แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลย อ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และมีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) จำเลยปลูกสร้างอาคารศาลาที่พักริมทางรุกล้ำที่ดินโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและศาลาที่พัก พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์และไม่มีสิทธิครอบครอง ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน (ที่ชายตลิ่งริมฝั่งทะเล) เห็นว่า ข้อหาและข้อต่อสู้เป็นเรื่องโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๕/๒๕๕๗
วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๗
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๕ นางสาวคัทรีญา ฤกษ์อัตการ โจทก์ ยื่นฟ้อง องค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึงหรือบางสะพานใหญ่ จำเลย ต่อศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๘๖/๒๕๕๕ ความว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และมีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๒๖๙ ตำบลกำเนิดนพคุณ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ ๑๘ ไร่ ๑๖ ตารางวา ต่อมา เมื่อประมาณกลางปี ๒๕๕๓ จำเลยได้ปลูกสร้างอาคารศาลาที่พักริมทางรุกล้ำที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่ประมาณ ๑๕ ตารางวา โจทก์แจ้งให้จำเลยรื้อถอนหลายครั้งแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและศาลาที่พัก ให้ชดใช้ค่าเสียหาย พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์กับให้ส่งมอบที่ดินแก่โจทก์ในสภาพใช้สอยได้ดี
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์และไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน (ที่ชายตลิ่งฝั่งทะเล) หลังจากโจทก์ซื้อที่ดินตาม (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๒๖๙ โจทก์ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินและนำรังวัดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่สาธารณะเพื่อหวังเอาที่ดินดังกล่าวมาเป็นของตน จำเลยคัดค้านการรังวัดการออกโฉนดและเจ้าพนักงานที่ดินได้แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบว่าไม่อาจออกโฉนดในส่วนที่พิพาทให้โจทก์ได้ รวมทั้งแจ้งสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งและสิทธิในการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองโดยชอบแล้ว แต่โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องต่อศาลนี้ จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองกระทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่มีอำนาจให้กระทำได้และกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่อันเป็นการสร้างภาระให้กับโจทก์เกินสมควร จึงเป็นการอ้างเหตุฟ้องที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนฝ่ายหนึ่ง กล่าวอ้างว่าตนมีกรรมสิทธิ์และมีสิทธิครอบครองในที่ดิน และคู่ความซึ่งเป็นส่วนราชการอีกฝ่ายหนึ่งโต้เถียงว่าฝ่ายที่กล่าวอ้างไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครอง ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามที่โจทก์มีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำกิจการและการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชน ถือได้ว่าการปลูกสร้างอาคารศาลาที่พักริมทางของจำเลย เป็นการใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด แม้การพิจารณาในเรื่องสิทธิในที่ดินที่พิพาทจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแห่งคดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับคดีได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นคดีนี้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลย ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และมีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก) เลขที่ ๑๒๖๙ แต่จำเลยปลูกสร้างอาคารศาลาที่พักริมทางรุกล้ำที่ดินโจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยรื้อถอนแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและศาลาที่พักและให้ชดใช้ค่าเสียหาย พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ และส่งมอบที่ดินแก่โจทก์ในสภาพใช้สอยได้ดี ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์และไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน (ที่ชายตลิ่งริมฝั่งทะเล) เห็นว่า ข้อหาและข้อต่อสู้เป็นเรื่องโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสาวคัทรีญา ฤกษ์อัตการ โจทก์ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึงหรือบางสะพานใหญ่ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) นายดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ