แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๘/๒๕๕๑
วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๑
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒)
ศาลปกครองเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเชียงใหม่
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันระหว่างศาลปกครองเชียงใหม่และศาลจังหวัดเชียงใหม่ให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๐ นายศักดา บุญมา ที่ ๑ ดาบตำรวจ ปรีชา รัตนมณี ที่ ๒ นายดวงเกตุ วงค์ปัญญา ที่ ๓ นายยงยุทธ คำวัง ที่ ๔ นายบุญเลื่อน ตุ่นทรายคำ ที่ ๕ นายนิคม หาญกล้า ที่ ๖ นายทวี รัตนมณี ที่ ๗ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าวังตาล ที่ ๑ นายอำเภอสารภี ที่ ๒ กำนันตำบลท่าวังตาล ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๑/๒๕๕๐ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดมีบ้านพักอาศัยอยู่ที่บ้านหางแคว หมู่ที่ ๑๒ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ได้ใช้ประโยชน์จากลำเหมืองสาธารณประโยชน์ชื่อลำเหมืองอุ้ยชื่น หมู่ที่ ๑๒ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่เพื่อใช้เป็นที่ระบายน้ำและเพาะปลูก สภาพของลำเหมืองในส่วนที่พิพาทแยกออกมาจากลำเหมืองสาธารณประโยชน์ (ลำเหมืองเก๊าเดื่อ) กว้างประมาณ ๑ เมตร ยาวประมาณ ๑๘๐ เมตรมีน้ำไหลผ่านตลอดปีมาเป็นเวลาประมาณ ๕๐ ปีเศษแล้ว ประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๔๙ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบบุกรุกครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ (สันเหมือง)เป็นของตนเองและถมดินบริเวณดังกล่าวและในลำเหมืองพิพาทและปรับดินให้อยู่ในระดับเดียวกับที่ดินสันเหมือง ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากลำเหมืองได้ ต่อมาวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ เพื่อขอให้แก้ไขความเดือดร้อนเสียหายและให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผลการตรวจสอบปรากฏว่าลำเหมืองพิพาทเป็นการขุดทางน้ำเพื่อใช้ประโยชน์จากลำเหมืองเก๊าเดื่อโดยขุดในที่สาธารณะ ลำเหมืองหรือลำรางพิพาท ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดมีสิทธิครอบครองตามกฎหมายและถือเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ ผู้กลบทางน้ำมิใช่เป็นการทำให้ที่สาธารณะเสื่อมเสียสภาพไปผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดทราบผลการสอบสวนข้อเท็จจริงและแจ้งยุติการสอบสวนโดยอ้างว่าผู้ใช้ประโยชน์จากทางน้ำมิได้ติดใจสงสัยในเรื่องนี้ หากผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวให้อุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ภายในสิบห้าวัน ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๙ ต่อมาวันที่ ๑๐พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่ามีมติให้ยกอุทธรณ์และมีคำสั่งให้ยุติเรื่องพิพาทไม่ดำเนินคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ หรือแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายให้ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดเห็นว่า การสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดและราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถมกลบลำเหมืองพิพาท และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ที่รับฟังข้อเท็จจริงจากการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงข้างต้นและมีความเห็นให้ยุติเรื่องพิพาททั้งหมด รวมทั้งการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่กระทำการบุกรุกกลบถมที่ลำเหมืองพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนและขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายที่ดิน พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ฯ พุทธศักราช ๒๔๕๗ และประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๙๖ (พ.ศ.๒๕๒๕) ขอให้เพิกถอนรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีบุกรุกกลบถมลำเหมืองพิพาท ตำบลวังตาล ตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๙ ให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่มีคำสั่งให้ยุติเรื่องกรณีพิพาทที่ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดร้องเรียน และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้บุกรุกถมกลบลำเหมืองสาธารณะอุ้ยชื่น และให้ขุดที่ดินที่ถมลำเหมืองสาธารณะดังกล่าวออกให้เหมือนเดิมที่ราษฎรใช้ประโยชน์ในลำเหมืองดังกล่าวได้ตามปกติ
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การสรุปได้ว่า ลำเหมืองอุ้ยชื่นที่พิพาทเป็นลำเหมืองที่ทายาทของนายบุญยัง ประดับ ขุดทำขึ้นเพื่อผันดึงน้ำจากลำเหมืองเก๊าเดื่อที่เป็นลำเหมืองสาธารณประโยชน์เข้าสู่เรือกสวนไร่นาโดยนายปั๋น หินแก้ว บิดาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นผู้ขุดเชื่อมกับลำเหมืองเก๊าเดื่อ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มิได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ผู้ฟ้องคดีที่๑ เป็นผู้ไม่สุจริตนำที่ดินสันเหมืองซึ่งเป็นที่สาธารณะไปขายให้นางสาวลาวัลย์ หลวงอินตานางสาวลาวัลย์ ได้ครอบครองที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวโดยปลูกบ้านและถมร่องน้ำลำเหมืองพิพาทโดยวางท่อส่งน้ำให้กับอุ้ยชื่นและผู้ที่จะใช้น้ำกับประชาชน ต่อมานางสาวลาวัลย์ฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ในข้อหาฉ้อโกงนำที่สาธารณประโยชน์มาหลอกขายให้แก่ตน หลังจากที่ผู้ฟ้องคดีร้องเรียนกล่าวหาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แล้ว อำเภอสารภีตรวจสอบแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ทั้งระวางแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๙ ได้ความว่า บริเวณที่ตรวจสอบเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่เกิดขึ้นโดยสภาพธรรมชาติ มีการใช้ประโยชน์เป็นทั้งถนนคสล. สันเหมืองที่ปรากฏการครอบครองเป็นที่อยู่อาศัยและร่องระบายน้ำ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่งตั้งได้ความว่าลำเหมืองพิพาทเป็นการขุดทางน้ำเพื่อใช้ประโยชน์จากลำเหมืองเก๊าเดื่อ โดยขุดในที่สาธารณะซึ่งมีลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะเท่านั้น ลำเหมืองลำรางพิพาทไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดมีสิทธิครอบครองตามกฎหมายและถือเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ การมีผู้กลบทางน้ำในที่สาธารณะซึ่งถูกขุดใช้ได้กลับสู่สภาพเดิมจึงมิใช่เป็นการทำให้ที่สาธารณประโยชน์เสื่อมสภาพ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ดำเนินการสอบสวนด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม และปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดคัดค้านคำให้การว่า ลำเหมืองอุ้ยชื่นที่พิพาทไม่ใช่ลำเหมืองที่เกิดขึ้นจากการขุดของนายปั๋น บิดาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แต่เป็นลำเหมืองที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติซึ่งปรากฏชัดเจนตามรายงานการตรวจสอบแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ตามหนังสือของสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาสารภี ที่ ชม ๑๒๑๗/๑๘๒๐ ลงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม๒๕๔๙ (ที่ถูกต้องคือ หนังสือของสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาสารภี ที่ ชม ๐๐๑๙.๑๒/๓๘๓๔ ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๙) การถมกลบดินในลำเหมืองพิพาททำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดได้รับความเดือดร้อนเสียหายเมื่อเกิดน้ำท่วม เพราะไม่สามารถระบายลงสู่ลำเหมืองได้อีก และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มอบให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบแนวเขตสาธารณประโยชน์ด้วยตนเองย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนฯ เป็นไปโดยไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดกล่าวหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยไม่ดำเนินคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่บุกรุกและถมกลบลำเหมืองพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์มาเป็นของตนและกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามข้อร้องเรียนของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามโต้แย้งว่า ลำเหมืองพิพาทมิใช่ลำเหมืองสาธารณประโยชน์ แต่เป็นลำเหมืองที่เอกชนขุดขึ้น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกระทำการโดยชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้จึงมีหลายประเด็นที่เกี่ยวพันกันและประเด็นที่เกี่ยวพันกันอันเป็นประเด็นแห่งข้อหาหลักที่จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ลำเหมืองพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๐/๒๕๔๙ และที่ ๑๑/๒๕๔๙
ศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้อง คำให้การและคำคัดค้านคำให้การในคดีแล้ว ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่พิพาทเป็นเรื่องเฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตสันเหมืองอันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ลำเหมืองอุ้ยชื่นเฉพาะส่วนที่พิพาทที่ถูกถมกลบก็อยู่ในแนวเขตดังกล่าว ดังนั้น ลำเหมืองส่วนพิพาทจึงเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ ไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณีแต่อย่างใด สำหรับข้ออ้างของฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีว่าผลการตรวจสอบของคณะกรรมการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่งตั้งได้ความว่าลำเหมืองพิพาทเป็นลำเหมืองที่เอกชนขุดขึ้นนั้น เมื่อพิจารณารายละเอียดแห่งคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามแล้วมิได้อ้างเหตุผลดังกล่าวเพื่อยืนยันว่าลำเหมืองพิพาทมิได้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพียงแต่อ้างให้เห็นที่มาของลำเหมืองดังกล่าวเพื่อประกอบเป็นเหตุผลว่าการถมกลบลำเหมืองส่วนพิพาทมิได้สร้างความเดือดร้อนแก่สาธารณชนบริเวณใกล้เคียงซึ่งเป็นข้อพิจารณาประการหนึ่งในการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งยุติเรื่องร้องเรียนตามหนังสือที่ ชม ๑๒๑๗/๓๘๓๘เท่านั้น เมื่อพิจารณาความเป็นมาแห่งคดีของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดดังปรากฏในคำฟ้องและ
คำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดแล้วเห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดโต้แย้งผลการสอบสวนข้อเท็จจริงและคำสั่งที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้ยุติเรื่องตามหนังสือฉบับดังกล่าวว่าเป็นการดำเนินการโดยมิชอบและกล่าวหาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยไม่ดำเนินคดีต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่บุกรุกและถมกลบลำเหมืองพิพาท กับขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้ใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าพนักงานราชการส่วนท้องถิ่นดำเนินคดีต่อผู้บุกรุกที่ดินสาธารณะและถมกลบลำเหมืองพิพาทและให้ขุดลำเหมืองพิพาทซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้เป็นดังเดิม ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) มิใช่คำขอในลักษณะที่จะอาศัยอำนาจของศาลยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาแต่อย่างใด ส่วนคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๐/๒๕๔๙ และที่ ๑๑/๒๕๔๙ นั้นเป็นคำวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อโต้แย้งในที่ดินซึ่งพิพาทในคดีนั้นว่าผู้ฟ้องคดีดังกล่าวมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือเป็นคลองสาธารณประโยชน์อันเป็นสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ไม่อาจเทียบเคียงกับข้อพิพาทในคดีนี้ได้
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดมีบ้านพักอาศัยอยู่ที่บ้านหางแคว หมู่ที่ ๑๒ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ใช้ประโยชน์จากลำเหมืองสาธารณประโยชน์ชื่อลำเหมืองอุ้ยชื่น เพื่อใช้เป็นที่ระบายน้ำและเพาะปลูก สภาพของลำเหมืองในส่วนที่พิพาทแยกออกมาจากลำเหมืองสาธารณประโยชน์ (ลำเหมืองเก๊าเดื่อ) กว้างประมาณ ๑ เมตร ยาวประมาณ ๑๘๐ เมตร มีน้ำไหลผ่านตลอดปี แต่ประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๔๙ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบบุกรุกครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์(สันเหมือง) เป็นของตนเองและถมดินบริเวณดังกล่าวและในลำเหมืองพิพาทและปรับดินให้อยู่ในระดับเดียวกับที่ดินสันเหมือง ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากลำเหมืองได้ ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่๑ และที่ ๒ เพื่อขอให้แก้ไขความเดือดร้อนเสียหายและให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว และต่อมาได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดทราบผลการสอบสวนข้อเท็จจริงว่า ลำเหมืองพิพาทเป็นการขุดทางน้ำเพื่อใช้ประโยชน์จากลำเหมืองเก๊าเดื่อโดยขุดในที่สาธารณะ ลำเหมืองหรือลำรางพิพาท ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดมีสิทธิครอบครองตามกฎหมายและถือเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ ผู้กลบทางน้ำมิใช่เป็นการทำให้ที่สาธารณะเสื่อมสภาพไป และแจ้งยุติการสอบสวนโดยอ้างว่าผู้ใช้ประโยชน์จากทางน้ำมิได้ติดใจสงสัยในเรื่องนี้ หากผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวให้อุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ภายในสิบห้าวัน ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๙ ต่อมาวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่า มีมติให้ยกอุทธรณ์และมีคำสั่งให้ยุติเรื่องพิพาทไม่ดำเนินคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ หรือแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายให้ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดเห็นว่า การสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดและราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถมกลบลำเหมืองพิพาท และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่รับฟังข้อเท็จจริงจากการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงข้างต้นและมีความเห็นให้ยุติเรื่องพิพาททั้งหมด รวมทั้งการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่กระทำการบุกรุกกลบถมที่ลำเหมืองพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนและขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายที่ดิน พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ฯ พุทธศักราช ๒๔๕๗และประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๙๖ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ขอให้เพิกถอนรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีบุกรุกกลบถมลำเหมืองพิพาท ตำบลท่าวังตาล ตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๙ ให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่มีคำสั่งให้ยุติเรื่องกรณีพิพาทที่ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดร้องเรียน และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้บุกรุกถมกลบลำเหมืองสาธารณะอุ้ยชื่น และให้ขุดดินที่ถมลำเหมืองสาธารณะดังกล่าวออกให้เหมือนเดิมที่ราษฎรใช้ประโยชน์ในลำเหมืองดังกล่าวได้ตามปกติ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่าลำเหมืองพิพาทเป็นการขุดทางน้ำเพื่อใช้ประโยชน์จากลำเหมืองเก๊าเดื่อและถือเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ ไม่ใช่ลำเหมืองที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ การมีผู้กลบทางน้ำในที่สาธารณะซึ่งถูกขุดใช้ได้กลับสู่สภาพเดิมจึงมิใช่เป็นการทำให้ที่สาธารณประโยชน์เสื่อมสภาพผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มิได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ และคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯดำเนินการสอบสวนด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม และปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า ประเด็นแห่งคดีเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดกล่าวอ้างว่า การสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ที่สั่งให้ยกอุทธรณ์และยุติเรื่องไม่ดำเนินคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ หรือแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหาย กรณีผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดร้องเรียนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบบุกรุกกลบถมลำเหมืองพิพาทซึ่งเป็นลำเหมืองสาธารณประโยชน์ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑และที่ ๒ ละเลยไม่ดำเนินคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ขอให้เพิกถอนรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่๑และที่ ๒ ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้บุกรุกถมกลบลำเหมืองสาธารณะ และให้ขุดที่ดินที่ถมลำเหมืองสาธารณะดังกล่าวออกให้เหมือนเดิม อันเป็นกรณีพิพาทที่เกิดจากการใช้อำนาจดูแลและบำรุงรักษาที่สาธารณะซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ทั้งตามคำฟ้อง คำให้การและคำคัดค้านคำให้การ คู่กรณีต่างก็รับกันว่ามีการถมดินกลบลำเหมืองพิพาทซึ่งอยู่ในแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายศักดา บุญมา ที่ ๑ ดาบตำรวจ ปรีชา รัตนมณี ที่ ๒ นายดวงเกตุ วงค์ปัญญา ที่ ๓ นายยงยุทธ คำวัง ที่ ๔ นายบุญเลื่อน ตุ่นทรายคำที่ ๕ นายนิคม หาญกล้า ที่ ๖ นายทวี รัตนมณี ที่ ๗ ผู้ฟ้องคดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าวังตาล ที่ ๑ นายอำเภอสารภี ที่ ๒ กำนันตำบลท่าวังตาล ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๗