เป็นการฝ่าฝืน มาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่เป็นกรณีที่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีอำนาจสั่งให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขได้ตามมาตรา ๔๑ และเฉพาะในส่วนที่รุกล้ำที่สาธารณะเป็นกรณีไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนส่วนที่รุกล้ำได้ ตามมาตรา ๔๒ โดยการออกคำสั่งดังกล่าวไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามลำดับตามที่ผู้ฟ้องคดีเข้าใจแต่อย่างใด การยกอุทธรณ์จึงเป็นไปโดยชอบ
ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้ก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนและแผนผังบริเวณที่ได้รับอนุญาตโดยไม่ได้รับยกเว้นที่จะไม่ต้องขออนุญาต แต่เป็นกรณีที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเลขที่ ๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๕ สั่งให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารที่ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนและแผนผังบริเวณที่ได้รับอนุญาต และให้รื้ออาคารส่วนที่ยื่นล้ำที่สาธารณะ รวมทั้งให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตดัดแปลงอาคาร จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ นั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รับฟังข้อเท็จจริงจากคำอุทธรณ์และพยานหลักฐานต่าง ๆ ทั้งของผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี ถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาอุทธรณ์โดยรับฟังความทุกฝ่ายและเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องแล้ว รวมทั้งมีเหตุผลในการวินิจฉัยครบถ้วนทุกประเด็นตามที่คู่กรณียกขึ้นอ้างแล้ว คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง โดยเห็นว่า การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคารชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จะต้องวินิจฉัยก่อนว่าที่ดินบริเวณที่พิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณะ ประเด็นหลักของคดีนี้ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณะหรือเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองโดยชอบ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม การที่ศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยว่า คำชี้แจงของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรี สาขาเดิมบางนางบวช ถือได้ว่ามีข้อเท็จจริงและเหตุผลที่น่ารับฟังกว่าผู้ฟ้องคดี ประกอบกับศาลจังหวัดสุพรรณบุรีได้มี คำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ๗๘๕/๒๕๔๕ หมายเลขแดงที่ ๘๖๗/๒๕๔๖ ยกฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดี โดยรับฟังข้อเท็จจริงว่าเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินถูกต้องแล้ว แสดงว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏต่อ ศาลปกครองกลางก่อนจะมีคำพิพากษาแล้วว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ศาลปกครองกลางชอบที่จะรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว และจัดทำความเห็นส่งไปยังศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่ศาลปกครองกลางไม่ดำเนินการตามนัยดังกล่าว แต่กลับดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนมีคำพิพากษา จึงไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงพิพากษายกคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และให้ศาลปกครองกลางดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งต่อไปตามรูปคดี
ศาลปกครองกลางได้ทำความเห็นว่า ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีนี้แล้ว ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อ.๑๓๐/๒๕๔๙ โดยเห็นว่า การที่จะวินิจฉัยได้ว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคารชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จะต้องวินิจฉัยก่อนว่าที่ดินบริเวณที่พิพาทกันนั้นเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณะ ประเด็นหลักของคดีนี้จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่สาธารณะหรือเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองโดยชอบ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้ศาลปกครองกลางดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง ดังนั้น ศาลปกครองกลาง จึงให้คู่กรณีทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจศาลในคดีนี้เพื่อประกอบการทำความเห็นของศาลตามข้อ ๑๕ ของข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ประกอบมาตรา ๑๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่คดีเริ่มที่คำสั่งทางปกครอง แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีโต้แย้งเรื่องแนวเขตที่ดิน ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ คดีจึงต้องได้รับคำวินิจฉัยชี้ขาดแนวเขตที่ดินจากศาลยุติธรรมเสียก่อน เมื่อได้ข้อยุติเรื่องแนวเขตที่ดินโดยคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว ข้อเท็จจริงในกรณีอาคารรุกล้ำที่ดินสาธารณะหรือไม่ก็ปรากฏชัดโดยศาลปกครองไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้อีก จึงเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ศาลปกครองกลางได้ดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดโดยให้รอการพิจารณาคดีไว้เป็นการชั่วคราว
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าคดีที่ฟ้องนั้นเป็นคดีประเภทใดอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดต้องพิจารณาจากคำฟ้องและคำขอในคดีนั้นเป็นหลัก การฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแปลนและรื้อถอนส่วนของอาคารที่รุกล้ำที่สาธารณะ รวมทั้งให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตใหม่ และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ นั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนกรณีการโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินนั้นเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แม้การที่จะวินิจฉัยว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณะก็ตาม แต่ผู้ฟ้องคดีนำเรื่องที่ดินพิพาทที่เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองออกคำสั่งและคำวินิจฉัยโดยอ้างว่าเป็นที่สาธารณะนั้นไปฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อขอให้เพิกถอนโฉนดในที่พิพาทและพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้วตามคดีหมายเลขดำที่ ๗๘๕/๒๕๔๕ หมายเลขแดงที่ ๘๖๗/๒๕๔๖ อันเป็นการที่ผู้ฟ้องคดีได้แยกประเด็นฟ้องแล้วว่าในเรื่องโต้แย้งสิทธิครอบครองในที่ดินฟ้องยังศาลยุติธรรม ส่วนเรื่องเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองฟ้องยังศาลปกครอง ดังนั้น ประเด็นหลักของคดีนี้จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งและคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในประเด็นนี้แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและศาลปกครองกลางต่างไม่มีข้อขัดแย้งในเรื่องเขตอำนาจแต่อย่างใด การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ศาลปกครองกลางทำความเห็นในเรื่องเขตอำนาจระหว่างศาลใหม่นั้น จึงเป็นการล่วงพ้นระยะเวลาตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่มุ่งหมายให้ข้อขัดแย้งเรื่องเขตอำนาจศาลจะต้องเกิดขึ้นในระหว่างพิจารณาของศาลที่รับฟ้องและต้องมีการวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องเขตอำนาจศาลของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลให้เป็นที่ยุติก่อนที่ศาลที่รับฟ้องคดีนั้น จะมีคำพิพากษา การที่ศาลปกครองกลางรับฟ้องคดีไว้โดยไม่ได้เห็นเองว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น และมีคำพิพากษาในคดีเสร็จสิ้นไปแล้ว แม้ศาลปกครองสูงสุดจะให้ศาลปกครองกลางทำความเห็นในเรื่องนี้มาใหม่ กรณีก็ยังถือว่าเป็นการล่วงพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วย การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโดยโต้แย้งว่าเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และคดีนี้ศาลปกครองได้ส่งความเห็นมาเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๑๕๔๖ ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ ๔๓ ตารางวา พร้อมอาคารพักอาศัย ๒ ชั้น เลขที่ ๙๒๙ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อนุญาตให้ก่อสร้างในพื้นที่ ๔๒.๘ ตารางวา ต่อมาเมื่อผู้ฟ้องคดีรังวัดสอบเขตที่ดินปรากฏว่า การรังวัดสอบเขตที่ดินคลาดเคลื่อน เนื้อที่ที่ดินขาดหายไป ๑ ตารางวา ทำให้อาคารที่ก่อสร้างตามแบบแปลนเดิมไม่ตรงกัน โดยมีส่วนของอาคารชั้นสองแถบตะวันออกเหลื่อมล้ำกับหลักหมุด และจุดที่เหลื่อมล้ำกันนั้นไม่ใช่ที่ดินสาธารณะ แต่เป็นส่วนของที่ดิน ๔๓ ตารางวา ของผู้ฟ้องคดีที่มีอยู่ก่อนรังวัดสอบเขตที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเลขที่ ๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๕ สั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนส่วนที่เหลื่อมล้ำดังกล่าว และให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตดัดแปลงอาคารตามแบบ ข ๑ ภายใน ๓๕ วัน หลังจากดำเนินการรื้อถอนแล้ว โดยไม่สอบถามหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงและโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้ชัดเจนเสียก่อน ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หรือรอการวินิจฉัยไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติในเรื่องแนวเขตที่ดินดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ ๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๕ให้ยกอุทธรณ์โดยไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานแต่อย่างใด จึงฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๕ เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๕ มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการขอแก้ไขแนวเขตที่ดินให้ถูกต้อง แต่เจ้าพนักงานที่ดินยังแก้ไขรูปแผนที่ให้ไม่ได้ เพราะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คัดค้านการนำชี้วัดสอบเขตที่ดิน ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๘๕/๒๕๔๕ เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รับรองแนวเขตตามที่ผู้ฟ้องคดีนำชี้ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนแผนผังที่ขออนุญาตและมีบางส่วนรุกล้ำทางสาธารณะ คำสั่งเลขที่ ๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๕ ให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขและให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตดัดแปลงอาคารออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่ดินของผู้ฟ้องคดีเดิมมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เนื้อที่ ๔๓ ตารางวา และเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินโดยการเดินสำรวจทั้งตำบล ที่ดินดังกล่าวจึงอาจคลาดเคลื่อนได้ เมื่อมีการรังวัดสอบเขตที่ดินโดยละเอียดจึงมีเนื้อที่เพียง ๔๒ ตารางวา และมีความชัดเจนในส่วนของทางสาธารณะ และผู้ฟ้องคดียินยอมให้แก้ไขเนื้อที่ดินในโฉนดตามที่รังวัดได้ จึงเป็นการยอมรับว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีมีเนื้อที่ ๔๒ ตารางวา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์นั้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากคำสั่งของฝ่ายปกครองที่ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคารส่วนที่เหลื่อมล้ำและให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตดัดแปลงอาคารตามแบบ ข ๑ ภายใน ๓๕ วัน หลังจากดำเนินการรื้อถอนก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทกันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นทางสาธารณะตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โต้แย้งเป็นสำคัญ การจะพิจารณาว่าคดีมีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินหรือไม่ ต้องพิจารณาตั้งแต่ขณะยื่นฟ้องตามแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๓๗/๒๕๔๘ แม้ภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีนี้แล้ว ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีจะมีคำพิพากษาเกี่ยวกับโฉนดที่ดินพิพาท โดยรับฟังข้อเท็จจริงว่าเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินถูกต้องซึ่งมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นรับรองสิทธิในที่ดินแปลงที่พิพาทในคดีนี้ของผู้ฟ้องคดีว่ามีเพียง ๔๒ ตารางวาแล้วก็ตาม แต่ขณะยื่นฟ้องคดีนี้ยังมีปัญหาที่ศาลจำต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน และแม้จะมีคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ซึ่งยังไม่แน่ว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิของผู้ฟ้องคดีเช่นไรคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางเล็ก กาฬภักดี ผู้ฟ้องคดี นายกเทศมนตรีตำบลเขาพระ ที่ ๑ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน