คำวินิจฉัย(คำสั่ง)ที่ 16/2551

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๑๖/๒๕๕๑

วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑

เรื่อง พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา๑๗

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๐ นายไพโรจน์ ภิญโญสรศักดิ์ โจทก์ยื่นฟ้องนายภูวฤทธิ์ภิญโญสรศักดิ์ ที่ ๑ นางสาวนนทญ พันวินิต ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ นางกัญญา ยิ่งรัตนวิทย์ ที่ ๔จำเลยต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๖๑๘/๒๕๕๐ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๖๗๓๐ ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เมื่อประมาณต้นปี ๒๕๔๘ นางสิริสินี เจริญฤทธิ์ ปลอมหนังสือมอบอำนาจทั้งฉบับโดยปลอมลายมือชื่อโจทก์ในช่องผู้มอบอำนาจในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจทั่วไป พร้อมทั้งกรอกข้อความและรายละเอียดลงในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจ ซึ่งโจทก์ไม่ได้รู้เห็นยินยอม มอบหมายหรือสั่งการใด ๆ ว่ายื่นคำขอถ่ายและรับรอง โฉนดที่ดิน และยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๖๗๓๐ ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อเจ้าหน้าที่ และยินยอมให้ผู้รับมอบอำนาจรับประกาศการออกใบแทนและปิดประกาศบริเวณที่ดินได้ด้วย และมอบอำนาจให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ นางสิริสินีนำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวยื่นต่อจำเลยที่ ๔ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินสังกัดจำเลยที่ ๓ ขอออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๖๗๓๐ จำเลยที่๔ ทำนิติกรรมรับเรื่องขอออกใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวและออกโฉนดใบแทนให้แก่นางสิริสินีด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนรวมทั้งลายมือชื่อโจทก์ที่แท้จริงให้ถูกต้องเสียก่อนทำให้นางสิริสินีได้ไปซึ่งโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๖๗๓๐ ฉบับใบแทน ถือได้ว่าจำเลยที่ ๔ ร่วมกับนางสิริสินีทำการออกโฉนดฉบับใบแทนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โฉนดฉบับจริงโจทก์ยังคงเก็บรักษาไว้จนถึงปัจจุบันต่อมานางสิริสินีปลอมลายมือชื่อโจทก์ในช่องผู้มอบอำนาจในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจทั่วไปกรอกข้อความและรายละเอียดในหนังสือมอบอำนาจโดยโจทก์ไม่ได้รู้เห็นยินยอมว่าโจทก์ยินยอมให้นางสิริสินีถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าวจำนวน ๑ ส่วนใน ๒ ส่วนไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างโดยมีค่าตอบแทน แล้วนำไปยื่นต่อจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๔ ยินยอมทำนิติกรรมให้ที่ดินแก่นางสิริสินีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม ๑ ส่วนใน ๒ ส่วน จากนั้นนางสิริสินีปลอมหนังสือมอบอำนาจขึ้นทั้งฉบับโดยปลอมลายมือชื่อโจทก์ในช่องผู้มอบอำนาจระบุว่าโจทก์ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตน แล้วนำหนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าวยื่นต่อจำเลยที่ ๔ เพื่อให้จำเลยที่ ๔ ทำนิติกรรมขายที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ให้แก่นางสิริสินีจนจำเลยที่ ๔ ดำเนินการให้ จึงทำให้นางสิริสินีเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนด ใบแทนแต่เพียงผู้เดียว ต่อมานางสิริสินีนำที่ดินดังกล่าวจดทะเบียนขายฝากแก่นายไพฑูรย์ จันทรเสรีกุล มีกำหนด ๖ เดือน จากนั้นเมื่อนางสิริสินีไถ่ถอนการขายฝากแล้วจึงทำนิติกรรมขายฝากให้แก่จำเลยที่ ๒ การกระทำของนางสิริสินีในการปลอมเอกสารสิทธิ์ของโจทก์แล้วนำไปทำนิติกรรมขอออกใบแทน ให้ ขายและขายฝากนั้นล้วนเป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆะ นางสิริสินีจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและไม่มีสิทธิ์นำที่ดินไปทำนิติกรรมขายฝากให้แก่จำเลยที่ ๒ ต่อมานางสิริสินีถึงแก่ความตาย โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสิริสินีและจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้รับซื้อฝากเพื่อให้เพิกถอนนิติกรรมต่าง ๆ แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพิกเฉย จำเลยที่ ๓ ในฐานะของผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๔ ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ โจทก์เสียหายขาดประโยชน์จากการนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปทำประโยชน์หรือหากนำออกให้บุคคลอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ ๕๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการออกใบแทนโฉนด การให้ การขาย การขายฝากโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๖๗๓๐ หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เดือนละ ๕๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะเพิกถอนนิติกรรมให้เสร็จสิ้น และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือยกเลิกโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๖๗๓๐ ฉบับใบแทนและให้ใช้โฉนดที่ดินเดิมซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์
ศาลมีคำสั่งรับฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ไม่รับฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๔เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ ๒ รับซื้อฝากที่ดินโฉนดเลขที่๘๖๗๓๐ จากนางสิริสินีโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อของโจทก์ หากนางสิริสินีกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโดยโจทก์ไม่รู้เห็นยินยอมก็ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ ๒ เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายย่อมได้รับความคุ้มครอง เมื่อการขายฝากที่ดินดังกล่าวครบกำหนดนางสิริสินีหรือทายาทไม่ไถ่ถอนจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ขณะจดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินพิพาทมีสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านตึกชั้นเดียวของโจทก์ปลูกสร้างอยู่ จำเลยที่ ๒ บอกกล่าวให้โจทก์รื้อถอน แต่โจทก์เพิกเฉย เป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ ๒ และทำให้จำเลยที่ ๒ ได้รับความเสียหายไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ขอให้ยกฟ้องและขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๒ เดือนละ ๕๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดจำเลยที่ ๓ ได้ปฏิบัติตามระเบียบของกฎหมาย ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ นางสิริสินีกับจำเลยที่ ๔ ไม่รู้จักกันมาก่อน ไม่มีเหตุที่จะให้ความช่วยเหลือ การออกโฉนดใบแทนจึงชอบด้วยกฎหมาย การจดทะเบียนนิติกรรมต่าง ๆ หลังจากออกโฉนดใบแทนของจำเลยที่ ๔ เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่และระเบียบข้อกฎหมายครบถ้วนถูกต้องจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ การที่จำเลยที่ ๒ รับซื้อฝากไว้ไม่ว่าจะเสียค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริต จำเลยที่ ๒ ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การฟ้องคดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นการฟ้องว่าจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย โดยจำเลยที่ ๓ ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในฐานะหน่วยงานทางปกครอง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ ๔ คดีของโจทก์จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยที่ ๓ เป็นหน่วยงานของรัฐ โดยมีฐานะเป็นกรมมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทยพ.ศ. ๒๕๔๕ คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนฟ้องจำเลยอื่นซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน โดยฟ้องจำเลยที่ ๑ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสิริสินี หรือนางสายสินี เจริญฤทธิ์ ซึ่งโจทก์กล่าวอ้างว่านางสิริสินีเป็นตัวการในการปลอมหนังสือมอบอำนาจและไปทำนิติกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ และฟ้องจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้รับซื้อฝาก ขอให้ร่วมกันจดทะเบียน เพิกถอนนิติกรรมการออกใบแทนโฉนด การให้ การขายการขายฝากที่ดินของโจทก์ จึงเป็นการที่โจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๓ ให้การว่า การกระทำของจำเลยที่ ๔ ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ เป็นไปตามระเบียบขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย ในการวินิจฉัยข้อพิพาทดังกล่าว ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่านางสิริสินีปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ดำเนินการให้มีการออกใบแทนโฉนดที่ดินและทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวตามฟ้องหรือไม่ หากฟังว่านางสิริสินีไม่ได้ปลอมหนังสือมอบอำนาจ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริง ก็ไม่มีกรณีที่ต้องวินิจฉัยถึงการกระทำของจำเลยที่ ๔ ในฐานะเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนของจำเลยที่ ๓ ว่ากระทำละเมิดหรือไม่หรือหากศาลฟังว่าหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอมก็ยังคงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าวเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์หรือไม่ จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทและการจดทะเบียนเพื่อเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน รวมทั้งการจดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของจำเลยที่ ๔ ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ดังนั้นจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นหน่วยงานทางปกครองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามลำดับ กรณีพิพาทดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่มีการฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง และกระทำละเมิดต่อโจทก์จนได้รับความเสียหาย เป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยจำเลยที่ ๓ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดชอบต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ของตน ตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ และแม้คดีจะฟังความได้เช่นเดียวกับความเห็นของศาลแพ่งก็ตาม โจทก์เป็นเอกชนฟ้อง จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน แต่เมื่อพิจารณาตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์มีความประสงค์ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองมีอำนาจตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑)แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้ผลของคำพิพากษาจะเป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ก็เป็นการเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกรณีพิพาทดังกล่าวมิได้เป็นกรณีพิพาทว่า ที่ดินแปลงโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๖๗๓๐ เป็นของโจทก์หรือของนางสิริสินี ส่วนการปลอมแปลงหนังสือมอบอำนาจก็เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก่อนจดทะเบียนนิติกรรมพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจและหน้าที่ในการสอบสวนคู่กรณีและเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ตามความจำเป็นตามมาตรา ๗๔ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และหากเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ปฏิเสธไม่จดทะเบียนให้แก่คู่กรณีได้ และหากภายหลังจากจดทะเบียนไปแล้วพบว่า การจดทะเบียนไม่ชอบด้วยกฎหมายอธิบดีหรือรองอธิบดีกรมที่ดินซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้ ตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายเดียวกัน หากพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนไปโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เกี่ยวข้องเสียหายก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายด้วย ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ต่อมา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ ศาลแพ่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำเลยที่ ๓

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การพิจารณาประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลเป็นประโยชน์อีกต่อไปหรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๖๗๓๐ ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร ถูกนางสิริสินีปลอมหนังสือมอบอำนาจทั้งฉบับและยื่นต่อจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินสังกัดจำเลยที่ ๓ ขอออกใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ ๔ ออกโฉนดใบแทนให้แก่นางสิริสินีด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนรวมทั้งลายมือชื่อโจทก์ที่แท้จริงให้ถูกต้องเสียก่อนอันเป็นการร่วมกันกับนางสิริสินีทำการออกโฉนดฉบับใบแทนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่โฉนดฉบับจริงโจทก์ยังคงเก็บรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน ต่อมานางสิริสินีปลอมหนังสือมอบอำนาจยื่นต่อจำเลยที่ ๔ ว่าโจทก์ให้ถือกรรมสิทธิ์รวม ๑ ส่วนใน ๒ ส่วน จำเลยที่ ๔ ยินยอมทำนิติกรรมให้ที่ดินแก่นางสิริสินีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม ๑ ส่วนใน ๒ ส่วน จากนั้นนางสิริสินีปลอมหนังสือมอบอำนาจขึ้นทั้งฉบับยื่นต่อจำเลยที่ ๔ ว่าโจทก์ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนจนนางสิริสินีเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดใบแทนแต่เพียงผู้เดียว นางสิริสินีนำที่ดินดังกล่าวจดทะเบียนขายฝากแก่ผู้มีชื่อแล้วจึงทำนิติกรรมขายฝากให้แก่จำเลยที่ ๒ ต่อมานางสิริสินีถึงแก่ความตาย โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสิริสินีและจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้รับซื้อฝากเพิกถอนนิติกรรมต่าง ๆ แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพิกเฉยจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๔ ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการออกใบแทนโฉนด การให้ การขาย การขายฝากโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๖๗๓๐ หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือยกเลิกโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๖๗๓๐ ฉบับใบแทนและให้ใช้โฉนดที่ดินเดิมซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ จำเลยที่ ๒ ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ ๒ รับซื้อฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๖๗๓๐ โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ขณะจดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินพิพาทมีสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านตึกชั้นเดียวของโจทก์ปลูกสร้างอยู่ จำเลยที่ ๒ บอกกล่าวให้โจทก์รื้อถอน แต่โจทก์เพิกเฉย เป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ ๒ และทำให้จำเลยที่ ๒ ได้รับความเสียหายไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน ขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่๓ ให้การว่า การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดจำเลยที่ ๓ ได้ปฏิบัติตามระเบียบของกฎหมาย ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ นางสิริสินีกับจำเลยที่ ๔ ไม่รู้จักกันมาก่อน ไม่มีเหตุที่จะให้ความช่วยเหลือการออกโฉนดใบแทนจึงชอบด้วยกฎหมาย การจดทะเบียน นิติกรรมต่าง ๆ หลังจากออกโฉนดใบแทนของจำเลยที่ ๔ เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่และระเบียบข้อกฎหมายครบถ้วนถูกต้อง จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล ทั้งสองศาลมีความเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลตนซึ่งเป็นความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล จึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัย ต่อมาเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ ซึ่งยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล และศาลแพ่งได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ แล้ว การพิจาณาประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลตามคำร้องของจำเลยที่ ๓ จึงไม่เป็นประโยชน์ที่คณะกรรมการจะพิจารณาอีกต่อไป
จึงมีคำสั่งว่า การพิจารณาประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลตามคำร้องของกรมที่ดินจำเลยที่ ๓ ไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป อาศัยข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๓) ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน
??

??

??

??

Share