แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๔/๒๕๕๐
วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๐
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลแขวงนครศรีธรรมราช
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นกับศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๘ นายถวิล ทองเซ่ง ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง วิทยาลัยศรีโสภณ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๔๐/๒๕๔๘ ความว่า ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ จ้างผู้ฟ้องคดีเป็นอาจารย์ประจำตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๒ แต่ไม่ได้ทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงหลักฐานการสมัครเข้าทำงาน ผู้ถูกฟ้องคดีมอบหมายให้ผู้ฟ้องคดีสอนทั้งสิ้น ๕ วิชา เป็นที่ปรึกษา และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของผู้ถูกฟ้องคดีโดยเฉพาะงานสอน ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายค่าตอบแทนหรือเงินเดือนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นรายเดือนประจำทุกเดือนเรื่อยมาไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่เปิดภาคเรียนหรือปิดภาคเรียน ต่อมาเมื่อประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘ ผู้ถูกฟ้องคดีได้งดจ่ายเงินเดือนให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ฟ้องคดีจึงสอบถามเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีและได้รับคำตอบว่าเนื่องจากไม่มีการเรียนการสอนในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีถือว่าผู้ฟ้องคดีเป็นอาจารย์พิเศษจึงไม่จ่ายเงินเดือนให้ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีเชิญผู้ฟ้องคดีไปพบเพื่อปรึกษาหารือในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ผลการหารือเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีรับว่าผู้ฟ้องคดีเป็นอาจารย์ประจำ ผู้ถูกฟ้องคดีจะดำเนินการจ่ายเงินเดือนให้และจะแจ้งให้ทราบในภายหลัง แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปพอสมควรผู้ถูกฟ้องคดีก็ยังเพิกเฉย ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือทวงถามอีกครั้งหนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือ ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ยืนยันไม่จ่ายค่าจ้าง ตามระเบียบวิทยาลัยศรีโสภณ พ.ศ.๒๕๔๗ อ้างว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดข้อตกลงด้วยวาจากับอธิการบดีของผู้ถูกฟ้องคดีที่จะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ให้นักศึกษาได้ปรึกษาหารือเมื่อมีปัญหาการเรียนการสอนอย่างน้อย ๓ วันต่อสัปดาห์ และมีนักศึกษาร้องเรียนว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดจรรยาบรรณของการเป็นอาจารย์ ซึ่งเป็นความผิดวินัยที่ร้ายแรง ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือถึงอธิการบดี พร้อมทั้งชี้แจงข้อกล่าวหาและโต้แย้งเรื่องการจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษที่นอกเหนือจากเงินเดือนซึ่งเกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีจัดให้ผู้ฟ้องคดีสอนเกินชั่วโมงที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แต่ผู้ถูกฟ้องคดียังคงเพิกเฉย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินเดือนที่ค้างจ่ายตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๔๘ จนถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๘ พร้อมดอกเบี้ย ให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับผู้ฟ้องคดีกลับเข้าทำงานและจัดการเรียนการสอนพร้อมทั้งจ่ายเงินเดือนประจำและสิทธิประโยชน์ที่อาจารย์ประจำควรจะได้รับตามกฎหมายจนกว่าจะสิ้นสภาพความเป็นพนักงาน ให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายค่าตอบแทนพิเศษที่ผู้ฟ้องคดีสอนเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานพร้อมดอกเบี้ย หากไม่สามารถดำเนินการได้ ขอให้จ่ายค่าชดเชยในอัตราไม่ต่ำกว่าอัตราตามมาตรา ๑๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ รวมทั้งค่าทดแทนการว่างงานตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นอาจารย์ด้วยวาจาเนื่องจากผู้ฟ้องคดีกับอธิการบดีเป็นเพื่อนกัน โดยมีข้อตกลงว่าจะจ่ายค่าตอบแทนให้ก็ต่อเมื่อมีวิชาสอนเท่านั้น ถือเป็นการว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นอาจารย์สอนพิเศษ การว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๒ ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดียังไม่มีระเบียบวิทยาลัยศรีโสภณว่าด้วยการเลือกสรร การคัดเลือก และการทำสัญญาจ้างทำงาน พ.ศ. ๒๕๔๗ แต่เมื่อระเบียบดังกล่าวใช้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีก็มิได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้ฟ้องคดี เพราะผู้ถูกฟ้องคดีได้รับการร้องเรียนจากนักศึกษาในเรื่องความประพฤติของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่จัดชั่วโมงสอนให้และไม่จ่ายค่าตอบแทน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของวิทยาลัยศรีโสภณว่าด้วยการเลิกจ้าง ค่าชดเชย และค่าชดเชยพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ การฟ้องคดีตลอดจนการคุ้มครองและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ฟ้องคดีก็เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กรณีเป็นการพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ผู้ฟ้องคดียื่นคำชี้แจงว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนทำหน้าที่บริการให้การศึกษาในลักษณะบริการสาธารณะแทนรัฐ และตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ บัญญัติว่า กิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ อันเป็นสถานศึกษาและวิจัยมีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ และมาตรา ๓๔ บัญญัติให้สภาสถาบันมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของสถาบันรวมถึงการให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา ปริญญาหรือประกาศนียบัตรบัณฑิต ทั้งนี้ โดยมีคณะกรรมการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้กำกับดูแล การบริหารและการจัดการของสถาบันตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครองจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ทั้งสัญญาจ้างระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีมีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะจึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแขวงนครศรีธรรมราชเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน มิได้มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ทั้งตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีผิดข้อตกลงตามสัญญาจ้างระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี กับทั้งมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าจ้างที่ค้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีอันเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๘ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ศาลปกครองนครศรีธรรมราชจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓) บัญญัติให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ จ้างผู้ฟ้องคดีเป็นอาจารย์ประจำตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยไม่ได้ทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้ถูกฟ้องคดีมอบหมายให้ผู้ฟ้องคดีสอนทั้งสิ้น ๕ วิชา เป็นที่ปรึกษา และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของผู้ถูกฟ้องคดีโดยเฉพาะงานสอน และจ่ายค่าตอบแทนหรือเงินเดือนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นรายเดือนประจำทุกเดือนไม่ว่าจะเป็นช่วงที่วิทยาลัยเปิดภาคเรียนหรือปิดภาคเรียน ต่อมาประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘ ผู้ถูกฟ้องคดีงดจ่ายเงินเดือนให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ฟ้องคดีจึงติดตามทวงถาม ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือยืนยันไม่จ่ายค่าจ้างโดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดข้อตกลงด้วยวาจากับอธิการบดีของผู้ถูกฟ้องคดีและมีนักศึกษาร้องเรียนว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดจรรยาบรรณของการเป็นอาจารย์ ซึ่งเป็นความผิดวินัยที่ร้ายแรง ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหาถึงอธิการบดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดียังเพิกเฉย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ย ให้รับผู้ฟ้องคดีกลับเข้าทำงานและจัดการเรียนการสอน พร้อมทั้งจ่ายเงินเดือนประจำและสิทธิประโยชน์ที่อาจารย์ประจำควรจะได้รับตามกฎหมายจนกว่าจะสิ้นสภาพความเป็นพนักงาน และให้จ่ายค่าตอบแทนพิเศษที่ผู้ฟ้องคดีสอนเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานพร้อมดอกเบี้ย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นอาจารย์ด้วยวาจาโดยมีข้อตกลงว่าจะจ่ายค่าตอบแทนให้ก็ต่อเมื่อมีวิชาสอนเท่านั้น ถือเป็นการว่าจ้างให้เป็นอาจารย์สอนพิเศษ การว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๒ ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดียังไม่มีระเบียบวิทยาลัยศรีโสภณว่าด้วยการเลือกสรร การคัดเลือก และการทำสัญญาจ้างทำงาน พ.ศ. ๒๕๔๗ แต่เมื่อระเบียบดังกล่าวใช้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีก็มิได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้ฟ้องคดี เพราะผู้ถูกฟ้องคดีได้รับการร้องเรียนจากนักศึกษาในเรื่องความประพฤติของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่จัดชั่วโมงสอนให้และไม่จ่ายค่าตอบแทน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของวิทยาลัยศรีโสภณว่าด้วยการเลิกจ้าง ค่าชดเชย และค่าชดเชยพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นอาจารย์ทำหน้าที่หลักด้านการสอนภายใต้ระเบียบข้อบังคับของผู้ถูกฟ้องคดี โดยจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีตลอดเวลาที่ทำงานให้ผู้ถูกฟ้องคดี สัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีผิดข้อตกลงตามสัญญาจ้างระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งจัดวิชาให้ผู้ฟ้องคดีสอน หากไม่ปฏิบัติขอให้จ่ายค่าชดเชยและค่าทดแทน จึงเป็นการฟ้องเรียกร้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีผิดสัญญาจ้างแรงงาน แม้ตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ บัญญัติว่า กิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ก็เป็นเพียงการกำหนดมิให้นำกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์มาใช้บังคับเท่านั้น กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายถวิล ทองเซ่ง ผู้ฟ้องคดี วิทยาลัยศรีโสภณ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๖