แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์เป็นเอกชนเจ้าของที่ดินมือเปล่ายื่นฟ้องกรมที่ดิน กรณีโจทก์ถูกเอกชนด้วยกันบุกรุกที่ดินจึงได้ยื่นฟ้องบุคคลดังกล่าวเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี แต่จำเลยในคดีดังกล่าวและผู้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ กลับร่วมกันสมคบคิดด้วยเจตนาทุจริตนำหลักฐาน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ มาอ้างเป็นหลักฐานในการบุกรุกที่ดินบางส่วนของโจทก์ ทั้งในชั้นพิจารณาคดีของศาลจังหวัดเพชรบุรี ยังร่วมกันสมคบคิดด้วยเจตนาทุจริตนำชี้รังวัดที่ดินบริเวณดังกล่าวของโจทก์ว่าเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ เป็นเหตุให้มีการนำ น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว มาแย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องหรือยกเลิก น.ส. ๓ ก. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับไม่ดำเนินการ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ เห็นว่า คดีนี้ แม้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน โดยมีคำขอให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการฟ้องคดีนี้ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์อ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่จำเลยจะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้ ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติที่ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓๒/๒๕๕๗
วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดเพชรบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเพชรบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ นางกัญญานันท์ เก่าเงิน โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน จำเลย ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๖๓๐/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า ตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ ตำบลหนองหญ้าปล้อง กิ่งอำเภอหรืออำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ ๗๘ ไร่ ๑ งาน ๙๘ ตารางวา โดยซื้อที่ดินมาจากผู้มีชื่อตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ และครอบครองในฐานะเจ้าของมาด้วยความสงบและเปิดเผย แต่เมื่อปี ๒๕๔๗ นายชูฤทธิ์ ดวงพรหมเมศ กับพวก ได้บุกรุกที่ดินบางส่วนของโจทก์ โจทก์จึงยื่นฟ้องนายชูฤทธิ์ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๗๗๒/๒๕๔๗ ซึ่งต่อมาโจทก์ถอนฟ้องเพราะได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยนายชูฤทธิ์กับพวกตกลงเลิกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ ต่อมาในปี ๒๕๕๐ ดาบตำรวจเจียมศักดิ์ เตจ๊ะ และนายชูฤทธิ์ ดวงพรหมเมศ ได้บุกรุกที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงยื่นฟ้องดาบตำรวจเจียมศักดิ์และนายชูฤทธิ์ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๖๔๓/๒๕๕๑ แต่ดาบตำรวจเจียมศักดิ์ นายชูฤทธิ์ และผู้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ ตำบลหนองหญ้าปล้อง กิ่งอำเภอหรืออำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ได้ร่วมกันสมคบคิดด้วยเจตนาทุจริตนำหลักฐาน น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวมาอ้างเป็นหลักฐานในการบุกรุกที่ดินบางส่วนของโจทก์โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ อีกทั้งในชั้นพิจารณาคดีดังกล่าวของศาลจังหวัดเพชรบุรี บุคคลดังกล่าวได้ร่วมกันสมคบคิดด้วยทุจริตนำชี้รังวัดที่ดินบริเวณดังกล่าวของโจทก์ว่าเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ และยังได้นำหลักฐาน น.ส. ๓ แปลงอื่นมาอ้างว่าที่ดินบริเวณอื่นของโจทก์เป็นที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ ดังกล่าว ซึ่งโจทก์ได้ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอน น.ส. ๓ ดังกล่าว ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๖๖๗/๒๕๕๕ โดย น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ ที่นำมากล่าวอ้างมีรูปที่ดิน เขตติดต่อและเนื้อที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงและไม่ได้ตั้งอยู่ในที่ดินโจทก์ จึงเป็น น.ส. ๓ ก. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่เจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้มีการนำ น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว มาแย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยมีหน้าที่ต้องดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องหรือยกเลิก น.ส. ๓ ที่ไม่ชอบดังกล่าว แต่กลับไม่ดำเนินการใดๆ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ ตำบลหนองหญ้าปล้อง กิ่งอำเภอหรืออำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี
จำเลยให้การโดยสรุปว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ได้กระทำการใดๆ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ข้อกล่าวอ้างของโจทก์แท้จริงแล้วเป็นเรื่องการพิพาทหักล้างกันของพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยในคดีเดิมนำเข้าสืบหักล้างกันตามกฎหมายเพื่อให้ศาลใช้เป็นข้อเท็จจริงในการตัดสินคดี มิใช่เป็นการโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์และจำเลยในคดีนี้ นอกจากนี้ เมื่อศาลจังหวัดเพชรบุรีมีหนังสือขอให้ตรวจสอบที่ดินและทำแผนที่พิพาท เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วผลปรากฏว่าไม่มีการออกเอกสารสิทธิ์ซ้ำซ้อน จึงไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เนื่องจากเป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลจังหวัดเพชรบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นของบุคคลผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวงที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยกล่าวอ้างว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๓๖ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับกรณีคดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือบุคคลผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น เป็นเพียงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นประเด็นย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่า การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น และแม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีก็มิใช่เกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด และไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ห้ามศาลปกครองดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน หรือห้ามนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีหรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายเหล่านั้นมาวินิจฉัยข้อพิพาทของคดีไว้โดยเฉพาะ นอกจากนั้น บทบัญญัติมาตรา ๗๑ (๔) ก็บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในเรื่องสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์เป็นเอกชนเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า ตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ ตำบลหนองหญ้าปล้อง กิ่งอำเภอหรืออำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี โดยซื้อที่ดินมาจากผู้มีชื่อตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ และครอบครองในฐานะเจ้าของมาด้วยความสงบและเปิดเผย แต่ในปี ๒๕๕๐ ดาบตำรวจเจียมศักดิ์ เตจ๊ะ และนายชูฤทธิ์ ดวงพรหมเมศ ได้บุกรุกที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงยื่นฟ้องบุคคลดังกล่าวต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๖๔๓/๒๕๕๑ แต่จำเลยในคดีดังกล่าวและผู้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ ตำบลหนองหญ้าปล้อง กิ่งอำเภอหรืออำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ได้ร่วมกันสมคบคิดด้วยเจตนาทุจริตนำหลักฐาน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ มาอ้างเป็นหลักฐานในการบุกรุกที่ดินบางส่วนของโจทก์ อีกทั้งในชั้นพิจารณาคดีของศาลจังหวัดเพชรบุรี บุคคลดังกล่าวยังร่วมกันสมคบคิดด้วยทุจริตนำชี้รังวัดที่ดินบริเวณดังกล่าวของโจทก์ว่าเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ แต่ น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวมีรูปที่ดิน เขตติดต่อและเนื้อที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงและไม่ได้ตั้งอยู่ในที่ดินโจทก์ จึงเป็น น.ส. ๓ ก. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่เจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้มีการนำ น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว มาแย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยมีหน้าที่ต้องดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องหรือยกเลิก น.ส. ๓ ก. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว แต่กลับไม่ดำเนินการใดๆ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ ตำบลหนองหญ้าปล้อง กิ่งอำเภอหรืออำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ส่วนจำเลยให้การโดยสรุปว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรีโดยตรวจสอบแล้วผลปรากฏว่าไม่มีการออกเอกสารสิทธิ์ซ้ำซ้อน จึงไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ เห็นว่า คดีนี้ แม้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน โดยมีคำขอให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการฟ้องคดีนี้ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์อ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่จำเลยจะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติที่ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ดินส่วนหนึ่ง ของ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ประกอบกับคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ยื่นฟ้องเอกชนด้วยกันต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๖๔๓/๒๕๕๑ โดยอ้างว่าจำเลยในคดีดังกล่าวบุกรุกที่ดินโจทก์อ้างว่าเป็นที่ดินของโจทก์ในคดีนี้โดยนำหลักฐาน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๖ มาอ้างเป็นหลักฐานในการบุกรุกที่ดินโจทก์ ซึ่งมีประเด็นแห่งคดีเดียวกับคดีนี้ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงชอบที่จะพิจารณาพิพากษาในศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางกัญญานันท์ เก่าเงิน โจทก์ กรมที่ดิน จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ