แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 35เป็นบทบัญญัติในเรื่องริบของกลางที่ใช้หรือได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ แต่เมื่อมีผู้ร้องขอให้สั่งคืนของกลางที่ศาลสั่งริบไปแล้ว พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 ประกอบด้วยมาตรา17 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไป
ย่อยาว
คดีนี้ สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ และพระราชบัญญัติป่าไม้ฯและริบกระบือ ๒ ตัว ล้อ ๑ เล่ม ที่จำเลยใช้กระทำผิดเป็นของกลางนายยงศ์ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องว่า กระบือและล้อที่ศาลชั้นต้นสั่งริบเป็นของผู้ร้องให้จำเลยเช่า ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการที่จำเลยกระทำความผิด ขอให้คืนกระบือกับล้อให้ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้คืนกระบือ ๒ ตัว และล้อ ๑ เล่มของกลางให้ผู้ร้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมาว่า แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ากระบือและล้อของกลางเป็นของผู้ร้อง และผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของจำเลยก็ต้องริบตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๓๕โดยเคร่งครัด จะนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗ และมาตรา ๓๖มาใช้บังคับไม่ได้
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗มาตรา ๓๕ เป็นบทบัญญัติในเรื่องริบของกลางที่ใช้หรือได้มาโดยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ แต่เมื่อมีผู้มาร้องขอให้สั่งคืนของกลางที่ศาลสั่งริบไปแล้ว พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ไม่มีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖ ประกอบด้วยมาตรา ๑๗ ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่แน่ชัดว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดของจำเลยในคดีนี้ ศาลก็ย่อมมีอำนาจสั่งคืนของกลางให้แก่ผู้ร้องได้
พิพากษายืน