แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๑๗/๒๕๕๑
วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑
เรื่อง การยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพ.ศ. ๒๕๔๒
คำสั่งศาลฎีกา
ระหว่าง
คำสั่งศาลปกครองสูงสุด
การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ
นายกฤษศักดา วัฒนพงษ์ ผู้ร้อง โดยนายอุดร ชัยศรี ผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งว่าคดีของผู้ร้องอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด และให้มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งให้ศาลดังกล่าวรับคดีของผู้ร้องไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งตามรูปคดี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
ข้อเท็จจริงในคดี
นายกฤษศักดา วัฒนพงษ์ ผู้ร้อง โดยนายอุดร ชัยศรี ผู้รับมอบอำนาจได้ยื่นคำร้องลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งว่าคดีของผู้ร้องอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด และให้มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งให้ศาลดังกล่าวรับคดีของผู้ร้องไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งตามรูปคดี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ความว่า เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๑ ผู้ร้องกับพวก รวม ๘ คน ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเป็นคดีหมายเลขดำที่ ลต.๕/๒๕๕๑ ว่า เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๐ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้คัดค้าน ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปพ.ศ. ๒๕๕๐ กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ และได้ออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องกำหนดวันและเวลาลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ณ ที่เลือกตั้งกลาง ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ เป็นวันที่ ๑๕ และ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๐ การเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งดังกล่าวมีการอนุญาตไว้ล่วงหน้าการลงคะแนนเสียงและอนุญาตหลังจากลงคะแนนเสียงแล้วโดยไม่มีการตรวจสอบหรือสอบสวนถึงความจำเป็นในการที่จะลงคะแนนเสียงล่วงหน้าและได้ดำเนินการทั่วประเทศ เช่นการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งที่ ๖ กรุงเทพมหานคร ที่มีการจัดเตรียมแบบฟอร์มเป็นแบบคำขอลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าและประธานกรรมการประจำที่เลือกตั้งกลางลงลายมือชื่ออนุญาตให้ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าได้วางเรียงบนชั้นเป็นจำนวนมาก ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเพียงแต่หยิบแบบคำขอใช้สิทธิลงคะแนนล่วงหน้าดังกล่าวแล้วนำไปกรอกข้อความลงลายมือชื่อเท่านั้น โดยไม่มีการสอบสวนและวินิจฉัยอนุญาตตามขั้นตอนของกฎหมาย และเขตเลือกตั้งที่ ๗ กรุงเทพมหานคร ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเพียงแต่หยิบแบบฟอร์มเปล่าแล้วนำไปกรอกข้อความลงลายมือชื่อแล้วลงคะแนนเลือกตั้งโดยไม่ได้รับการสอบสวนหรือวินิจฉัยแล้วอนุญาตจากประธานกรรมการประจำที่เลือกตั้งกลางก่อน การเลือกตั้งล่วงหน้าดังกล่าวจึงเป็นกรณีไม่มีการตรวจสอบตามมาตรา ๙๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๐ ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะเดินทางไปนอกเขตเลือกตั้งไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ในวันเลือกตั้งมีการขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งมอบหมาย และคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งมอบหมายได้ตรวจสอบว่าผู้ที่มาขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งว่ามีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นหรือไม่ และต้องตรวจสอบว่าผู้ที่มาใช้สิทธิดังกล่าวที่แจ้งความประสงค์ไว้มีกรณีดังที่แจ้งความประสงค์ไว้หรือไม่ เมื่อปรากฏว่าตรวจสอบผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่แจ้งความประสงค์ขอเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตถ้าถูกต้องคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตต้องกำหนดที่เลือกตั้งกลางที่ผู้นั้นจะใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต และจะต้องแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ผู้นั้นมีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบ และคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตจะต้องหมายเหตุสถานที่ที่ผู้นั้นจะไปใช้สิทธิในเอกสารที่เกี่ยวข้องแต่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการดังกล่าว การเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งประเทศจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยมาตรา ๙๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ เปิดโอกาสให้มีการทุจริตการเลือกตั้งอย่างสะดวก ไม่มีระบบควบคุมตรวจสอบเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งมาลงคะแนนเลือกตั้งได้โดยไม่จำกัดจำนวนและเป็นการดำเนินการทั่วประเทศเท่ากับว่าเป็นการเลือกตั้งทั่วไปนอกเหนือจากวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ และเป็นการเลือกตั้งทั่วไปถึง ๓ วันขัดกับพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ เมื่อนำบัตรลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตทั่วประเทศดังกล่าวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและสุจริตและเที่ยงธรรมดังกล่าวมารวมกับการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ แล้ว ทำให้การเลือกตั้งในที่ ๒๓ธันวาคม ๒๕๕๐ ไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยพระราชกฤษฎีกาและไม่สุจริตและเที่ยงธรรมเพราะการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้งเมื่อวันที่๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ซึ่งไม่สามารถแบ่งแยกจากกันได้ ขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรล่วงหน้า ในวันที่ ๑๕ และ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๐ ทั่วประเทศ และเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ทั่วประเทศเพิกถอนการรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรองในการเลือกตั้งวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ และให้ระงับหรือยกเลิกการรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสำหรับรายที่ยังไม่ได้รับรอง ศาลฎีกามีคำสั่งที่ ๙๑/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๑ ให้ยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่าคำร้องของผู้ร้องเป็นกรณีที่อ้างว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นดำเนินการไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๑๔ บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองซึ่งมีสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่งมีสิทธิยื่นคัดค้านต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด และเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับคำคัดค้านการเลือกตั้งให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงโดยพลัน ในขั้นตอนนี้บทบัญญัติแห่งกฎหมายมิได้ให้อำนาจศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย หากแต่เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยเฉพาะ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนการเลือกตั้งล่วงหน้าณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งในวันที่ ๑๕ และวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๐ ทั่วประเทศ และเพิกถอนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ กับเพิกถอนการรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรองในการเลือกตั้งวันที่ ๒๓ธันวาคม ๒๕๕๐ ได้ ผู้ร้องกับพวกรวม ๘ คน จึงนำคดีไปฟ้องยังศาลปกครองสูงสุดโดยอ้างด้วยว่าศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคดีของผู้ร้อง ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ ฟ.๒๖/๒๕๕๑ ลงวันที่๒ เมษายน ๒๕๕๑ ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความโดยวินิจฉัยว่า แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงจากคำฟ้องและเอกสารประกอบคำฟ้องคดีนี้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดเคยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา โดยมีข้อเท็จจริงเดียวกับคำฟ้องนี้ แต่ศาลฎีกาได้มีคำสั่งที่ ๙๑/๒๕๕๑ ให้ยกคำร้อง แต่เมื่อพิจารณาคำสั่งของศาลฎีกาดังกล่าวแล้วเห็นได้ว่า ศาลฎีกามิได้มีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากเห็นว่า คดีดังกล่าวมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและมิได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแต่อย่างใด แต่เห็นว่าเป็นการคัดค้านการเลือกตั้งตามบทบัญญัติในส่วนที่ ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งผู้ร้องชอบที่จะไปยื่นคัดค้านต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมิใช่ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพ.ศ. ๒๕๔๒ โดยส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัย
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คำร้องของผู้ร้องทั้งสองชอบด้วยพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำร้องสรุปได้ว่า ผู้ร้องกับพวกรวม๘ คน ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเป็นคดีหมายเลขดำที่ ลต.๕/๒๕๕๑ ขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรล่วงหน้า ในวันที่ ๑๕ และ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๐ ทั่วประเทศ และเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป ในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ทั่วประเทศเพิกถอนการรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรองในการเลือกตั้งวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ และให้ระงับหรือยกเลิกการรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสำหรับรายที่ยังไม่ได้รับรอง โดยอ้างว่า การเลือกตั้งล่วงหน้า ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ และ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๐ เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบ ไม่มีการควบคุมตรวจสอบ โดยมีการอนุญาตไว้ล่วงหน้าการลงคะแนนเสียงและอนุญาตหลังจากลงคะแนนเสียงแล้ว ไม่เป็นไปตามมาตรา ๙๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๐ เปิดโอกาสให้มีการทุจริตการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งล่วงหน้าดังกล่าวไม่สุจริตเที่ยงธรรม เมื่อนำบัตรลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตทั่วประเทศดังกล่าวมารวมกับการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๓ธันวาคม ๒๕๕๐ แล้ว ทำให้การเลือกตั้งในที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วย พระราชกฤษฎีกาและไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ศาลฎีกามีคำสั่งที่๙๑/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๑ ให้ยกคำร้อง โดยวินิจฉัยว่า คำร้องของผู้ร้องเป็นกรณีที่อ้างว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นดำเนินการไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๑๔ บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองซึ่งมีสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่งมีสิทธิยื่นคัดค้านต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด และเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับคำคัดค้านการเลือกตั้งให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงโดยพลันในขั้นตอนนี้บทบัญญัติแห่งกฎหมายมิได้ให้อำนาจศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยหากแต่เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยเฉพาะ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนการเลือกตั้งล่วงหน้า ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งในวันที่๑๕ และวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๐ ทั่วประเทศ และเพิกถอนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๓ธันวาคม ๒๕๕๐ กับเพิกถอนการรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรองในการเลือกตั้งวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ได้ ผู้ร้องกับพวกรวม ๘ คน จึงนำคดีไปฟ้องยังศาลปกครองสูงสุดโดยอ้างด้วยว่าศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคดีของผู้ร้องศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ ฟ.๒๖/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๑ ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความโดยวินิจฉัยว่า แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงจากคำฟ้องและเอกสารประกอบคำฟ้องคดีนี้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งแปดเคยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา โดยมีข้อเท็จจริงเดียวกับคำฟ้องนี้ แต่ศาลฎีกาได้มีคำสั่งที่ ๙๑/๒๕๕๑ ให้ยกคำร้อง แต่เมื่อพิจารณาคำสั่งของศาลฎีกาดังกล่าวแล้วเห็นได้ว่า ศาลฎีกามิได้มีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากเห็นว่า คดีดังกล่าวมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและมิได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแต่อย่างใด แต่เห็นว่าเป็นการคัดค้านการเลือกตั้งตามบทบัญญัติในส่วนที่ ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งผู้ร้องชอบที่จะไปยื่นคัดค้านต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมิใช่ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัย ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งว่าคดีของผู้ร้องอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด และให้มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งให้ศาลดังกล่าวรับคดีของผู้ร้องไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งตามรูปคดีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้ามีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน จนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความขัดแย้งในเรื่องฐานะหรือความสามารถของบุคคล คู่ความ หรือบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าวได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ออกภายหลังถึงที่สุด ดังนั้น คดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน และจะส่งให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลนั้นขัดแย้งกัน โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกันแต่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลสองศาลต่างระบบแล้ว และศาลทั้งสองศาลนั้นมีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดในประเด็นของเนื้อหาแห่งคดีแตกต่างกันด้วย จนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ปรากฏว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลฎีกา (คำสั่งที่ ๙๑/๒๕๕๑) และคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดของศาลปกครองสูงสุด (คำสั่งที่ ฟ. ๒๖/๒๕๕๑) ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างนั้นเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดที่ศาลมิได้วินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาของคดีแต่อย่างใด ดังนั้น การยื่นคำร้องของผู้ร้องในเรื่องนี้หาใช่การยื่นคำร้องในความหมายของมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ไม่ นอกจากนั้น หากวินิจฉัยให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลใด ศาลหนึ่ง ซึ่งต่างไม่รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา ก็ไม่ทำให้คดีได้รับการพิจารณาโดยศาลนั้นทั้งการยกคำร้องของศาลฎีกาก็ยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาของเรื่องเขตอำนาจศาลว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองแต่อย่างใด กรณีจึงไม่เป็นเหตุให้ศาลปกครองสูงสุดต้องจัดทำความเห็นและส่งเรื่องให้คณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยในประเด็นของเรื่องเขตอำนาจศาลตามมาตรา ๑๒ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ เช่นกันดังนั้นกฎหมายว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลจึงไม่อาจบังคับใช้กับประเด็นปัญหาตามคำร้องของผู้ร้องได้ คณะกรรมการจึงไม่อาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา
จึงมีคำสั่งว่า คำร้องของผู้ร้องไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ อาศัยข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ๒๘ ให้ยกคำร้องนี้เสีย
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
??
??
??
??
๗