คำวินิจฉัยที่ 20/2551

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๐/๒๕๕๑

วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๑

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
พ.ศ. ๒๕๒๒

ศาลแรงงานกลาง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานกลางโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันระหว่างศาลแรงงานกลางและศาลปกครองกลางให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๙ นายนภศูล อังคทะวานิช โจทก์ ยื่นฟ้ององค์การคลังสินค้าจำเลย ต่อศาลแรงงานกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๘๘๙/๒๕๔๙ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๕พฤศจิกายน๒๕๔๖ จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า มีอำนาจหน้าที่จัดการและดำเนินกิจการขององค์การให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับที่คณะกรรมการองค์การคลังสินค้ากำหนดไว้และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานทุกตำแหน่งโดยจะต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการจัดการและดำเนินกิจการขององค์การ อัตราค่าจ้างเป็นเงินเดือนละ ๑๑๖,๐๐๐ บาท กำหนดระยะเวลาจ้าง๔ ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ประมาณกลางปี พ.ศ.๒๕๔๘ คณะกรรมการนโยบายข้าวของรัฐมีมติให้จำเลยเป็นผู้จัดเก็บและดูแลรักษาข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต๒๕๔๘/๒๕๔๙ โจทก์ในฐานะผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้ามอบหน้าที่ความรับผิดชอบให้รองผู้อำนวยการและผู้ช่วยผู้อำนวยการในสายงานบริหารนโยบายรัฐ และในสายงานปฏิบัติงานตามนโยบายรัฐเป็นผู้ดำเนินการกำหนดคุณสมบัติของผู้ตรวจสอบสินค้าตามข้อบังคับองค์การคลังสินค้าว่าด้วยการแทรกแซงราคาข้าว พ.ศ. ๒๕๔๖ และจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องในองค์การฯซึ่งที่ประชุมมีมติประกาศรับสมัครผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีฯกำหนดวิธีการรับสมัคร การวางหลักประกันสัญญาและวิธีคำนวณหลักประกันสัญญา โดยข้อกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวและเงื่อนไขค้ำประกันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับขององค์การคลังสินค้า ว่าด้วยการแทรกแซงราคาข้าว พ.ศ. ๒๕๔๖ โจทก์พิจารณามติที่ประชุมแล้วเห็นว่าไม่ขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. ๒๔๙๘ และไม่ขัดต่อกฎระเบียบหรือข้อบังคับใดๆ ขององค์การคลังสินค้าจึงประกาศรับสมัครผู้ตรวจสอบและรับผิดชอบคุณภาพ ชนิดและน้ำหนักข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฯ และมีคำสั่งองค์การคลังสินค้าที่ ๒๔๔/๒๕๔๘ และที่ ๒๔๕/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๘ แต่งตั้งคณะกรรมการเปิดซองเอกสารหลักฐานและตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครตรวจสอบและรับผิดชอบคุณภาพ ชนิดและน้ำหนักข้าวสารและคณะกรรมการคัดเลือกและจัดสรรผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีฯ ซึ่งต่อมาได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน ๔ บริษัท แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีคำสั่งให้คณะกรรมการองค์การคลังสินค้ามีคำสั่งยกเลิกการจัดหาผู้ตรวจสอบและรับผิดชอบคุณภาพชนิดและน้ำหนักข้าวสาร โดยอ้างว่าการกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติดังกล่าวไม่ถูกต้องตามข้อบังคับองค์การคลังสินค้า ว่าด้วยการแทรกแซงราคาข้าว พ.ศ.๒๕๔๖ เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจและไม่ได้ขออนุมัติต่อคณะกรรมการฯ เป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ แบบแผนขององค์การคลังสินค้า และเป็นเหตุให้มีการกล่าวหาว่าองค์การคลังสินค้ากำหนดคุณสมบัติเพื่อกำจัดหรือช่วยเหลือผู้สมัครบางรายโดยไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อชื่อเสียงขององค์การคลังสินค้าโจทก์มีความผิดวินัยร้ายแรงขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า และเมื่อวันที่ ๒พฤษภาคม ๒๕๔๙ คณะกรรมการองค์การคลังสินค้ามีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์ออกประกาศกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีฯ โดยไม่ถูกต้องตามข้อบังคับองค์การคลังสินค้า ว่าด้วยการแทรกแซงราคาข้าวพ.ศ. ๒๕๔๖ โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๙ ตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โจทก์เห็นว่า โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. ๒๔๙๘ ในการจัดหาผู้ตรวจสอบและรับผิดชอบคุณภาพ ชนิด และน้ำหนักข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีฯ โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตตามข้อบังคับองค์การคลังสินค้า ว่าด้วยการแทรกแซงราคาข้าว พ.ศ. ๒๕๔๖ไม่ได้กระทำผิดและไม่ได้ทำให้องค์การคลังสินค้าเสียหาย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรม และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าตามสัญญาจ้างเดิม และให้จำเลยจ่ายเงินเดือนตามที่ตกลงไว้ในสัญญาจนครบสัญญา หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ให้จ่ายค่าชดเชยค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเวลา ๙๐ วัน เป็นเงินจำนวน๓๔๗,๙๙๙ บาท และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงอันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยเป็นเงินจำนวน๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๒๐,๓๔๗,๙๙๙ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากสัญญาจ้างผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าเป็นสัญญาจ้างผู้บริหารตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๔ และมาตรา ๗ ซึ่งกำหนดให้สัญญาจ้างผู้บริหารไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน การจ้างโจทก์เป็นการจ้างมุ่งเพื่อผลสำเร็จของงานหาใช่เป็นการจ้างแรงงานโจทก์จำเลยไม่มีเจตนาผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานตามนัยคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ ๑๘/๒๕๓๗ และการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยถูกต้องตามสัญญาจ้างเพราะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงอันเป็นการผิดสัญญาจ้าง ขอให้ยกฟ้อง
อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๙ มกราคม๒๕๕๐ว่า ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามสัญญาจ้างเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ชื่อเสียงซึ่งถือเป็นค่าเสียหายอันเนื่องมาจากมูลเหตุ การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ และค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) (๒) และมาตรา๔๙ จึงวินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า จำเลยจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.๒๔๙๘จำเลยจึงเป็นหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามสัญญาจ้างเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ชื่อเสียงซึ่งถือเป็นค่าเสียหายอันเนื่องมาจากมูลเหตุการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา๔๙และค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒มาตรา ๘ (๑) (๒) และมาตรา ๔๙ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ศาลปกครองกลางเห็นว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลและเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.๒๔๙๘ จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นผู้อำนวยการ ทำหน้าที่บริหารกิจการของจำเลย ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “ผู้บริหารหมายความว่า … ผู้อำนวยการ .” มาตรา ๘ ทวิ วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจไม่มีฐานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ” และมาตรา ๘ จัตวา วรรคห้า บัญญัติว่า “.ให้การจ้างตามสัญญาดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน” ดังนั้น เมื่อตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าเป็นตำแหน่งผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจไม่มีฐานะเป็นพนักงาน ฉะนั้น ข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสัญญาจ้างผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายแรงงานอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานได้ อีกทั้งสัญญาพิพาทดังกล่าวได้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้โจทก์ดำเนินกิจการต่างๆ ทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งส่งเสริมและพัฒนาการดำเนินงานอื่นๆ ในทางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์และผลดีต่อจำเลย ซึ่งเป็นการจัดทำบริการสาธารณะอย่างหนึ่ง โดยมีการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองเพื่อให้บริการสาธารณะดังกล่าวบรรลุผล ดังนั้น เมื่อจำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครองและโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการมีอำนาจสั่งการต่างๆ ในการดำเนินกิจการของจำเลย กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้แสดงเจตนาใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองแทนจำเลยด้วยสัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่าจ้างให้โจทก์เข้าเป็นผู้แทนเพื่อดำเนินกิจการต่างๆ อันเป็นบริการสาธารณะให้บรรลุผล สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การคดีนี้สรุปได้ว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลและเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลพ.ศ. ๒๔๙๖และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. ๒๔๙๘ ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า มีอำนาจหน้าที่จัดการและดำเนินกิจการขององค์การให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับที่คณะกรรมการองค์การคลังสินค้ากำหนดไว้และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานทุกตำแหน่งโดยรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการจัดการและดำเนินกิจการขององค์การ กำหนดระยะเวลาจ้าง ๔ ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๒๔พฤศจิกายน ๒๕๕๐ แต่เมื่อวันที่ ๒พฤษภาคม ๒๕๔๙ คณะกรรมการองค์การคลังสินค้ามีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์ออกประกาศกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีฯโดยไม่ถูกต้องตามข้อบังคับองค์การคลังสินค้า ว่าด้วยการแทรกแซงราคาข้าว พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ ๒๑ เมษายน๒๕๔๙ ตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โจทก์เห็นว่า โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. ๒๔๙๘ ในการจัดหาผู้ตรวจสอบและรับผิดชอบคุณภาพ ชนิด และน้ำหนักข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีฯ โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและชอบด้วยข้อบังคับองค์การคลังสินค้า ว่าด้วยการแทรกแซงราคาข้าว พ.ศ. ๒๕๔๖ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นธรรม และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าตามสัญญาจ้างเดิม และให้จำเลยจ่ายเงินเดือนตามที่ตกลงไว้ในสัญญาจนครบสัญญา หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ให้จ่ายค่าชดเชยค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเวลา ๙๐ วัน และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงอันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลย ส่วนจำเลยให้การว่า การเลิกจ้างถูกต้องตามสัญญาจ้างเพราะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงอันเป็นการผิดสัญญา ศาลแรงงานกลางทำความเห็นว่าเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ จึงอยู่ในอำนาจศาลแรงงาน (ศาลยุติธรรม) ศาลปกครองกลางเห็นต่างว่าจำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครองประกอบกับพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๘ ทวิ วรรคแรก บัญญัติว่า “ให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจไม่มีฐานะเป็นพนักงานของรัฐวิสาหกิจ” และมาตรา ๘ จัตวา วรรคห้าบัญญัติว่า “ในการทำสัญญาจ้าง ให้ประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจ หรือกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจในกรณีที่ไม่มีประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างและให้การจ้างตามสัญญาดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน” ดังนั้น สัญญาระหว่างจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้อำนวยการจึงไม่เป็นสัญญาจ้างแรงงานแต่เป็นสัญญาทางปกครอง คดีจึงมีปัญหาต้องพิจารณาว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง เห็นว่า การจะพิจารณาว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลระบบใดจะต้องพิจารณาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา๒๑๘ บัญญัติให้ “ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น” และกำหนดอำนาจของศาลปกครองไว้ในมาตรา ๒๒๓ ว่า”ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง”
การที่พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๘ จัตวา วรรคห้า บัญญัติว่า “ในการทำสัญญาจ้าง ให้ประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจ หรือกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจในกรณีที่ไม่มีประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้าง และให้การจ้างตามสัญญาดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน” มิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดว่าสัญญาตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน หรือเป็นสัญญาประเภทอื่น เพียงแต่กำหนดว่าไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานโดยทั่วไป จึงมิได้มีผลทำให้นิติสัมพันธ์ที่มีผู้ตกลงทำงานให้และมีผู้ตกลงจ่ายค่าจ้างดังกล่าว ไม่เป็นการจ้างแรงงาน กรณีที่ระบุในสัญญาว่ามิใช่สัญญาจ้างแรงงานก็หามีผลให้สัญญานั้นไม่เป็นการจ้างแรงงานไม่ การจะวินิจฉัยว่าสัญญาใดเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ต้องพิจารณาเนื้อหาของนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนเป็นสำคัญ ดังนั้น แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ที่ระบุว่าสัญญานี้มิใช่สัญญาจ้างแรงงานก็หาทำให้นิติสัมพันธ์ที่แท้จริงเปลี่ยนแปลงไปไม่
เมื่อพิจารณาข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย ข้อ ๓.๑ ที่กำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยต้องทำงานตามวันเวลาที่กำหนด การลาและวันลาต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่จำเลยกำหนด รวมทั้งต้องถือปฏิบัติตามวินัยของพนักงานของหน่วยงานของจำเลยทั้งที่มีอยู่แล้วและในอนาคตโดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้าง ที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดตามสัญญาข้อ ๓.๒ โจทก์มีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ใช้รถยนต์ประจำตำแหน่ง ตามสัญญาข้อ ๓.๓ กำหนดให้ต้องอุทิศเวลาให้ผู้ว่าจ้าง ไม่รับจ้างบุคคลอื่นประกอบธุรกิจ มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง มีการกำหนดการจ่ายค่าตอบแทนในอัตราคงที่เป็นรายเดือนเดือนละ ๑๑๖,๐๐๐ บาท และอาจเพิ่มค่าตอบแทนร้อยละ ๑๐ รวมทั้งอาจจ่ายค่าตอบแทนผันแปรเป็นรายปีไม่เกินร้อยละ ๓๐ ของค่าตอบแทนรวมที่ได้รับในปีนั้น ลักษณะดังกล่าวเป็นลักษณะของการที่โจทก์ตกลงทำงานให้กับจำเลยตามระเบียบข้อบังคับภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยและจำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงสัญญาข้อ ๙ ที่กำหนดให้ผู้รับจ้างได้รับเงินทดแทนตามข้อบังคับของจำเลยกรณีเสียชีวิตหรือทุพลภาพก็สอดคล้องกับมาตรการในการคุ้มครองแรงงานโดยทั่วไปอีกเช่นกัน ทั้งเมื่อพิจารณาเหตุผลที่จำเลยกล่าวอ้างเป็นเหตุเพื่อเลิกจ้างโจทก์นั้นกล่าวหาว่า โจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยปฏิบัติฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม โดยฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ ๙) ข้อ ๘(๒) ข้อ ๒๘(๗) ประกอบสัญญาข้อ ๓.๒อันเป็นการผิดสัญญา ทำให้จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้ตามสัญญาข้อ ๑๑.๔.๔ ซึ่งลักษณะของสัญญาข้อ๑๑.๔ ที่กำหนดให้จำเลยในฐานะผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนใด ๆ ก็มีลักษณะของข้อสัญญาที่บัญญัติเป็นการทั่วไปในสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และสอดคล้องกับที่บัญญัติในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคท้าย และมาตรา ๑๑๙ (๑) ถึง(๖)ลักษณะของนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการจ้างแรงงาน และไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง
เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้มีลักษณะเป็นการจ้างแรงงาน การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรม เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานและเรียกค่าสินไหมทดแทนซึ่งมีลักษณะเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒มาตรา ๔๙ จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลแรงงานและเป็นข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓)
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายนภศูล อังคทะวานิช โจทก์ องค์การคลังสินค้าจำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share