คำวินิจฉัยที่ 37/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๗/๒๕๔๘

วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งความเห็นให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
ศาลปกครองนครราชสีมารับโอนคดีมาจากศาลปกครองกลางซึ่งเดิมเป็นเรื่องที่ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสามและวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จำนวน ๒ คดี ได้แก่ คดีหมายเลขดำที่ ๑๒๘/๒๕๔๔ ระหว่าง ร้อยตำรวจตรี เลา ชินวงษ์ ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี และคดีหมายเลขดำที่ ๒๔๒/๒๕๔๔ ระหว่างนายประจวบ กาญจนพิมาย ที่ ๑ ร้อยตำรวจตรี เลา ชินวงษ์ ที่ ๒ นางลพ คลี่สุข ที่ ๓ นางธารทิพย์ จันทร์พานิชเจริญ ที่ ๔ นางประจวบ หลงทะเล ที่ ๕ นางลำใย นิยมธรรม ที่ ๖ นางศศิรัตน์ รักษาราษฎร์ ที่ ๗ นางทองคำ นิตย์ใหม่ ที่ ๘ นางประชุม เหิกขุนทด ที่ ๙ จ่าสิบเอก ประมวล ปราณีตพลกรัง ที่ ๑๐ นายบุญเกิด มะลิวัลย์ ที่ ๑๑ นางชนิดา พูลโภคา ที่ ๑๒ นายสมชัย ทอนมณี ที่ ๑๓ พันจ่าอากาศเอก กฤษฎากร ก้านสันเทียะ ที่ ๑๔ นายสวัสดิ์ ก้านสันเทียะ ที่ ๑๕ พันโท สำราญ แสงหิรัญ ที่ ๑๖ นางเล็ก ซิมงาม ที่ ๑๗ นางปณิธี ตั้งแต่ง โดยร้อยตรี ลิขิต ตั้งแต่ง ที่ ๑๘ นายฉัตร โดดกระโทก โดยนางสาวบำเพ็ญ ทองอินทร์ ที่ ๑๙ และนางจันทร์ ครบุรี โดยนายปรีชา ไพจิตราสุคนธ์ ที่ ๒๐ ผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งต่อมา ศาลปกครองนครราชสีมาได้สั่งรวมคดีเข้าด้วยกัน โดยให้สำนวนคดีหมายดำที่ ๑๒๘/๒๕๔๔ เป็นสำนวนคดีหลัก เพื่อความสะดวกแก่การพิจารณาให้เรียกผู้ฟ้องคดีในสำนวนแรกและผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนที่สองว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เรียกผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ในสำนวนที่สองว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ และเรียกผู้ฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๒๑ ในสำนวนที่สองว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๒๑ ตามลำดับ โดยเรียกอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทุกสำนวนว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ตามลำดับ สรุปข้อเท็จจริงในคดีได้ดังนี้
๑. คดีหมายเลขดำที่ ๑๒๘/๒๕๔๔
ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นฟ้อง (ร้องทุกข์) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ต่อศาลปกครองนครราชสีมา ความว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นราษฎรบ้านหนองปรู หมู่ที่ ๔ ตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา อาศัยในที่ดินซึ่งเข้าใจว่าเป็นที่รกร้างว่างเปล่าตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๕ แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ นายบุญคุณ จิตตั้งบุญญา ได้นำเจ้าพนักงานรังวัดที่ดินไปรังวัดที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกรวม ๒๘ คน คัดค้านการรังวัดดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินทำการสอบสวนเปรียบเทียบแล้วทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้มีคำสั่งให้ออกโฉนดให้แก่นายบุญคุณ หากผู้คัดค้านไม่พอใจให้ยื่นฟ้องต่อศาลภายใน ๖๐ วัน ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จึงยื่นฟ้องนายบุญคุณเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา ศาลจังหวัดนครราชสีมาพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจำเลยเนื่องจากผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กับพวก ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะที่ดินพิพาทเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ในที่พิพาทดังกล่าวให้แก่นายบุญคุณ และในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๒๖๓ และเลขที่ ๖๑๒๖๔ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งต่อมา มีการโอนขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่บริษัทธันวาพัฒนา จำกัด เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๔ และ ๙ มกราคม ๒๕๓๕ ตามลำดับ
เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๓๖ บริษัทธันวาพัฒนา จำกัด ยื่นฟ้องนายเลา ชินวงษ์ (ผู้ฟ้องคดีที่ ๑) ต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๘๑/๒๕๓๖ โดยฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหาย ผู้ฟ้องคดีขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลมีคำพิพากษาขับไล่จำเลย (ผู้ฟ้องคดีที่ ๑) และบริวารออกจากที่พิพาท จำเลย (ผู้ฟ้องคดีที่ ๑) ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย และต่อมาได้มีหมายบังคับคดีของศาลจังหวัดนครราชสีมาให้จำเลย (ผู้ฟ้องคดีที่ ๑) ออกจากที่ดินทั้งสองแปลง ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกหมายบังคับคดีดังกล่าวจึงยื่นคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ซึ่งต่อมาได้มีการโอนเรื่องมายังศาลปกครองนครราชสีมาเป็นคดีนี้ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๒๖๓ และเลขที่ ๖๑๒๖๔ ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อไม่ให้บุคคลผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามโฉนดที่ดินโอนต่อไปยังบุคคลที่ไม่รู้ที่มาที่ไปของที่ดินทั้งสองแปลงได้รับความเดือดร้อนเช่นผู้ฟ้องคดีที่ ๑
อนึ่ง ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กับพวก ได้เคยร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี กรมป่าไม้ ป.ป.ป.ฯ (โดยร้องเรียนต่อกรมที่ดินตามหนังสือลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๔๑) ซึ่งคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนกลางได้มีการประชุมครั้งที่ ๘/๒๕๓๗ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๓๗ สรุปได้ว่า ที่ดินที่ได้มีการขอออกเอกสารสิทธิ (ที่พิพาท) เป็นที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิหรือดำเนินการทางศาลโดยด่วน แต่ไม่ปรากฏว่ามีหน่วยราชการใดดำเนินการ
๒. คดีหมายเลขดำที่ ๒๔๒/๒๕๔๔
ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ กับพวก ยื่นฟ้อง (ร้องทุกข์) และแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมา ความว่า ผู้ฟ้องคดีกับพวก เป็นราษฎรบ้านหนองปรู หมู่ที่ ๔ ตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา อาศัยอยู่และครอบครองทำประโยชน์โดยเปิดเผยและบริสุทธิ์ใจในที่ดินซึ่งเดิมมีความเข้าใจว่าเป็นที่รกร้างว่างเปล่าตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยซื้อสิทธิในที่ดินจากผู้ทำประโยชน์ในที่ดินเดิมมีขอบเขตของที่ดินของแต่ละบุคคลอย่างชัดเจน ไม่มีผู้ใดมาแสดงสิทธิว่าเป็นเจ้าของที่ดินที่ครอบครอง และในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เจ้าหน้าที่จากกรมที่ดินได้ออกเดินสำรวจการถือครองที่ดินของชาวบ้านหนองปรูพร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านที่ครอบครองที่ดิน ทำการรังวัดที่ดินและได้ออกใบนำสำรวจการถือครองที่ดิน (สสจ. ๒) ให้กับผู้ครอบครองที่ดินทุกรายตามข้อเท็จจริงรวมทั้งผู้ฟ้องคดี แต่ในเดือนมิถุนายน ๒๕๒๘ นายบุญคุณ จิตตั้งบุญญา ได้นำ น.ส. ๓ ที่แบ่งแยกมาจาก น.ส. ๓ เลขที่ ๔๒ เป็นหลักฐานการขอออกโฉนดที่ดิน โดยนำเจ้าพนักงานไปรังวัดที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองอยู่ ผู้ฟ้องคดีคัดค้านการรังวัด เจ้าพนักงานที่ดินทำการสอบสวนเปรียบเทียบแล้วทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้มีคำสั่งให้ออกโฉนดให้แก่นายบุญคุณ หากผู้คัดค้านไม่พอใจให้ยื่นฟ้องต่อศาลภายใน ๖๐ วัน ผู้ฟ้องคดีกับพวกรวม ๒๘ คน จึงยื่นฟ้องนายบุญคุณเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา ศาลจังหวัดนครราชสีมาพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจำเลยเนื่องจากผู้ฟ้องคดีกับพวก ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะที่ดินพิพาทเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๒๖๔ ให้แก่นายบุญคุณ ซึ่งได้นำคำพิพากษาดังกล่าวมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ฟ้องคดีจึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายและขัดกับคำพิพากษา เพราะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งศาลได้วินิจฉัยและมีคำพิพากษาแล้ว โดยก่อนนั้นกรมที่ดินได้มีหนังสือที่ มท ๐๗๑๒/๑๖๙๙๗ ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๙ แจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาว่า ศาลพิจารณาเป็นอย่างใดแล้วฝ่ายบริหารไม่มีสิทธิที่จะพิจารณาเป็นอย่างอื่น เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดประการใดก็ให้ดำเนินไปตามผลของคำพิพากษา ผู้ฟ้องคดีกับพวกจึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีเจตนาประพฤติมิชอบ
นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดีกับพวกเห็นว่า เอกสารอันเป็นที่มาและหลักฐานในการขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๒๖๔ เป็นเอกสารที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยมิชอบ ได้แก่ แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๔๒ ของนายเสน คเชนชาติ มีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อที่ให้เพิ่มขึ้นจากเดิม ๘ ไร่ เป็น ๒๐๘ ไร่ ทั้งต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ นายเสนนำ ส.ค. ๑ ดังกล่าวไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๔๒ โดยออกเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ โดยมีจำนวนเนื้อที่เพิ่มขึ้นเป็น ๕๒๘ ไร่ ๒ งาน ๒๕ ตารางวา
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้มีการแบ่งแยก น.ส. ๓ เลขที่ ๔๒ เป็น น.ส. ๓ เลขที่ ๕๖๓-๕๖๕ เลขที่ ๕๗๒-๕๗๕ รวม ๗ แปลง เป็นของนายโศรตรีย์ เขมะโยธิน ซึ่งต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ขายที่ดินให้นายบุญคุณ ผู้ฟ้องคดีกับพวกขอให้พิจารณาว่า ผู้ฟ้องคดีกับพวกมีสิทธิครอบครอง น.ส. ๓ ทั้ง ๗ แปลงดังกล่าว และเจ้าของ น.ส. ๓ หมดสิทธิในการครอบครองทำประโยชน์หรือไม่ เพราะนายโศรตรีย์ ผู้ขาย ไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นต้นมา ส่วนนายบุญคุณ ผู้ซื้อก็ไม่เคยครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ ดังกล่าวเลย
ผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีและกรมป่าไม้ ได้ข้อสรุปว่า มีการแก้ไขเพิ่มเติมตัวเลขใน ส.ค. ๑ เลขที่ ๔๒ จาก ๘ ไร่ เป็น ๒๐๘ ไร่ และนำไปออก น.ส. เลขที่ ๔๒ จำนวน ๕๒๘ ไร่ และนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้ดำเนินการเอาคนผิดมาลงโทษ
กรมป่าไม้และป่าไม้เขตนครราชสีมาได้ข้อสรุปว่า น.ส. ๓ เลขที่ ๔๒ ซึ่งออกเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ เป็นเอกสารสิทธิในที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและออกภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ เห็นชอบกำหนดให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนคุ้มครองประเภทที่ ๒ จึงเป็นการออกโดยมิชอบ
กรมที่ดินได้มีคำสั่งที่ ๑๐๙๖/๒๕๓๖ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๖ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงซึ่งสรุปว่า มีการแก้ไขเนื้อที่ใน ส.ค. ๑ เลขที่ ๔๒ จาก ๘ ไร่ เป็น ๒๐๘ ไร่ เป็นการแก้ไขโดยมิชอบ เป็นที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและที่ดินบางส่วนเป็นของกองทัพบก โดยเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอเมืองนครราชสีมาในขณะนั้นมีส่วนรู้เห็นในการแก้ไขเนื้อที่ใน ส.ค. ๑ และ น.ส. ๓ ดังกล่าวโดยมิชอบ แต่ไม่ปรากฏว่าผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการให้มีความถูกต้องตามข้อเท็จจริง อีกทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้มอบให้กรมป่าไม้ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรมป่าไม้ได้ขอให้อัยการจังหวัดนครราชสีมาดำเนินการ แต่ยังไม่มีความคืบหน้า
ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้พิจารณาว่าการออกเอกสารสิทธิโฉนดเลขที่ ๖๑๒๖๔ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นการออกโฉนดที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และคำขออื่น
ต่อมา ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำยืนยันและหักล้างต่อศาลปกครองนครราชสีมาว่า เจตนาที่แท้จริงของผู้ฟ้องคดีทั้งหมดมีความประสงค์ที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๒๖๓ และเลขที่ ๖๑๒๖๔ ที่อาศัยออกจาก น.ส. ๓ เลขที่ ๔๒ ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๕๙๔-๖๖๑๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๕ มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การออก น.ส. ๓ เลขที่ ๔๒ กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายเสน (-ผู้มีสิทธิครอบครองเดิม) ไม่มีสิทธิครอบครองที่พิพาท นายบุญคุณก็ไม่มีสิทธิ โจทก์ (-บริษัทธันวาพัฒนา จำกัด) ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินต่อจากนายบุญคุณก็ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ดังนั้น โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเช่นกัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสิบเก้าที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ในส่วนของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๕๙๔-๖๖๑๒/๒๕๔๕ ศาลปกครองนครราชสีมาได้แสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมโดยขอสำเนาคำพิพากษาที่บริษัทธันวาพัฒนา จำกัด เป็นโจทก์ในคดีฟ้องขับไล่ผู้ฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๑๗ ที่ ๑๙ ที่ ๒๐ นางถนอมศรี ตันประเสริฐ และนายวิชัย จิตเพิ่มสุข เป็นจำเลย ซึ่งศาลจังหวัดนครราชสีมาได้รวมการพิจารณาและพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งยี่สิบพร้อมบริวารให้ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๑๒๖๔ จำเลยสิบเก้าสำนวน ได้แก่ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ และที่ ๖ ถึงที่ ๒๐ อุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ศาลฎีกาพิพากษาว่า การออก น.ส. ๓ เลขที่ ๔๒ กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สิทธิของนายเสนในที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่สิทธิในที่ดินที่บุคคลมีอยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดินก่อนมีกฎกระทรวงกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ นายเสนไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แม้ต่อมาทางราชการจะออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทให้แก่นายบุญคุณซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทต่อมา นายบุญคุณไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินต่อจากนายบุญคุณก็ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเช่นกัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสิบเก้า พิพากษายืน
นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การออก น.ส. ๓ เลขที่ ๔๒ได้ดำเนินการหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ เห็นชอบให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนคุ้มครองประเภทที่ ๒ การออก น.ส. ๓ เลขที่ ๔๒ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ ให้แก่นายเสน จึงเป็นการออกโดยมิชอบ ทั้ง ส.ค ๑ เลขที่ ๔๒ ซึ่งใช้เป็นหลักฐานในการออก น.ส. ๓ ดังกล่าว ออกเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๔๙๘ ยังทับซ้อนที่ดินที่เคยเป็นพื้นที่ป่าคุ้มครองหรือป่าสงวนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พุทธศักราช ๒๔๘๑
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชี้แจงว่า ที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๔๒ ที่ออกให้แก่นายเสนเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ โดยอาศัย ส.ค. ๑ เลขที่ ๔๒ ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ได้มีการจำแนกประเภทที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ โดยให้จังหวัดประกาศเขตป่าที่จะสงวนคุ้มครองในท้องที่ ๖๐ จังหวัด และถือว่าเป็นประเภทที่ ๒ คือ ป่าซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการคุ้มครอง หรือสงวน หรือจัดเป็นป่าสัมปทาน ป่าผูกขาด และป่าโครงการ ต่อมามีการประกาศเป็นป่าจำแนกให้เป็นป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๐๖ และประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่านครราชสีมา-ปักธงชัยตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗๓๗ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๑๘ ผู้ฟ้องคดีได้เคยร้องเรียนต่อกรมป่าไม้เกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของการออกโฉนดโดยอาศัย น.ส. ๓ เลขที่ ๔๒ และ ส.ค. ๑ เลขที่ ๔๒ ได้ข้อสรุปว่า การออก น.ส. ๓ เลขที่ ๔๒ ไม่ได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมที่ดินและกรมป่าไม้ พ.ศ. ๒๕๐๑ น.ส. ๓ แปลงนี้ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องเพิกถอน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แจ้งให้กรมป่าไม้ทราบว่า เอกสารสารบบที่ดินแปลงดังกล่าวได้สูญหายไปจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเจ้าหน้าที่ได้ออกไปทำการรังวัดพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินแต่เมื่อใด คงพบแต่ภาพถ่ายซึ่งระบุในคำขอรับรองการทำประโยชน์ว่าเจ้าของที่ดินได้ยื่นคำขอเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๐๔ ประกาศการออก น.ส. ๓ เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๐๔ ย่อมสันนิษฐานได้ว่าเจ้าหน้าที่ได้ออกไปรังวัดพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ ให้บริเวณที่ออก น.ส. ๓ เป็นเขตป่าจำแนก กรณีจึงไม่ต้องถือปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ประกอบกับการออก น.ส. ๓ ดังกล่าวได้ดำเนินการโดยชอบด้วยระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแล้ว
ต่อมา สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการแก้ไขหรือเพิกถอน น.ส. ๓ แปลงดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสรุปว่ามีการแก้ไขเนื้อที่ใน ส.ค. ๑ เลขที่ ๔๒ แล้วนำไปออก น.ส. ๓ เลขที่ ๔๒ จริง โดยน่าเชื่อว่านายเดชา พนาสวรรค์ เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอเมืองนครราชสีมา ในขณะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่พิสูจน์ สอบสวนการทำประโยชน์และเสนอเรื่องต่อนายอำเภอเมืองนครราชสีมามีส่วนดำเนินการและรู้เห็น ตาม แต่เนื่องจากนายเดชาปัจจุบันได้ถึงแก่กรรมแล้วจึงไม่อาจดำเนินการทางวินัยใดๆ ได้ และกรมที่ดินได้พิจารณายุติเรื่อง
วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๗ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) มีมติให้ส่วนราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลให้เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกโดยอาศัย ส.ค. ๑ เลขที่ ๔๒ หรือ น.ส. ๓ เลขที่ ๔๒ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมา หากศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งถึงที่สุดประการใด ให้จังหวัดดำเนินการไปตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่อไป ซึ่งต่อมา กรมป่าไม้และ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นส่วนราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบแจ้งว่า สำนักงานอัยการเขต ๓ ได้สอบสวนข้อเท็จจริงจากนายวิสูตร นุตราวงค์ ผู้แทนคดี เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา กองทัพภาคที่ ๒ ความเห็นของ กบร. ประกอบคำพิพากษาศาลในคดีที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะฟ้องคดีต่อศาลจึงสั่งไม่รับว่าต่างคดีให้กรมป่าไม้ และอธิบดีอัยการเขต ๓ ได้เห็นชอบด้วย ซึ่งกรมป่าไม้พิจารณาแล้วมีความเห็นเช่นเดียวกันจึงขอให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเห็นว่า เมื่อสำนักงานอัยการเขต ๓ มีความเห็นไม่รับว่าต่างคดีเนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ประกอบกับกรมป่าไม้ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้เสียหายมีความเห็นเช่นเดียวกับสำนักงานอัยการเขต ๓ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจึงไม่มีอำนาจพิจารณาก้าวล่วงอำนาจของพนักงานอัยการใช้ดุลพินิจตามกฎหมายได้
ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ กรมที่ดินได้ยุติเรื่องเกี่ยวกับการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกสืบเนื่องจาก ส.ค. ๑ เลขที่ ๔๒ หรือ น.ส. ๓ เลขที่ ๔๒ และรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ซึ่งต่อมา ที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงมหาดไทยได้มีบันทึกที่ มท ๐๒๒๐/๒๒๖ ลงวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๕ แจ้งผลการพิจารณาว่าหากมีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยมิชอบ แม้ว่าพนักงานอัยการไม่รับว่าต่างคดีให้กรมป่าไม้ก็ตาม กรณีดังกล่าวก็หาทำให้เอกสารสิทธิในที่ดินที่ออกไปโดยมิชอบเป็นเอกสารสิทธิในที่ดินที่ชอบได้ การดำเนินการกับเอกสารสิทธิในที่ดินที่ออกไปโดยมิชอบดังกล่าวจึงเป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดินหรือรองอธิบดีที่ได้รับมอบหมายที่จะดำเนินการสอบสวนและดำเนินการตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเพื่อให้ได้ข้อยุติต่อไป
กรมที่ดินได้มีหนังสือที่ มท ๐๕๑๖.๒/๓๖๕๖๗ ลงวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๕ ให้จังหวัดนครราชสีมาสอบสวนข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของจังหวัดนครราชสีมา
ผู้ถูกฟ้องคดีที่๒ ชี้แจงว่า การออก น.ส. ๓ เลขที่ ๔๒ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ ไม่สามารถตรวจสอบให้เป็นที่แน่ชัดได้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยระเบียบการตรวจพิสูจน์เพื่อออกหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินเกี่ยวกับป่าระหว่างกรมที่ดินและกรมป่าไม้ พ.ศ. ๒๕๐๑ หรือไม่ เนื่องจากสารบบที่ดินได้สูญหายไป แต่ในส่วนของการนำ น.ส. ๓ ที่ได้แบ่งแยกมาจาก น.ส. ๓ เลขที่ ๔๒ ไปขอออกโฉนดที่ดินนั้นได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจพิสูจน์เพื่อออกโฉนดที่ดินตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมที่ดินกับกรมป่าไม้ พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นทุกราย
ศาลปกครองนครราชสีมาเห็นว่า คดีนี้มีประเด็นหลักแห่งคดีเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีว่าที่ดินพิพาทเป็นป่าสงวนแห่งชาติหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน การที่ศาลจะมีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้นจำต้องพิจารณาในปัญหาว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นของผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินหรือเป็นป่าสงวนแห่งชาติเป็นสำคัญ กรณีจึงเป็นเรื่องพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินอันเป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๔๙/๒๕๔๗
ศาลจังหวัดนครราชสีมาเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีประสงค์ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทเลขที่ ๖๑๒๖๓ และ ๖๑๒๖๔ โดยอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ออกโฉนดที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า การออกโฉนดที่ดินพิพาทได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าการออกโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าวได้กระทำโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยประเด็นในเรื่องว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือผู้มีชื่อในโฉนดหรือเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น ผู้ฟ้องคดีและผู้มีชื่อในโฉนดได้ฟ้องร้องกันต่อศาลยุติธรรมและคดีถึงที่สุดแล้วโดยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นป่าสงวนแห่งชาติ การออกโฉนดที่ดินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ในเรื่องการโต้แย้งสิทธิในที่ดินว่าจะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใดนั้นได้ยุติและถึงที่สุดแล้วและคู่ความในคดีของศาลยุติธรรมดังกล่าวต้องผูกพันตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมอันถึงที่สุดแล้ว แม้คำพิพากษาของศาลยุติธรรมดังกล่าวศาลปกครองอาจไม่ต้องถือตามแต่ถือเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญที่ปิดปากคู่ความในคดีในศาลยุติธรรมดังกล่าวให้ต้องถูกผูกพันมิให้โต้แย้งเป็นอย่างอื่น ทั้งคดีนี้ก็ไม่มีประเด็นโต้เถียงเรื่องสิทธิในที่ดินโดยตรงระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาท แต่ประเด็นหลักที่สำคัญโดยตรงคือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองคือ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออกโฉนดที่ดินพิพาทไปโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินไปโดยไม่สุจริตซึ่งก็คือการนำเอาที่ดินซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติไปออกโฉนดก็ต้องเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินตามที่ผู้ฟ้องคดี ประสงค์ทำให้ได้ที่ดินกลับคืนเป็นของแผ่นดิน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การคดีนี้สรุปได้ว่า ขณะยื่นฟ้อง (ร้องทุกข์) ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกอ้างว่า ตนเองเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยตลอด แต่ต่อมานายบุญคุณ จิตตั้งบุญญา นำเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดที่ดินเพี่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๔๒ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กับพวก คัดค้านการรังวัดและยื่นฟ้องคดีต่อศาล แต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องเพราะที่ดินพิพาทเป็นป่าสงวนแห่งชาติ (ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดนครราชสีมา หมายเลขแดงที่ ๒๔๖๘/๒๕๓๔) อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก็ยังออก น.ส. ๓ เลขที่ ๔๒ ในที่ดินพิพาทให้แก่นายบุญคุณและมีการนำ น.ส. ๓ ดังกล่าวนี้ไปออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๒๖๓ และเลขที่ ๖๑๒๖๔ ต่อมามีการโอนขายที่ดินตามโฉนดพิพาทให้แก่ บริษัทธันวาพัฒนา จำกัด ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าโฉนดที่ดินพิพาทจึงออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะทับที่ป่าสงวนแห่งชาติ ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าวและให้ตีความว่าผู้ฟ้องคดีกับพวกมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การสรุปได้ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติแต่มิได้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การออก น.ส. ๓ และโฉนดที่ดินพิพาทได้ดำเนินการโดยชอบด้วยระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแล้ว ทั้งภายหลังที่ผู้ฟ้องคดีมาร้องเรียนนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีทำการตรวจสอบและเป็นที่ยุติแล้วว่า การออก น.ส. ๓ และโฉนดที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น มูลความแห่งคดีนี้จึงสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีกับพวกอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและตนเองมีสิทธิครอบครอง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองออก น.ส. ๓ ในที่ดินพิพาทให้แก่ผู้อื่นซึ่งต่อมามีการนำ น.ส. ๓ ดังกล่าวไปออกเป็นโฉนดแล้วโอนไปเป็นของบริษัทธันวา ฯ อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนโฉนดและรับรองสิทธิของผู้ฟ้องคดีกับพวกในที่ดินพิพาท ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทมิได้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การออกโฉนดดังกล่าวดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้มีชื่อเป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีกับพวกได้ทั้งหมด ทั้งผลของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิในที่ดินของผู้มีชื่อโดยตรง และแม้ภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีกับพวกยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาเกี่ยวกับ น.ส. ๓ ฉบับพิพาทก็ตาม แต่ขณะยื่นฟ้องคดีนี้ยังมีปัญหาที่ศาลจำต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินดังที่กล่าวมาแล้ว คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง ร้อยตำรวจตรี เลา ชินวงษ์ กับพวก ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share