คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1071/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์เก๋งรับจ้างสาธารณะ คันหมายเลขทะเบียน 1 ท-3725 และนำไปวิ่งร่วมกับจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างสาธารณะคันดังกล่าวเป็นประจำ หรือจำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่1 เชิดจำเลยที่ 3 ออกแสดงเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1โดยการขับรถยนต์สาธารณะคันดังกล่าว ซึ่งมีตรา หรือเครื่องหมายอันเป็นสัญญลักษณ์ของจำเลยที่ 3 ติดอยู่ที่ประตูด้านหลังของรถยนต์คันดังกล่าวและยังบรรยายฟ้องต่อไปอีกว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการใช้รถยนต์คันดังกล่าวรับจ้างขนส่งผู้โดยสาร จำเลยที่2 จึงต้อง ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ด้วยแสดงให้เห็นว่านอกจากโจทก์ฟ้อง ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดฐานนายจ้างของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ยังฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะจำเลยที่ 3 เชิดให้ จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการรับประกันวินาศภัย โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน ๒ ก-๙๘๕๓ กรุงเทพมหานครจากนายแสงชัย ชัยเชาวรัตน์ ในประเภทชดใช้ค่าเสียหายโดยสิ้นเชิง อายุสัญญาประกันภัย ๑ ปี นับตั้งแต่วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๒๒ ถึงวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๒๓จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของรถยนต์เก๋งรับจ้างสาธารณะคันหมายเลขทะเบียน ๑ ท-๓๗๒๕กรุงเทพมหานคร และได้นำไปวิ่งร่วมกับจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีวัตถุประสงค์ในการรับขนคนโดยสาร จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างสาธารณะคันดังกล่าวหรือจำเลยที่ ๓ ยอมให้จำเลยที่ ๑เชิดจำเลยที่ ๓ ออกแสดงเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ โดยการขับรถยนต์สาธารณะคันดังกล่าวมีตราหรือเครื่องหมายอันเป็นสัญญลักษณ์ของจำเลยที่ ๓ ติดอยู่ที่ประตูด้านหลังของรถยนต์คันดังกล่าว โดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีผลประโยชน์ร่วมกัน ขณะเกิดเหตุคดีนี้ เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๒ เวลาประมาณ ๑๔.๒๐ นาฬิกา จำเลยที่ ๑ ขณะปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างหรือในกิจการของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ขับรถยนต์เก๋งรับจ้างคันดังกล่าวไปตามถนนพระราม ๔ จากด้านคลองเตยโฉมหน้าไปทางแยกศาลาแดงด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เมื่อขับรถมาถึงบริเวณสี่แยกวิทยุ ได้เลี้ยวขวาเพื่อจะกลับรถไปทางด้านคลองเตยที่เกาะกลางถนนด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้รถยนต์คันดังกล่าวพุ่งเข้าชนรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน ๒ ก-๙๘๕๓ ของนายแสงชัยซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายในระหว่างอายุประกันภัย โจทก์ได้จ่ายค่าซ่อมเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาทจึงได้รับช่วงสิทธิ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ๓๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างหรือถูกว่าจ้างจากจำเลยที่ ๒รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๑ ท-๓๗๒๕ เป็นของจำเลยที่ ๒ จริง แต่จำเลยที่ ๑เช่าไปเป็นรายวัน จำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำการตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จำเลยที่ ๒ เข้าร่วมกับจำเลยที่ ๓ ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยซึ่งบังคับให้รถยนต์รับจ้างคนโดยสารสาธารณะประกอบกิจการค้าในรูปของสหกรณ์เท่านั้นจำเลยที่ ๒ ต้องชำระค่าใช้สิทธิของจำเลยที่ ๓ เป็นรายเดือน จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างและไม่ได้ขับขี่รถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จำเลยที่ ๓ ไม่ได้มีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ ๒ เหตุที่รถยนต์ชนกันเป็นเพราะนายแสงชัยขับด้วยความประมาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าเสียหาย ๓๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ร่วมกันรับผิด ใช้ค่าเสียหายร่วมกับจำเลยที่ ๑ ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกาว่า คำบรรยายฟ้องของโจทก์ ไม่ได้บรรยายเกี่ยวกับตัวการตัวแทน ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๓ ในเรื่องตัวการแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๘๒๑ ประกอบด้วยมาตรา ๔๒๗ จึงเป็นการพิพากษานอกฟ้องไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องข้อ ๑ วรรคสุดท้ายไว้โดยชัดแจ้งว่า จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของรถยนต์เก๋งรับจ้างสาธารณะคันหมายเลขทะเบียน ๑ ท-๓๗๒๕ และนำไปวิ่งร่วมกับจำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างสาธารณะคันดังกล่าวเป็นประจำ หรือจำเลยที่ ๓ ยอมให้จำเลยที่ ๑ เชิดจำเลยที่ ๓ ออกแสดงเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ โดยการขับรถยนต์สาธารณะคันดังกล่าวซึ่งมีตราหรือเครื่องหมายอันเป็นสัญญลักษณ์ของจำเลยที่ ๓ ติดอยู่ที่ประตูด้านหลังของรถยนต์คันดังกล่าวและยังบรรยายฟ้องต่อไปอีกว่า จำเลยที่ ๒และที่ ๓ มีผลประโยชน์ร่วมกันในการใช้รถยนต์คันดังกล่าวรับจ้างขนส่งผู้โดยสารจำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๓ ด้วย แสดงให้เห็นว่านอกจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รับผิดฐานเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ แล้ว โจทก์ยังฟ้องขอให้จำเลยที่ ๓ รับผิดในฐานะจำเลยที่ ๓ เชิดให้จำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๓ ด้วย เมื่อคดีได้ความว่า จำเลยที่ ๓ ยอมให้จำเลยที่ ๑ นำรถยนต์รับจ้างสาธารณะคันเกิดเหตุออกวิ่งรับคนโดยสารในนามสหกรณ์แท็กซี่กรุงเทพ จำกัดซึ่งเป็นชื่อของจำเลยที่ ๓ โดยเปิดเผย โดยจำเลยที่ ๓ มีผลประโยชน์จากจำเลยที่ ๒ผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว เท่ากับจำเลยที่ ๓ เชิดให้จำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๓ นั่นเอง บุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจว่าจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ประกอบการเดินรถยนต์รับจ้างสาธารณะรับบรรทุกคนโดยสารในกิจการของจำเลยที่ ๓ เองจำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ครอบครองรถยนต์รับจ้างสาธารณะคันดังกล่าวและได้นำเข้าวิ่งร่วมกับจำเลยที่ ๓ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๓ ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันรับผิดในเรื่องตัวการตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๑ ประกอบมาตรา ๔๒๗ จึงเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีโดยตรง หาเป็นการพิจารณานอกฟ้องดังจำเลยฎีกาไม่
พิพากษายืน

Share