คำวินิจฉัยที่ 15/2550

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๕/๒๕๕๐

วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๐

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดสมุทรปราการ
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสมุทรปราการโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๙ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน โจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัท จี.วี.คอน จำกัด จำเลย ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๖๔/๒๕๔๙ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๘ โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างให้จำเลยก่อสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงานตัวอย่าง ณ บริเวณเทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ในราคาค่าจ้าง ๑๓๑,๔๖๔,๔๘๐ บาท กำหนดเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน ๒๐ เดือน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ผู้ว่าจ้างให้ทำงานตามสัญญาโดยชอบหรือตามวันที่กำหนดไว้ แล้วแต่กรณี ถ้าจำเลยมิได้ลงมือทำงานภายในกำหนดเวลาหรือไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาหรือล่าช้าเกินกว่ากำหนด ฯลฯ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและมีสิทธิจ้างผู้รับจ้างรายใหม่เข้าทำงานของจำเลยให้ลุล่วงไปได้ โดยจำเลยมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ ค.๐๐๑-๙๕-๕๔๙๘-๐ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๓๘ เป็นเงินจำนวน ๖,๕๗๓,๒๒๔ บาท ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา จำเลยเข้าทำงานก่อสร้างอาคารตามสัญญาตั้งแต่วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๘ และส่งมอบงานให้แก่โจทก์จำนวน ๒๐ งวด โดยจำเลยเบิกค่าจ้างไปแล้วจำนวน ๑๕ งวด ส่วนงวดที่ ๑๖-๒๐ ซึ่งจำเลยส่งมอบให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยยังไม่ได้เบิก ต่อมาโจทก์จ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้าให้แก่จำเลยเป็นเงินจำนวน ๑๓,๑๔๖,๔๔๘ บาท ซึ่งเท่ากับร้อยละ ๑๐ ของราคาค่าจ้างตามสัญญา โดยจำเลยวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารไทยพาณิชย์ฯ เลขที่ ค.๐๐๑-๙๕-๘๓๑๓-๓ ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๘ เป็นเงินจำนวน ๑๓,๑๔๖,๔๔๘ บาท ต่อมา โจทก์ได้รับรายงานจากกลุ่มบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าวว่าในช่วงวันที่ ๑-๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๐ ไม่มีผลงานของผู้ว่าจ้างเพิ่มเติม โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยก่อสร้างอาคารตามสัญญา และเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ โจทก์และจำเลยตกลงเปลี่ยนแปลงแก้ไขงานตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าวโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงสินจ้าง และตกลงขยายเวลาส่งมอบงานแล้วเสร็จตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาเดิมนับถัดจากวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๐ จนถึงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ นอกจากงานที่ตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงและกำหนดเวลางานแล้วเสร็จให้เป็นไปตามเงื่อนไขตามที่ระบุในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างเดิมทุกประการ ต่อมาโจทก์ได้รับรายงานจากกลุ่มบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาว่า การก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนงานที่ตกลงไว้ ดังนั้น เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยเข้าปฏิบัติงานก่อสร้างตามสัญญาภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉย ต่อมา วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๑ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและแจ้งให้จำเลยรับผิดตามสัญญาดังกล่าว โดยแจ้งให้ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ รับผิดตามหนังสือค้ำประกันฯ ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ฯ ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์แล้วเป็นเงินจำนวน ๖,๕๗๓,๒๒๔ บาท และ ๙,๕๙๔,๗๖๗.๒๗ บาท ตามลำดับ นอกจากนี้โจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท ยูเนี่ยน วี พี อี จำกัด เข้าก่อสร้างอาคารดังกล่าวแทนจำเลยสำหรับงานส่วนที่เหลือ โดยตกลงสินจ้างเป็นเงินจำนวน ๑๑๔,๑๙๑,๑๘๗ บาท โจทก์เห็นว่า การที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาว่าจ้างก่อสร้างดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องชำระค่างานที่โจทก์ต้องชำระแก่ผู้รับจ้างรายใหม่รวมถึงค่าควบคุมงานเพิ่มเติมเกินจากที่ตกลงกันไว้ จำเลยต้องชำระเงินเป็นค่าเสียหาย ค่าปรับ เงินล่วงหน้าที่จำเลยรับจากโจทก์ไปแล้ว ฯลฯ แก่โจทก์ โดยหักเงินประกันและเงินที่จำเลยมีสิทธิได้รับแล้ว คิดเป็นเงินจำนวน ๑๘,๕๗๑,๑๕๕.๙๔ บาท คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน ๒๗,๕๗๓,๐๘๐.๑๔ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๒๗,๕๗๓,๐๘๐.๑๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงิน ๑๘,๕๗๑,๑๕๕.๙๔ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่สามารถเรียกค่าเสียหายในส่วนของค่างานที่โจทก์ต้องชำระแก่ผู้รับจ้างรายใหม่รวมถึงค่าควบคุมงานที่เพิ่มเติมขึ้น จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาในข้อที่เป็นสาระสำคัญของสัญญา การบอกเลิกสัญญาเกิดจากความผิดของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าปรับเพราะโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้ว สัญญาว่าจ้างก่อสร้างย่อมระงับลง นอกจากนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกเงินล่วงหน้าคืนเพราะผลงานที่จำเลยดำเนินการไปแล้วตามสัญญามีค่าของผลงานเท่ากับเงินที่จำเลยได้รับมาแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารพลังงานตัวอย่าง ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง เพราะในการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสัญญาเป็นอำนาจเด็ดขาดของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว โดยโจทก์จะสั่งให้จำเลยแก้ไขข้อตกลงหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาอย่างใดๆ ก็ได้ ถึงแม้จำเลยจะไม่ตกลงด้วย ซึ่งข้อพิพาทตามสัญญาดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสมุทรปราการเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาก่อสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงานตัวอย่างล่าช้ากว่าแผนที่ตกลงไว้จึงแจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา แต่จำเลยเพิกเฉยจึงบอกเลิกสัญญา โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาจากจำเลย เพราะมีข้อโต้แย้งสิทธิตามสัญญาทางแพ่งกัน ซึ่งต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสัญญาจ้างทำของและหนี้ สัญญาพิพาทมิได้มีลักษณะเป็นสัญญาประเภทต่างๆ อันจะเข้าลักษณะสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๑/๒๕๔๕
ศาลปกครองกลางเห็นว่า โจทก์เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงพลังงานตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง และโดยที่พระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๖ กำหนดให้โจทก์มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (๑) สำรวจรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ทดลอง และตรวจสอบเกี่ยวกับพลังงานในด้านแหล่งพลังงานการผลิต การแปรรูป การส่ง และการใช้ (๒) ศึกษา วางแผน และวางโครงการเกี่ยวกับพลังงานและกิจการที่เกี่ยวข้อง (๓) ค้นคว้าและพัฒนา สาธิต และก่อให้เกิดโครงการริเริ่มเกี่ยวกับการผลิต การแปรรูป การส่ง การใช้ และการอนุรักษ์แหล่งพลังงาน (๔) ออกแบบ สร้าง และบำรุงรักษาแหล่งผลิต แหล่งแปรรูป ระบบส่งและระบบใช้พลังงาน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานชนิดใหม่ การผลิตเชื้อเพลิงจากชีวมวล และการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า (๕) กำหนดระเบียบและมาตรฐานเกี่ยวกับการผลิต การแปรรูป การส่ง การใช้ และการอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนควบคุมและกำกับดูแลให้เป็นไปตามระเบียบและมาตรฐานนั้น (๖) กำหนดอัตราค่าตอบแทนสำหรับการใช้พลังงานที่ดำเนินการโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (๗) จัดให้มี ควบคุม สร้าง ซื้อ ขาย เช่า ให้เช่า โอน หรือรับโอนแหล่งผลิต แหล่งแปรรูป ระบบส่งและระบบจำหน่ายพลังงานและออกใบอนุญาตผลิตหรือขยายการผลิตพลังงาน (๘) ถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่งเสริมฝึกอบรม เผยแพร่เกี่ยวกับการผลิต การแปรรูป การส่ง การใช้และการอนุรักษ์แหล่งพลังงานตลอดจนเป็นศูนย์กลางการประสานความร่วมมือในกิจการที่เกี่ยวข้อง คดีนี้โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยก่อสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงานตัวอย่าง ซึ่งอาคารดังกล่าวมีขึ้นเพื่อประโยชน์และเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในการบริการสาธารณะด้านการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานของโจทก์ สัญญาจ้างดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคเพื่อให้ดำเนินงานบริการสาธารณะบรรลุผล เป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ
ศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน โจทก์ ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท จี.วี.คอน จำกัด จำเลย ก่อสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงานตัวอย่าง ณ บริเวณเทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จำเลยก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนงานที่ตกลงไว้ โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยเข้าปฏิบัติงานก่อสร้างตามสัญญา แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและแจ้งให้จำเลยรับผิดตามสัญญาดังกล่าว และ โดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันที่จำเลยมอบให้โจทก์ไว้เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแล้ว และต่อมา โจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท ยูเนี่ยน วี พี อี จำกัด เข้าก่อสร้างอาคารดังกล่าวแทนจำเลยสำหรับงานส่วนที่เหลือ ซึ่งโจทก์เห็นว่า การที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาว่าจ้างก่อสร้างดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหาย ค่าปรับ และคืนเงินค่าจ้างที่จำเลยได้รับจากการเบิกเงินล่วงหน้า ฯลฯ แก่โจทก์ ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ไม่สามารถเรียกค่าเสียหายทั้งในส่วนของค่างานที่โจทก์ต้องชำระแก่ผู้รับจ้างรายใหม่และค่าควบคุมงานที่เพิ่มเติมขึ้น จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาในข้อที่เป็นสาระสำคัญของสัญญา การบอกเลิกสัญญาเกิดจากความผิดของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าปรับเพราะโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้ว สัญญาว่าจ้างก่อสร้างย่อมระงับ นอกจากนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกเงินล่วงหน้าคืนเพราะผลงานที่จำเลยดำเนินการไปแล้วตามสัญญามีค่าของผลงานเท่ากับเงินที่จำเลยได้รับมาแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินให้โจทก์ ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยที่เกิดขึ้นจากการที่โจทก์และจำเลยผูกพันเป็นคู่สัญญาจ้างก่อสร้างดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทที่สืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลย สาระสำคัญของข้อโต้แย้งเป็นการโต้แย้งสิทธิกันตามสัญญา จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าสัญญาพิพาทเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) และมาตรา ๓ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งสัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้ โจทก์เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงพลังงานตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มีอำนาจหน้าที่ในการค้นคว้า พัฒนา กำกับดูแลและปฏิบัติการเกี่ยวกับการผลิต การส่งและการจำหน่ายพลังงานของประเทศตามพระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๖ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อสัญญาจ้างก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้งานก่อสร้างที่บรรลุตามวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติการด้านการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานซึ่งเป็นบริการสาธารณะอย่างหนึ่งของรัฐ อาคารอนุรักษ์พลังงานตัวอย่างจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินบริการสาธารณะด้านการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานของโจทก์ให้บรรลุผล สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อคดีนี้เป็นกรณีพิพาทอันเนื่องมาจากการเรียกร้องให้ชดใช้เงินจากการโต้แย้งสิทธิกันตามสัญญาพิพาทซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน โจทก์ บริษัท จี.วี.คอน จำกัด จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share