แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การขยายระยะเวลายื่นฎีกาเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาและมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฎีกา จำเลยที่ 4 ย่อมอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคหนึ่ง เพราะคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งภายหลังที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว จึงไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 4
คดีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 วันที่ 14 มิถุนายน 2549 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกามีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2549 อ้างว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอคัดถ่ายคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คำเบิกความพยานโจทก์ พยานจำเลยและเอกสารที่คู่ความอ้างส่ง แต่ยังไม่ได้รับเอกสารดังกล่าว และหากโจทก์มีคำสั่งไม่ฎีกาต้องส่งสำนวนพร้อมคำสั่งไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 เพื่อพิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฎีกาถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2549
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของโจทก์และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตามกฎหมายต่อไป
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์แล้วคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฎีกาเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 หรือไม่ เห็นว่า การขยายระยะเวลายื่นฎีกาเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาและมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฎีกา จำเลยที่ 4 ย่อมอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคหนึ่ง เพราะคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งภายหลังที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว และข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2549 จึงยังไม่มีการสั่งรับฎีกาของโจทก์ในขณะที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 จึงไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า มีเหตุสมควรขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์มิได้ไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามกำหนดนัดของศาลชั้นต้น แต่โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคัดถ่ายคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คำเบิกความพยานโจทก์ พยานจำเลย และเอกสารที่คู่ความอ้างส่งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2549 หลังจากที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพียง 3 วันทำการ ซึ่งเป็นระยะเวลาพอสมควร ทั้งปรากฏตามคำร้องขอคัดถ่ายเอกสารของโจทก์ฉบับลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2549 ว่า เจ้าหน้าที่ศาลได้บันทึกในคำร้องฉบับดังกล่าวว่าได้ถ่ายเอกสารให้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2549 หลังจากที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคัดถ่ายเอกสารเป็นระยะเวลา 15 วัน ดังนี้ ไม่ว่าโจทก์จะยื่นคำร้องขอคัดถ่ายเอกสารก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2549 หรือไม่ เจ้าหน้าที่ศาลก็ต้องใช้ระยะเวลาในการถ่ายเอกสารเช่นเดียวกัน กรณียังถือไม่ได้ว่า โจทก์ปล่อยปละละเลยหรือไม่เร่งรีบขวนขวายในการขอคัดถ่ายเอกสารถ้อยคำสำนวนเพื่อฎีกา คดีนี้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การปฏิเสธ มีพยานบุคคลและพยานเอกสารหลายปากและหลายฉบับ ประกอบกับศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คดีจึงมีปัญหายุ่งยากสลับซับซ้อน ดังนั้น ระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ถ่ายเอกสารตามคำขอของโจทก์แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2549 จนถึงวันที่ครบกำหนดยื่นฎีกาในวันที่ 17 มิถุนายน 2549 ซึ่งมีเวลาเพียง 10 วัน จึงไม่น่าเพียงพอที่โจทก์จะจัดทำฎีกาให้แล้วเสร็จได้ทันกรณีจึงมีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฎีกาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้นและดำเนินการต่อไป