คำวินิจฉัยที่ 19/2551

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๙/๒๕๕๑

วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๑

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแขวงนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงนครศรีธรรมราชส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐ นายจรูญ จันทร์ภักดี โจทก์ยื่นฟ้อง นางอัญญ์ชลาทองนอกจำเลย ต่อศาลแขวงนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๙๒๖/๒๕๕๐ ความว่าโจทก์มีอาชีพทนายความและเป็นประธานสภาเทศบาลตำบลพรหมโลก จำเลยเป็นเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี รักษาการหัวหน้าส่วนการคลัง สังกัดเทศบาลตำบลพรหมโลก เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคมก่อนถึง สิ้นเดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ กองการศึกษา ส่วนราชการในเทศบาลตำบลพรหมโลกโดยจำเลยร่วมกับเจ้าพนักงานธุรการรักษาการหัวหน้ากองการศึกษาเจ้าหน้าที่พัสดุ และหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ ขอความเห็นชอบนายกเทศมนตรีตำบลพรหมโลกจ้างเหมาจัดทำอาหารว่างเด็กอนุบาล ๓ ขวบ โดยจำเลยทราบดีว่าการขอความเห็นชอบดังกล่าวเข้าลักษณะให้ภริยาโจทก์เป็นคู่สัญญาได้ และตั้งวงเงินในลักษณะซื้อหรือจ้างโดยวิธีตกลงราคา สามารถสั่งซื้อและทำสัญญากับภริยาโจทก์ได้โดยตรงโดยไม่ต้องประกวดราคาหรือประมูล จำเลยร่วมกับเจ้าหน้าที่ทำหนังสือบันทึกตกลงการจ้างภริยาโจทก์เป็นคู่สัญญาในฐานะผู้รับจ้าง และลงชื่อเป็นพยาน เทศบาลตำบลพรหมโลกเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ว่าจ้างนายกเทศมนตรีและปลัดเทศบาลตำบลพรหมโลกมอบหมายหรือมีคำสั่งให้พนักงานเทศบาลตำบลพรหมโลกนำเอกสารหลายฉบับให้ภริยาโจทก์ลงลายมือชื่อที่บ้านในขณะที่โจทก์ไม่อยู่แจ้งว่าเป็นเอกสารเบิกจ่ายเงินค่าขนมที่ส่งให้แก่ศูนย์เด็กเล็กตามระเบียบ จำเลยรู้จักกับโจทก์และภริยาโจทก์ แต่ไม่แจ้งให้โจทก์ทราบเป็นการสร้างเอกสารหลักฐานเพื่อให้โจทก์เข้าไปมีส่วนได้เสียในสัญญาที่เทศบาลเป็นคู่สัญญาหรือในกิจการที่กระทำแก่เทศบาลอันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๑๘ ทวิ ซึ่งจะทำให้สมาชิกภาพของโจทก์ต้องสิ้นสุดลง และต้องห้ามมิให้มีสิทธิรับเลือกตั้งสมัครเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเป็นเวลา๕ ปี ต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเป็นเวลา ๕ ปี ตามมาตรา ๑๙ (๖)มาตรา ๑๕ วรรคสอง และมาตรา ๔๘ เบญจ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ โจทก์รู้ถึงการกระทำดังกล่าวเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๙ จึงให้ภริยายกเลิกสัญญาและหยุดส่งขนมให้ศูนย์เด็กเล็ก ต่อมานายกเทศมนตรีกับปลัดเทศบาลตำบลพรหมโลกมอบหมายให้พนักงานเทศบาลตำบลพรหมโลกนำเอกสารร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาที่เทศบาลเป็นคู่สัญญา อันเป็นการต้องห้ามตามกฎหมายจังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ การกระทำดังกล่าวของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ขาดความเชื่อถือ เสื่อมเสียในทางความรู้เสื่อมความสุจริต กระทบต่อการประกอบอาชีพทนายความ เสื่อมความนิยมในทางการเมืองเสียโอกาสที่จะได้รับเลือกตั้งและคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ในอนาคต ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า การทำหนังสือขอความเห็นชอบจ้างเหมาจัดทำอาหารว่างดังกล่าวเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่พัสดุไม่เกี่ยวกับจำเลย และเป็นการดำเนินการตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นพ.ศ.๒๕๓๕ ที่เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเสนอตัวเข้ารับจ้างได้ หาใช่เป็นการกระทำเพื่อให้ภริยาโจทก์เข้าทำสัญญากับเทศบาลแต่อย่างใด เพียงแต่ภริยาโจทก์เสนอราคาที่เหมาะสมและมีความสามารถที่จะปฏิบัติตามสัญญาได้การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายระเบียบและคำสั่งทุกประการ จำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการร้องเรียนโจทก์แต่อย่างใด และจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ศาลแขวงนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า เทศบาลตำบลพรหมโลกเป็นหน่วยงานทางปกครอง ขณะเกิดเหตุโจทก์มีตำแหน่งเป็นประธานสภาเทศบาลตำบลพรหมโลก ส่วนจำเลยเป็นเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี รักษาการหัวหน้าส่วนการคลังเทศบาลตำบลพรหมโลก โจทก์และจำเลยจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าเทศบาลตำบลพรหมโลกได้ทำสัญญาว่าจ้างภริยาโจทก์ให้ทำขนมส่งให้แก่ศูนย์เด็กเล็กโรงเรียนวัดเขาขุนพนม ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดเทศบาลตำบลพรหมโลกอันถือได้ว่าเป็นสัญญาทางปกครองก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยอาศัยโอกาสในตำแหน่งและหน้าที่ของจำเลยจงใจกระทำการดังกล่าวโดยเล็งเห็นได้ว่าอาจเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือคำสั่งอื่นตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี รักษาราชการแทนหัวหน้าส่วนการคลัง เทศบาลตำบลพรหมโลกซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น และอยู่ในฐานะกรรมการตรวจรับพัสดุตามบันทึกตกลงการจ้างระหว่างเทศบาลตำบลพรหมโลกกับภรรยาโจทก์ เพื่อจ้างเหมาทำอาหารว่างให้กับศูนย์เด็กเล็กโรงเรียนวัดเขาขุนพนม โรงเรียนในสังกัดของเทศบาลตำบลพรหมโลก ตามบันทึกข้อความ กองการศึกษาเทศบาลตำบลพรหมโลก ลงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙ มีหน้าที่ในการตรวจรับพัสดุให้ถูกต้องครบถ้วนตามหลักฐานที่ตกลงกันไว้ ตามนัยข้อ ๖๔ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๕ จำเลยจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการตรวจรับพัสดุตามบันทึกตกลงการจ้างตามที่กฎหมายกำหนดการที่โจทก์อ้างว่า จำเลยในฐานะเจ้าพนักงานการเงินและบัญชีรักษาราชการแทนหัวหน้าส่วนการคลัง ได้ร่วมจัดทำและลงลายมือชื่อในใบตรวจรับพัสดุ และลงลายมือชื่อในฎีกาเบิกเงินตามงบประมาณรายจ่ายของเทศบาล งบรายละเอียดใบสำคัญประกอบฎีกา และใบสำคัญรับเงินโดยมีเจตนาไม่สุจริต สร้างเอกสารหลักฐานเพื่อให้โจทก์เข้าไปมีส่วนได้เสียในสัญญาที่เทศบาลพรหมโลกเป็นคู่สัญญาหรือในกิจการที่กระทำแก่เทศบาลพรหมโลก เพื่อให้โจทก์พ้นจากสมาชิกภาพสมาชิกสภาเทศบาลตำบลพรหมโลกตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ การกระทำดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสียง จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยใช้อำนาจตามกฎหมายในการตรวจรับพัสดุตามบันทึก ตกลงการจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์กรณีที่โจทก์กล่าวหาดังกล่าวจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า โจทก์มีอาชีพทนายความและเป็นประธานสภาเทศบาลตำบลพรหมโลก จำเลยเป็นเจ้าพนักงานการเงินและบัญชีรักษาการหัวหน้าส่วนการคลัง สังกัดเทศบาลตำบลพรหมโลก จำเลยร่วมกับเจ้าพนักงานธุรการรักษาการหัวหน้ากองการศึกษา เจ้าหน้าที่พัสดุ และหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุขอความเห็นชอบนายกเทศมนตรีตำบลพรหมโลกจ้างเหมาจัดทำอาหารว่างเด็กอนุบาล ๓ขวบโดยจำเลยทราบดีว่าเข้าลักษณะให้ภริยาโจทก์เป็นคู่สัญญาได้ และตั้งวงเงินในลักษณะซื้อหรือจ้างโดยวิธีตกลงราคา สามารถสั่งซื้อและทำสัญญากับภริยาโจทก์ได้โดยตรงไม่ต้องประกวดราคาหรือประมูล จำเลยร่วมกับเจ้าหน้าที่ทำหนังสือบันทึกตกลงการจ้างภริยาโจทก์เป็นคู่สัญญาในฐานะผู้รับจ้าง และลงชื่อเป็นพยาน เทศบาลตำบลพรหมโลกเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ว่าจ้างโดยไม่แจ้งโจทก์ทั้งที่จำเลยรู้จักกับโจทก์และภริยาโจทก์ เป็นการสร้างเอกสารหลักฐานเพื่อให้โจทก์เข้าไปมีส่วนได้เสียในสัญญาที่เทศบาลเป็นคู่สัญญาหรือในกิจการที่กระทำแก่เทศบาลอันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๑๘ ทวิ ซึ่งจะทำให้สมาชิกภาพของโจทก์ต้องสิ้นสุดลง และต้องห้ามมิให้มีสิทธิรับเลือกตั้งสมัครเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเป็นเวลา ๕ ปี ต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเป็นเวลา ๕ ปีตามมาตรา ๑๙(๖)มาตรา ๑๕ วรรคสอง และมาตรา ๔๘ เบญจ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาลพ.ศ. ๒๔๙๖ โจทก์ถูกร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาที่เทศบาลเป็นคู่สัญญา อันเป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย จังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจำเลยให้การว่าการทำหนังสือขอความเห็นชอบจ้างเหมาจัดทำอาหารว่างดังกล่าวเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่พัสดุไม่เกี่ยวกับจำเลยและเป็นการดำเนินการตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเสนอตัวเข้ารับจ้างได้ หาใช่เป็นการกระทำเพื่อให้ภริยาโจทก์เข้าทำสัญญากับเทศบาลแต่อย่างใด เพียงแต่ภริยาโจทก์เสนอราคาที่เหมาะสมและมีความสามารถที่จะปฏิบัติตามสัญญาได้ การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายระเบียบและคำสั่งทุกประการ จำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการร้องเรียนโจทก์แต่อย่างใด และจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดประเภทคดีปกครอง ที่เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานทางปกครอง โดยมุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองเท่านั้น เมื่อคดีนี้โจทก์อ้างว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานการเงินและบัญชีรักษาการหัวหน้าส่วนการคลัง สังกัดเทศบาลตำบลพรหมโลก ร่วมกับเจ้าพนักงานธุรการรักษาการหัวหน้ากองการศึกษา เจ้าหน้าที่พัสดุ และหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุจ้างเหมาภริยาโจทก์ทำอาหารว่างเด็กอนุบาล ๓ ขวบ โดยจำเลยร่วมกับเจ้าหน้าที่ทำหนังสือบันทึกตกลงการจ้างภริยาโจทก์เป็นคู่สัญญาในฐานะผู้รับจ้าง และลงชื่อเป็นพยาน โดยไม่แจ้งโจทก์ทั้งที่จำเลยรู้จักกับโจทก์และภริยาโจทก์ เป็นการสร้างเอกสารหลักฐานเพื่อให้โจทก์เข้าไปมีส่วนได้เสียในสัญญาที่เทศบาลเป็นคู่สัญญาหรือในกิจการที่กระทำแก่เทศบาล อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๑๘ ทวิ ซึ่งจะทำให้โจทก์ต้องสิ้นสมาชิกภาพและถูกตัดสิทธิทางการเมือง โจทก์ถูกร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน ทำให้โจทก์เสียหาย มูลความแห่งคดีนี้จึงสืบเนื่องมาจากการที่เทศบาลตำบลพรหมโลกจัดให้มีอาหารว่างสำหรับเด็กอนุบาล ๓ ขวบ โดยทำบันทึกตกลงการจ้าง จ้างเหมาทำอาหารว่างในวันที่มีการเรียนการสอน ซึ่งมิใช่การจัดหาเครื่องมือสำคัญในการจัดทำบริการสาธารณะให้บรรลุผล ประกอบกับคดีนี้โจทก์เลือกฟ้องเฉพาะจำเลยซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำเอกสารเพื่อขออนุมัติรวมทั้งเป็นพยานในบันทึกตกลงการจ้างโดยกล่าวหาว่ากระทำโดยจงใจและโดยรู้อยู่แล้วว่าจะทำให้โจทก์มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายและกระทำโดยจงใจปกปิดไม่แจ้งให้ภรรยาโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างทำอาหารว่างนั้นทราบถึงผลกระทบต่อโจทก์จากการเป็นผู้รับจ้าง ขั้นตอนในการจัดทำเอกสารต่าง ๆ เป็นกระบวนการภายในของฝ่ายปกครองที่ยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อบุคคลภายนอก ทั้งเจตนาตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลย กระทำโดยจงใจเพื่อให้โจทก์เสียหาย เป็นสิ่งที่อยู่นอกความมุ่งหมายของขั้นตอนในการทำงานซึ่งหากจะเป็นจริงดังโจทก์อ้าง ก็มิใช่ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมายจากการใช้อำนาจหน้าที่ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่มีลักษณะเป็นคดีปกครองอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายจรูญ จันทร์ภักดี โจทก์ นางอัญญ์ชลาทองนอก จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share