แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งแปดสิบสอง ซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรีไปทำงานที่โรงพยาบาลเปาโล จังหวัดสมุทรปราการ มาจากเหตุที่จำเลยที่ 1 หมดสัญญาอนุญาตให้บริการขายอาหารระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้เสนอให้โจทก์ทั้งแปดสิบสองเลือกไปทำงานในสาขาอื่นของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร โดยจะให้เงินช่วยเหลือเป็นค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,000 บาท เมื่อโจทก์ทั้งแปดสิบสองไม่เลือกและไม่แสดงความจำนงให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 จึงมีความจำเป็นต้องสั่งให้โจทก์ทั้งแปดสิบสองไปทำงานที่โรงพยาบาลเปาโล จังหวัดสมุทรปราการ ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิม เมื่อโจทก์ทั้งแปดสิบสองมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะไปปฏิบัติงานหน่วยงานแห่งอื่นของจำเลยที่ 1 และไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ตามวันเวลาที่จำเลยที่ 1 กำหนด จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (5) และเป็นการละทิ้งการงานไปซึ่งจำเลยที่ 1 จะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทอดแทนก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดสิบสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ทั้งแปดสิบสองสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ตกลงว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ดำเนินงานทั้งหมดหรือบางส่วนของงานใดเพื่อประโยชน์แก่ตน โดยจะจ่ายสินจ้างตอบแทนผลสำเร็จแห่งการงานที่ทำนั้น จำเลยที่ 2 จึงเป็นนายจ้างร่วมกับจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งแปดสิบสองเป็นลูกจ้างจำเลยทั้งสอง กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 30 ของเดือน เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2549 จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดสิบสองโดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า อันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งแปดสิบสองตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งแปดสิบสองในแต่ละสำนวน
จำเลยที่ 1 ทั้งแปดสิบสองสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมชื่อบริษัทเปาโล แคเทอริ่ง เซอร์วิส จำกัด ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทออล สไปซ์ เคเทอร์ริ่ง จำกัด ประกอบธุรกิจจำหน่ายอาหาร จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เข้ามาดำเนินงานผลิตและขายอาหารในบริเวณโรงงานของจำเลยที่ 2 โดยมิได้คิดค่าใช้จ่ายหรือได้รับประโยชน์ใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 จะทำการผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายให้แก่พนักงานของจำเลยที่ 2 ให้มีมาตรฐานถูกสุขลักษณะและมีราคาที่เป็นธรรมไม่สูงเกินไป โดยจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิตอาหารรวมทั้งจัดหาพนักงานมาเองในการดำเนินการผลิตและบริการขายอาหารดังกล่าว โจทก์ทั้งแปดสิบสองเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ทำงานประจำอยู่ที่หน่วยงานในบริษัทฮิตาชิ โกลบอล สเตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโรงงานของจำเลยที่ 2 กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 30 ของเดือน สัญญาอนุญาตให้บริการขายอาหารระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะครบกำหนดในวันที่ 30 กันยายน 2549 และจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์ที่จะให้จำเลยที่ 1 ดำเนินธุรกิจในสถานที่ของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ได้เตรียมดำเนินการให้บริษัทโซเด็กซ์โซ่ ซัพพอร์ท เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด เข้าดำเนินกิจการต่อจากจำเลยที่ 1 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ต่อมาวันที่ 8 กันยายน 2549 จำเลยที่ 1 ได้ประกาศแจ้งให้พนักงานทราบว่าสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะหมดอายุลงในวันที่ 30 กันยายน 2549 และจำเลยที่ 1 จะโอนย้ายพนักงานทุกคนไปทำงานที่สาขาแห่งอื่นของจำเลยที่ 1 โดยให้สิทธิพนักงานเลือกสาขาที่จะไปปฏิบัติงานตามสะดวกของโจทก์ทั้งแปดสิบสองซึ่งมี 4 สาขา คือ โรงพยาบาลเปาโล จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลพญาไท 1 โรงพยาบาลพญาไท 2 และโรงพยาบาลพญาไท 3 กรุงเทพมหานคร โดยให้แสดงความจำนงไปยังจำเลยที่ 1 ภายในวันที่ 18 กันยายน 2549 ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2549 โจทก์ทั้งแปดสิบสองทำหนังสือสอบถามจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการโอนย้ายพนักงานไปทำงานที่สาขาอื่น จำเลยที่ 1 ได้ให้คำชี้แจงว่าจำเลยที่ 1 หมดสัญญากับจำเลยที่ 2 จึงต้องย้ายพนักงานไปทำงานที่สาขาอื่นซึ่งมิใช่เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการอันมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างตามนัยแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 และพนักงานที่สามารถโอนย้ายสาขาได้ จำเลยที่ 1 มีเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,000 บาท แต่เมื่อครบกำหนดโจทก์ทั้งแปดสิบสองไม่แสดงความจำนง จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งแปดสิบสองไปทำงานที่สาขาโรงพยาบาลเปาโล จังหวัดสมุทรปราการ โดยให้เวลาพนักงานทุกคนเตรียมเวลาการเดินทางระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2549 และเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 4 ตุลาคม 2549 ต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2549 โจทก์ทั้งแปดสิบสองทำหนังสือมายังจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานแห่งอื่นของจำเลยที่ 1 และถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินชดเชยพิเศษและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หลังจากนั้นโจทก์ทั้งแปดสิบสองไม่ไปทำงาน ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2549 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2549 จำเลยที่ 1 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดสิบสองโดยอ้างเหตุว่า ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและฝ่าฝืนคำสั่งที่ปรับโอนย้ายตำแหน่งโดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งซึ่งออกโดยชอบด้วยกฎหมาย แล้วศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ทั้งแปดสิบสอง โจทก์ทั้งแปดสิบสองจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 และขาดงานเกินสามวัน เป็นการละทิ้งการงานไปเสียจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งแปดสิบสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อสัญญาอนุญาตให้บริการขายอาหารระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะครบกำหนดในวันที่ 30 กันยายน 2549 จำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการต่อแต่จะให้บริษัทโซเด็กซ์โซ่ ซัพพอร์ท เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด เข้าดำเนินการแทนวันที่ 8 กันยายน 2549 จึงได้ประกาศแจ้งให้พนักงานทราบว่าสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะครบกำหนดดังกล่าว และจำเลยที่ 1 จะโอนย้ายพนักงานทุกคนไปทำงานที่สาขาแห่งอื่นของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ในขณะนั้นโดยให้พนักงานเลือกสาขาที่จะไปปฏิบัติงานตามความสะดวกคือที่โรงพยาบาลเปาโล จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลพญาไท 1 โรงพยาบาลพญาไท 2 หรือที่โรงพยาบาลพญาไท 3 กรุงเทพมหานคร การโอนย้ายดังกล่าวได้มีหนังสือแจ้งให้พนักงานหรือโจทก์ทั้งแปดสิบสองทราบแล้วว่ามิใช่เป็นกรณีการย้ายสถานประกอบกิจการอันมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 และการโอนย้ายไปนี้จำเลยที่ 1 จะมีเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านให้เดือนละ 1,000 บาท แต่เมื่อถึงวันที่ 18 กันยายน 2549 ที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทั้งแปดสิบสองแสดงความจำนง ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งแปดสิบสองแสดงความจำนง จำเลยที่ 1 จึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งแปดสิบสองไปทำงานที่โรงพยาบาลเปาโล จังหวัดสมุทรปราการ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งแปดสิบสองไปทำงานที่โรงพยาบาลเปาโล จังหวัดสมุทรปราการ จึงมาจากเหตุที่จำเลยที่ 1 หมดสัญญาอนุญาตให้บริการขายอาหารระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้เสนอให้โจทก์ทั้งแปดสิบสองเลือกไปทำงานในสาขาอื่นของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร โดยจะให้เงินช่วยเหลือเป็นค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,000 บาท เมื่อโจทก์ทั้งแปดสิบสองไม่เลือกและไม่แสดงความจำนงให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 จึงมีความจำเป็นต้องสั่งให้โจทก์ทั้งแปดสิบสองไปทำงานที่โรงพยาบาลเปาโล จังหวัดสมุทรปราการ ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิม ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาคดีของศาลแรงงานภาค 2 ว่า จำเลยที่ 1 ได้เจรจากับบริษัทโซเด็กซ์โซ่ ซัพพอร์ท เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ขอให้รับพนักงานเดิมของจำเลยที่ 1 เข้าทำงาน ซึ่งโจทก์ทั้งแปดสิบสองก็ได้สมัครเข้าทำงานกับบริษัทดังกล่าวต่อมาด้วยการให้ย้ายสถานที่ทำงานจึงมิได้เป็นการเลือกปฏิบัติหรือเป็นการกลั่นแกล้งและจำเลยที่ 1 ก็ได้หาวิธีเยียวยาความเดือดร้อนให้โจทก์ทั้งแปดสิบสอง และแม้ว่าการย้ายสถานที่ทำงานดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่โจทก์ทั้งแปดสิบสองมากขึ้นแต่ก็เป็นไปตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งแปดสิบสองกับจำเลยที่ 1 ซึ่งระบุในข้อ 4 ว่าจำเลยที่ 1 สามารถย้ายโจทก์ทั้งแปดสิบสองไปทำงานในสาขาอื่นของจำเลยที่ 1 ได้ทั่วราชอาณาจักรและจำเลยที่ 1 ก็ได้ให้เงินช่วยเหลือเป็นค่าเช่าบ้านคนละ 1,000 บาท การใช้สิทธิในการย้ายโจทก์ทั้งแปดสิบสองไปทำงานที่โรงพยาบาลเปาโล จังหวัดสมุทรปราการ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งแปดสิบสองมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะไปปฏิบัตงานหน่วยงานแห่งอื่นของจำเลยที่ 1 และไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ตามวันเวลาที่จำเลยที่ 1 กำหนด จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) และเป็นการละทิ้งการงานไปซึ่งจำเลยที่ 1 จะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควรจึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดสิบสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ทั้งแปดสิบสองจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งแปดสิบสองประการแรกนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับอุทธรณ์ประการสุดท้ายของโจกท์ทั้งแปดสิบสอง ซึ่งโจทก์ทั้งแปดสิบสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งแปดสิบสองทำงานอยู่ในโรงงานของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจจำหน่ายอาหารเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ให้ใช้สถานที่ อุปกรณ์ต่าง ๆ โดยไม่ได้เรียกเก็บจากจำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งแปดสิบสองด้วยนั้น เห็นว่า การจะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งแปดสิบสองหรือไม่ ย่อมไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 2 เรื่องการจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้ จึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน