คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2433/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่จำเลยนำสืบว่าที่พิพาทเป็นที่ดินราชพัสดุก็เพื่อแสดงว่าโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครอง สิทธิครอบครองเป็นของจำเลยจำเลยชอบที่จะนำสืบได้ ไม่เป็นการนำสืบนอกประเด็นหรือนอกคำให้การ จำเลยอุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายว่า โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโจทก์ เมื่อปรากฏว่าที่พิพาทไม่ใช่ที่ดินโจทก์ ศาลชั้นต้นยังพิพากษาขับไล่จำเลย จึงเป็นการเกินคำขอของโจทก์ ในการพิจารณาข้อกฎหมายว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอของโจทก์หรือไม่ศาลอุทธรณ์ต้องฟังข้อเท็จจริงก่อนว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์หรือไม่ หากที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ไม่เกินคำขอ หากอยู่ในที่ดินแปลงอื่นของบุคคลอื่นคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็เกินคำขอ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าที่พิพาทเป็นที่ราชพัสดุคนละแปลงกับที่ดินโจทก์เพื่อที่จะได้วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ ก็อยู่ในขอบเขตที่จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษาเกินอุทธรณ์แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยเช่าที่ดินบางส่วนปลูกบ้านอยู่อาศัย ต่อมาไม่ชำระค่าเช่าและบุกรุกขุดร่อง ในที่ดินนอกเขตที่เช่า ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินภายในวงเส้นสีแดงตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับให้จำเลยรื้อเรือนออกไปและใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า จำเลยปลูกเรือนอยู่ในที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่เคยเช่าหรือขออาศัยในที่ดินโจทก์ที่ดินที่จำเลยอาศัยอยู่นอกเขตที่ดินโจทก์ และจำเลยไม่เคยบุกรุกขุดร่อง ในที่ดินนอกเขตที่ดินที่ครอบครอง ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่พิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยรื้อเรือนออกจากที่ดินและคืนที่พิพาทให้โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่โดยไม่วินิจฉัยว่าที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์หรือไม่ และพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เชื่อว่าที่พิพาทเป็นที่ราชพัสดุและเป็นคนละแปลงกับที่ดินโจทก์ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาในข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ดังนั้นในชั้นพิจารณาจำเลยนำสืบว่าที่พิพาทเป็นที่ดินราชพัสดุ จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นนอกคำให้การ นั้นเห็นว่า การที่จำเลยนำสืบว่าที่พิพาทเป็นที่ดินราชพัสดุ ก็เพื่อแสดงว่าโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองสิทธิครอบครองเป็นของจำเลย จำเลยชอบที่จะนำสืบได้ไม่เป็นการนำสืบนอกประเด็นนอกคำให้การแต่อย่างไร ฎีกาข้อต่อไปของโจทก์ว่าอุทธรณ์ของจำเลยกล่าวอ้างเฉพาะข้อกฎหมายว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอเพราะโจทก์ฟ้องขับไล่ จำเลยออกจากที่ดินโจทก์ เมื่อปรากฏว่าที่พิพาทไม่ใช่ที่ดินโจทก์ ศาลชั้นต้นยังพิพากษาขับไล่จำเลยจึงเป็นการเกินคำขอของโจทก์ แต่ศาลอุทธรณ์กลับฟังว่าที่พิพาทเป็นที่ราชพัสดุและเป็นคนละแปลงกับที่ดินโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจึงเป็นการพิพากษาเกินอุทธรณ์ของจำเลยนั้น เห็นว่าในการพิจารณาข้อกฎหมายว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอของโจทก์หรือไม่ก็ต้องฟังข้อเท็จจริงก่อนว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์หรือไม่ หากที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินดังกล่าวของโจทก์ คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ไม่เกินคำขอ หากอยู่ในที่ดินแปลงอื่นของบุคคลอื่น คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็เกินคำขอ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าที่พิพาทเป็นที่ราชพัสดุคนละแปลงกับที่ดินโจทก์เพื่อที่จะได้วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ก็อยู่ในขอบเขตที่จำเลยอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะใช้ถ้อยคำว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายความว่าศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอตามที่จำเลยอุทธรณ์นั่นเอง ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษาเกินอุทธรณ์แต่อย่างไร สำหรับฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่าที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารหมาย จ.2ของโจทก์นั้น ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้โจทก์จำเลยนำสืบตรงกันว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวของโจทก์ด้านทิศเหนือจดแม่น้ำตาปี จำเลยปลูกบ้านอยู่ริมแม่น้ำตาปี ปัญหานี้โจทก์มีพยานคือตัวโจทก์เบิกความว่า เมื่อซื้อที่ดินแล้ว ได้ขุดคูยกร่อง ทำเป็นถนนรอบที่ดิน ด้านที่ติดแม่น้ำตาปียกร่อง เป็นถนนห่างจากแม่น้ำประมาณ 10 วา เหตุที่ไม่ทำติดแม่น้ำเพราะที่ดินติดแม่น้ำเป็นที่ลาดลุ่ม ลงไป เมื่อเดือน 6 พ.ศ. 2521 จำเลยขอเช่าที่ดินบางส่วนของโจทก์ โจทก์คิดค่าเช่าปีละ 250 บาท พ.ศ. 2525 จำเลยไม่ชำระค่าเช่า โจทก์จึงไปร้องเรียนต่อทางอำเภอ จำเลยอ้างว่าเป็นที่ดินหลวง นางสงวน เพชรแสง พยานโจทก์เบิกความว่าอยู่ใกล้ที่พิพาทมาประมาณ 40 ปีแล้ว เห็นว่าที่พิพาทกับที่ดินโจทก์มีสภาพเหมือนเดิมโดยติดต่อเป็นแปลงเดียวกัน ฝ่ายจำเลยมีพยานคือนายผ่อน ศรีเทพ เบิกความว่า พยานเคยเป็นคนเฝ้าไม้ซุงซึ่งจอดที่บริเวณดังกล่าวทางทิศเหนือของที่ดินพระภิกษุเขมินทร์ (หมายถึงที่ดินโจทก์) จดแม่น้ำตาปี แม่น้ำตาปีตอนนั้นเรียกว่าบางท่าข้าม เมื่อพยานไปทำงานครั้งแรก ลำบางกว้าง 10 กว่าวาแต่ต่อมาก็แคบลงเรื่อย ๆ นายทองดี นิ่มนวล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 เบิกความว่า ที่ดินของพระภิกษุเขมินทร์ติดลำบางท่าข้ามส่วนเกาะที่จำเลยปลูกบ้านยาว 10 วาเศษ กว้าง 5 วา เกาะดังกล่าวอยู่หน้าที่ดินของพระภิกษุเขมินทร์ นายเติม พิชัย เบิกความว่าระหว่างที่ดินของโจทก์กับจำเลยมีลำบางท่าข้ามกั้นอยู่ลำบางท่าข้ามกับคลองแม่น้ำตาปีนั้นคืออันเดียวกันแต่คนละชื่อ นายจำรัสแสงอาวุธ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 เบิกความว่าระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่พิพาทมีคลองกั้นอยู่ คลองที่กั้นอยู่เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำตาปี และนายทองใบ จุ้ยกระโทก ข้าราชการประจำสำนักงานราชพัสดุ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เบิกความว่า ที่พิพาทอยู่หน้าที่ดินโจทก์ ระหว่างที่พิพาทกับที่ดินของโจทก์เป็นลำบางท่าข้าม เห็นว่าพยานจำเลยคือนายทองดี นายจำรัส และนายทองใบเป็นเจ้าพนักงานและไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด คำเบิกความจึงมีน้ำหนัก และเมื่อพิจารณาตามแผนที่เอกสารหมาย ล.6 แล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่าระหว่างที่ดินที่จำเลยปลูกบ้านกับที่ดินโจทก์มีลำบางท่าข้ามคั่นไม่เป็นผืนเดียวกัน ภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 ก็แสดงภาพของลำบางท่าข้ามว่ามีความกว้างหลายวา ซึ่งน่าจะเกิดเองตามธรรมชาติไม่ใช่คนขุดทำขึ้น จึงฟังได้ว่าระหว่างที่พิพาทกับที่ดินโจทก์มีลำบางท่าข้ามซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำตาปีคั่น ที่พิพาทไม่อยู่ในเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.2ที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวระบุว่าทิศเหนือของที่ดินโจทก์จดแม่น้ำตาปี คงหมายถึงจดลำบางท่าข้ามนั่นเอง เพราะลำบางนี้เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำตาปีและประชาชนเรียกชื่อลำบางและแม่น้ำตาปีสับสนกัน โจทก์ไม่มีสิทธิขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหาย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share