แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองที่ดินมีโฉนดได้รับความเดือดร้อนเสียหายกรณีการไฟฟ้านครหลวง ผู้ถูกฟ้องคดี ปักเสาไฟฟ้าเอนล้ำและสายไฟฟ้าพาดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีและเป็นการดำเนินการโดยไม่ถูกต้องตามหลักวิชา ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีปรับเปลี่ยนการวางแนวสายไฟฟ้าและย้ายเสาไฟฟ้าไม่ให้รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของผู้ฟ้องคดีแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการ ทั้งเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้เข้าไปโย้เสาไฟฟ้าบริเวณดังกล่าวโดยไม่มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดี ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายค่าตอบแทนจากการละเมิดพื้นที่ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขการรุกล้ำของเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้า กับให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการฟ้องคดีนี้ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะปฏิบัติตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติที่ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีกรรมสิทธิ์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ดินอันเป็นภาระจำยอม คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓๖/๒๕๕๗
วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่งธนบุรี
การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๖ บริษัทเทเลเซนเนอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องการไฟฟ้านครหลวง ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๗๘/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๑๑๖ ตำบลหลักสอง อำเภอบางแค กรุงเทพมหานคร ได้รับความเดือดร้อนเสียหายกรณีผู้ถูกฟ้องคดีปักเสาไฟฟ้าเอนล้ำและสายไฟฟ้าพาดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีและการปักเสาไฟฟ้าดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชา ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงร้องเรียนเรื่องดังกล่าว สำนักงานเขตบางขุนเทียน หน่วยงานในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดี เข้าตรวจสอบและมีหนังสือยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายค่าทดแทนหรือค่าตอบแทนในการใช้ที่ดิน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉย นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีปรับเปลี่ยนการวางแนวสายไฟฟ้าและย้ายเสาไฟฟ้าไม่ให้รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีกลับมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีตรวจสอบและแสดงแนวเขตที่ดินและแจ้งผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อพิจารณาต่อไป และต่อมาเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้เข้าไปโย้เสาไฟฟ้าบริเวณดังกล่าวโดยไม่มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายค่าตอบแทนจากการละเมิดพื้นที่ครอบครองอสังหาริมทรัพย์รวมระยะเวลา ๘ ปี ให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขการรุกล้ำของเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าโดยวิธีการยุบรวมเสาไฟฟ้าทั้งสองต้นให้เหลือต้นใหญ่เพียงต้นเดียวแล้วย้ายเสาไฟฟ้าไปปัก ณ จุดปักเสาไฟฟ้าใหม่ กับให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีพร้อมดอกเบี้ย
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิด ผู้ถูกฟ้องคดีได้ปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าบนทางเท้าของถนนทางเข้าโครงการจัดสรร หมู่บ้านเพชรสยาม โครงการ ๓ ตามแผนผังขออนุญาตจัดสรรที่ดินของบริษัทภัทรบ้านและที่ดิน จำกัด อันเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินตามคำขอของบริษัทดังกล่าว การปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าจึงมิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตและไม่ได้รับความเสียหายตามที่กล่าวอ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ในการปักเสาและพาดสายไฟฟ้าตามมาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. ๒๕๐๑ โดยบทบัญญัติมาตรา ๓๔ วรรคสอง และมาตรา ๓๕ วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีความรับผิดอย่างอื่น รวมทั้งมีระบบการชี้ขาดข้อพิพาทเบื้องต้นในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ อันแสดงให้เห็นว่าการดำเนินกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีในกรณีดังกล่าวซึ่งในคดีนี้ได้แก่ การดำเนินการปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้า มีลักษณะเป็นเรื่องการใช้อำนาจทางปกครองหรือเป็นการดำเนินกิจการทางปกครอง เมื่อคดีนี้เป็นการฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีในการใช้สอยที่ดินและการปักเสาและเดินสายไฟฟ้าบนพื้นดินหรือข้ามพื้นดินของบุคคลใดๆ เพื่อสร้างและบำรุงรักษาระบบการส่งพลังงานไฟฟ้า คดีนี้จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งธนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่ามีการปักเสาไฟฟ้าและมีสายไฟฟ้าพาดผ่านนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินทางเท้าถนนทางเข้าที่จัดสรรตามแผนผังขออนุญาตจัดสรรที่ดินของบริษัทธนภัทรบ้านและที่ดิน จำกัด เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้างและโต้แย้งกันสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองที่ดินมีโฉนดได้รับความเดือดร้อนเสียหายกรณีผู้ถูกฟ้องคดีปักเสาไฟฟ้าเอนล้ำและสายไฟฟ้าพาดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีและการปักเสาไฟฟ้าดังกล่าวดำเนินการโดยไม่ถูกต้องตามหลักวิชา ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายค่าทดแทนหรือค่าตอบแทนในการใช้ที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉย นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีปรับเปลี่ยนการวางแนวสายไฟฟ้าและย้ายเสาไฟฟ้าไม่ให้รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีกลับมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีตรวจสอบและแสดงแนวเขตที่ดินและแจ้งผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อพิจารณาต่อไป และต่อมาเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้เข้าไปโย้เสาไฟฟ้าบริเวณดังกล่าวโดยไม่มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดี ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายค่าตอบแทนจากการละเมิดพื้นที่ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขการรุกล้ำของเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้า กับให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีพร้อมดอกเบี้ย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิด การปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้ามิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่ได้กระทำบนที่ดินอันเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินตามคำขอของบริษัทภัทรบ้านและที่ดิน จำกัด เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการฟ้องคดีนี้ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะปฏิบัติตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติที่ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีกรรมสิทธิ์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ดินอันเป็นภาระจำยอม คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทเทเลเซนเนอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ฟ้องคดี การไฟฟ้านครหลวง ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ