คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1311/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 77ให้อำนาจพนักงานตรวจแรงงานที่จะให้คำเตือนเพื่อให้นายจ้างปฏิบัติการให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด ในกรณีที่เห็นว่านายจ้างฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง คำเตือนดังกล่าวมีลักษณะเป็นการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง มิใช่คำวินิจฉัยชี้ขาด ว่านายจ้างฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดคุ้มครองแรงงาน และไม่มีผลบังคับให้นายจ้างต้องปฏิบัติตาม จึงไม่เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของนายจ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 นายจ้างไม่มีอำนาจฟ้องพนักงานตรวจแรงงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานของจำเลยที่ 1 ได้ส่งคำเตือนของพนักงานเจ้าหน้าที่ สั่งให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน โดยอ้างว่าโจทก์เลิกจ้างลูกจ้างซึ่งมิได้กระทำผิด โจทก์เห็นว่าคำเตือนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริง เพราะโจทก์มิได้เลิกจ้าง แต่ลูกจ้างของโจทก์ทำงานโดยจงใจให้โจทก์เสียหาย กำลังจะถูกปลดออก จึงรีบลาออกเสียก่อน ขอให้เพิกถอนคำเตือนดังกล่าว

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยไม่ได้สั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าชดเชยเพียงแต่เตือนให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างซึ่งโจทก์เลิกจ้างโดยมิได้มีความผิด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า คำเตือนของจำเลยไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 77 เป็นการให้อำนาจพนักงานตรวจแรงงานที่เห็นว่านายจ้างฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่มีการเลิกจ้าง ให้คำเตือนเพื่อให้นายจ้างปฏิบัติการให้ถูกต้องและไม่มีความผิด คำเตือนดังกล่าวมีลักษณะเป็นการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ใช่คำวินิจฉัยชี้ขาดว่านายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่มีการเลิกจ้าง ถ้านายจ้างเห็นว่าคำเตือนไม่ถูกต้องจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติบังคับให้จำเลยต้องปฏิบัติตามคำเตือน จึงไม่เกิดผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

พิพากษายืน

Share