คำวินิจฉัยที่ 35/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๕/๒๕๔๘

วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๕๔๐

ศาลจังหวัดตรัง
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดตรังโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ กระทรวงการคลัง โจทก์ ยื่นฟ้อง นางเกียรติสุดา วงศ์มีบุญ จำเลย ต่อศาลจังหวัดตรัง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๑๖/๒๕๔๗ ความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในนามของโจทก์และ มีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๔๘๒ มีอำนาจสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเปิดประมูลอากรรังนกอีแอ่น รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูลทำสัญญาเก็บรังนกอีแอ่นเพื่อนำเงินอากรส่งเป็นรายได้ของโจทก์ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเปิดประมูลเงินอากรเก็บรังนกอีแอ่นใน ๑๘ เกาะของพื้นที่จังหวัดตรัง มีระยะเวลา ๕ ปี ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๘ ถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ โดยมีเงื่อนไขตัดสินด้วยวงเงินสูงสุดที่ผู้เสนอประมูลเงินอากรและผู้ชนะการประมูลซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะต้องไปทำสัญญากับผู้ว่าราชการจังหวัดตรังตามแบบของทางราชการ มิฉะนั้นจะถูกริบหลักประกันซองและต้องชดใช้ความเสียหายอื่นอันพึงมี เมื่อจังหวัดตรังได้พิจารณาใบเสนอราคาของผู้ประมูลทุกรายแล้ว ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้เสนอวงเงินอากรสูงสุดเป็นเงิน ๙๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และยินยอมแบ่งส่วนของเงินกำไรสุทธิหรือเงินได้สุทธิในแต่ละปีให้กรมสรรพากรอีกร้อยละ ๒๐ จำเลยจึงเป็นผู้ชนะการประมูล โดยจำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเพื่อขออนุญาตเข้าไปดูแลเกาะรังนกช่วงปลอดสัญญาเพื่อป้องกันการฉกฉวยผลประโยชน์ของผู้อื่นหรือกลั่นแกล้งทำลายนกเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำขอของจำเลย ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้มีหนังสือ ที่ ตง ๐๐๐๖/๑๙๙๐ ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๓๙ แจ้งให้จำเลยทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้พิจารณาและสั่งอนุญาตให้จำเลยเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นในเขตท้องที่จังหวัดตรัง ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๘ ถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ให้จำเลยไปทำสัญญากับผู้ว่าราชการจังหวัดตรังในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ แต่จำเลยได้มีหนังสือขอเลื่อนกำหนดการทำสัญญาออกไปเป็นวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ ครั้นถึงกำหนดจำเลยก็ไม่ได้นำหลักประกันที่กำหนดไว้มาทำสัญญาและขอเลื่อนกำหนดเวลาทำสัญญาออกไปอีกโดยจำเลยมีเจตนาประวิงการทำสัญญาเพื่อถือโอกาสเก็บรังนกอีแอ่นโดยหลีกเลี่ยงไม่จ่ายเงินอากรให้แก่โจทก์ รวมทั้งส่วนแบ่งกำไรที่จะต้องแบ่งให้กรมสรรพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังจึงมีหนังสือแจ้งยกเลิกการทำสัญญาเก็บรังนกอีแอ่นกับจำเลย ตามหนังสือ ที่ ตง ๐๐๐๖/๑๖๗๙๗ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๙ ต่อมาเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บรังนกอีแอ่นจังหวัดตรังผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการให้สัมปทาน ตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงได้ประกาศเปิดประมูลอากรรังนกอีแอ่นในพื้นที่เดิมอีกครั้ง และห้างหุ้นส่วนจำกัด สตูล – ตรัง ได้รับอนุญาตเข้าเก็บรังนกอีแอ่นด้วยเงินอากร ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ระยะเวลา ๕ ปี ตั้งแต่วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๕ โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยผิดเงื่อนไขประมูลเงินอากรเก็บรังนกอีแอ่น ขอให้ชำระค่าเสียหายจำนวน ๘๕,๕๔๖,๘๗๔.๙๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๖๐,๘๓๓,๓๓๓.๓๓ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากปัจจุบันพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๕๔๐ ดังนั้นกระทรวงการคลัง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ เกี่ยวกับอากรรังนกอีแอ่นอีกต่อไป และมิได้เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๕๔๐ แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ซึ่งประกาศจังหวัดตรัง ลงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ ข้อ ๘.๑ ได้กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลที่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ต้องไปทำสัญญากับผู้ว่าราชการจังหวัดตรังตามแบบของทางราชการ มิฉะนั้นจะถูกริบหลักประกันซอง หรือผู้ค้ำประกัน หรือเรียกร้องชดใช้ค่าเสียหายอื่นถ้ามี ดังนั้นกรณีมีการผิดเงื่อนไข การได้รับอนุญาตเข้าทำสัญญาตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นผู้มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดี นอกจากนี้จำเลยมิได้กระทำผิดเงื่อนไขในการเข้าร่วมประมูลเก็บรังนกอีแอ่นแต่เกิดจากการกระทำของโจทก์ ตัวแทนโจทก์ และเจ้าหน้าที่ของโจทก์ โดยตามเงื่อนไขดังกล่าวผู้ได้รับอนุญาตให้เก็บรังนกอีแอ่น มีสิทธิเก็บรังนกอีแอ่นได้จำนวน ๕ ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๘ ถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ แต่ได้ดำเนินการเพื่อให้จำเลยเข้าทำสัญญาครั้งแรกในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ ระยะเวลาล่วงเลยการอนุญาตจัดเก็บรังนก สำหรับปีแรก ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๘ เป็นเวลาร่วม ๒ เดือนเศษ ทั้งโจทก์ ตัวแทนโจทก์ และเจ้าหน้าที่ของโจทก์ ได้ออกหนังสือลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๓๙ แจ้งให้จำเลยมาทำสัญญาเป็นหนังสือซึ่งจำเลยได้ทราบเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ อันเป็นระยะเวลากระชั้นชิดกับวันทำสัญญา (วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙) จำเลยได้ขอขยายระยะเวลาทำสัญญาเป็นวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ และผู้ว่าราชการจังหวัดตรังตัวแทนโจทก์อนุญาต และได้ยกเลิกหลักเกณฑ์เดิมโดยให้จำเลยนำเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลซึ่งโอนกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังมาวางเป็นหลักประกันในการทำสัญญา ร้อยละ ๑๐ ของวงเงินประมูลเป็นเงิน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยแบ่งชำระในวันทำสัญญากึ่งหนึ่งเป็นเงิน ๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท และภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันทำสัญญาอีก ๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท และจัดหาผู้ค้ำประกันและผู้รับเรือน หรือจะให้ธนาคารเป็นผู้ค้ำประกันและรับเรือนก็ได้ จนกระทั่งถึงวันทำสัญญาจำเลยเห็นว่าการนำเงินสดมาวางไม่สะดวก จึงได้ติดต่อซื้อพันธบัตรรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งว่าได้เลิกจำหน่ายแล้ว จำเลยจึงได้ติดต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาถนนศรีภูวนาถ ออกสัญญาค้ำประกันของธนาคารตามเงื่อนไขให้แทน แต่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ จึงขอเลื่อนการทำสัญญาเพื่อหารือกับกรมสรรพากร ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดตรังออกหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตง ๐๐๐๖/๗๐๘๔ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๓๙ และ ที่ ตง ๐๐๐๖/๗๖๓๗ ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๓๙ ให้จำเลยไปทำสัญญากับผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๓๙ โดยกำหนดให้จำเลยต้องนำเงินสดมาวางเป็นประกันในวันทำสัญญา ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท จัดหาผู้ค้ำประกันและผู้รับเรือน หรือจะให้ธนาคารเป็นผู้ค้ำประกันและรับเรือนก็ได้ และจะต้องหาเงินสดมาชำระค่าอากรสำหรับงวดที่ ๑ ของปีที่ ๑ จำนวน ๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท ในวันทำสัญญาอีกด้วย รวมเป็นเงินสดเฉพาะในวันทำสัญญา ๑๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งผิดไปจากเงื่อนไขตามที่ตกลงกันไว้ จำเลยได้โต้แย้งและขอขยายระยะเวลาอายุสัญญาการได้รับอนุญาตจัดเก็บรังนกอีแอ่นออกไปอีกหนึ่งปีเพื่อให้ถูกต้องกับความเป็นจริงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่านกรมสรรพากรจังหวัดตรังตัวแทนโจทก์ ซึ่งได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าจะนำหนังสือดังกล่าวให้โจทก์พิจารณาและแจ้งให้จำเลยทราบอีกครั้งหนึ่ง แต่ปรากฏว่าพนักงานสรรพากรจังหวัดตรัง ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กลับมีหนังสือถึงโจทก์ให้พิจารณายกเลิกการทำสัญญากับจำเลย และให้เรียกผู้เสนอประมูลเงินอากรรายถัดจากจำเลยเข้ามาทำสัญญาแทนจำเลย มิได้ดำเนินการตามที่แจ้งไว้แต่อย่างใด ดังนั้นการที่โจทก์ไม่แจ้งให้จำเลยมาทำสัญญาก่อนตามข้อคัดค้านหรือตามที่ได้กำหนดไว้เดิม ซึ่งจำเลยสามารถเข้าทำสัญญาได้อย่างแน่นอน แต่โจทก์กลับมีคำสั่งยกเลิกการทำสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นกับจำเลย และยกเลิกการให้อนุญาตเข้าดูแลเกาะรังนกพร้อมริบหลักประกันซองของจำเลย ทั้งอนุญาตให้ผู้ประมูลรายถัดจากจำเลยเข้าทำสัญญาแทนจำเลย การกระทำของโจทก์และตัวแทนของโจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดเงื่อนไขและผิดสัญญาแต่เพียงฝ่ายเดียว ขอให้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ และคืนเงินหลักประกันซองจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ อนึ่งจำเลยโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดตรังเนื่องจากมูลเหตุแห่งคดีเป็นมูลเหตุทางปกครอง คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้งโจทก์เนื่องจากจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประมูลเงินอากรเก็บรังนกอีแอ่น โจทก์จึงมีสิทธิริบหลักประกันซองหรือเรียกร้องจากผู้ออกหนังสือค้ำประกันซอง ตามที่กำหนดไว้ในเอกสารการประมูล ข้อ ๘.๑ และโจทก์ยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่า คดีนี้จำเลยเป็นผู้ชนะการประมูลและโจทก์อนุญาตให้จำเลยเข้าทำสัญญาเก็บรังนกอีแอ่นในเขตท้องที่จังหวัดตรัง แต่จำเลยไม่มาทำสัญญาตามกำหนดทางจังหวัดตรังจึงริบประกันซองแสดงว่าคู่สัญญามีเจตนาว่าสัญญาอันมุ่งจะทำต่อกันนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือตามแบบของทางราชการ เมื่อคู่สัญญายังไม่ไปลงนามในหนังสือสัญญา สัญญาสัมปทานจึงยังไม่เกิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๓๖๖ วรรค ๒ (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๖๐๑๔/๒๕๓๙) แต่ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายเข้าทำสัญญาเป็นหนังสือ จำเลยได้ขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (ผู้แทนโจทก์) เข้าครอบครองเกาะต่างๆ ทั้ง ๑๘ เกาะ และในระหว่างที่ได้รับแจ้งให้มาทำสัญญา จำเลยก็ยังครอบครองเกาะอยู่และจัดเก็บรังนกอีแอ่นไปเป็นประโยชน์ตลอดมา ซึ่งเท่ากับว่าคู่กรณีได้ตกลงกันใหม่ ให้คู่สัญญาได้ปฏิบัติตามสัญญาไปก่อนโดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราว ซึ่งทำให้คู่สัญญาต้องผูกพันปฏิบัติตามสัญญาและสัญญาดังกล่าวไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๓๖/๒๕๔๒) การที่จำเลยเข้าครอบครองเกาะและจัดเก็บรังนกอีแอ่นไปเป็นประโยชน์ตลอดมา จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งค่าอากรให้กับโจทก์และค่าเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข เมื่อโจทก์มิได้มีข้อพิพาทกับจำเลยเกี่ยวกับสัญญาสัมปทาน จึงไม่เป็นสัญญาทางปกครอง คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดตรังเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่ สืบเนื่องมาจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลอากรรังนกอีแอ่นและได้รับสัมปทานจากโจทก์ไม่มาทำสัญญากับโจทก์ โดยที่สัญญาสัมปทานที่จำเลยชนะการประมูลนั้นเป็นสัญญาทางปกครองซึ่งจำเลยจะต้องทำสัญญาดังกล่าวกับหน่วยงานของรัฐ คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลปกครองสงขลาเห็นว่า มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พุทธศักราช ๒๔๘๒ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กำหนดให้ผู้ที่จะเก็บรังนกอีแอ่นต้องได้รับอนุญาตและเสียเงินอากรตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ประกอบกับข้อ ๓ ของกฎกระทรวงการคลังออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ระบุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้มีอำนาจอนุญาตให้ผู้ใดเก็บรังนกอีแอ่น และในข้อ ๕ ของกฎกระทรวงนี้ ระบุว่าการอนุญาตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นอันใช้ได้ต่อเมื่อผู้รับอนุญาตได้ทำสัญญากับผู้ว่าราชการจังหวัดตามแบบของกรมสรรพากร นอกจากนี้ในข้อ ๗ ของเอกสารประมูลเงินอากรเก็บรังนกอีแอ่นตามประกาศจังหวัดตรัง ลงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ ยังได้กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลและได้รับอนุญาตให้เก็บรังนกอีแอ่นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะต้องมาทำสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นกับผู้ว่าราชการจังหวัดตรังตามแบบของทางราชการด้วย เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า จำเลยเป็นผู้ชนะการประมูลเงินอากรเก็บรังนกอีแอ่นตามประกาศจังหวัดตรัง ลงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นในเขตท้องที่จังหวัดตรัง ในระหว่างวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๘ ถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ แต่จำเลยไม่ยอมเข้าทำสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นกับผู้ว่าราชการจังหวัดตรังตามแบบที่ทางราชการกำหนด หลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้แจ้งให้จำเลยทราบว่ากระทรวงการคลังให้ยกเลิกการทำสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นกับจำเลย สัญญาดังกล่าวจึงยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การและฟ้องแย้ง สรุปได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองโดยเจ้าหน้าที่ เปิดประมูลเงินอากรเก็บรังนกอีแอ่น เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ จำเลยยื่นซองประมูลโดยมีหลักประกันและเป็นผู้ชนะการประมูลในครั้งนั้น โดยจำเลยจะต้องเข้าทำสัญญาเก็บรังนกอีแอ่นกับโจทก์ ในระหว่างนั้นจำเลยขอและได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้เข้าเก็บรังนกไปพลางก่อนโดยมิได้ส่งเงินอากร แต่ต่อมาคู่ความก็มิได้เข้าทำสัญญาต่อกัน จนกระทั่งโจทก์มีหนังสือยกเลิกการทำสัญญาเก็บรังนกอีแอ่นดังกล่าว โดยอ้างว่าจำเลยไม่ยอมมาทำสัญญาและฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีนี้ ส่วนจำเลยให้การอ้างว่าการที่ไม่ได้เข้าทำสัญญาต่อกันนั้นเป็นเพราะความผิดของโจทก์เอง ทั้งฟ้องแย้งขอให้คืนหลักประกัน ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเกิดจากการที่โจทก์เปิดประมูลเงินอากรเก็บรังนกอีแอ่น ซึ่งตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๑๔ วรรคสอง บัญญัติว่า “การขอรับสัมปทานในแต่ละจังหวัดให้ทำโดยการประมูลเงินอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกาศกำหนด” และมาตรา ๑๕ บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานชำระเงินอากรเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดในสัมปทาน หรือชำระไม่ครบถ้วน ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๑.๕ ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินอากรที่ต้องชำระ เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นเงินอากร” ดังนั้นผู้ที่จะเก็บรังนกฯ ได้จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับสัมปทานด้วยการประมูลเงินอากรและจะต้องจ่ายเงินอากรให้แก่รัฐ หากผู้รับสัมปทานชำระเงินอากรล่าช้าหรือไม่ครบถ้วนก็จะต้องเสียเงินเพิ่ม เงินอากรเก็บรังนกอีแอ่นจึงเป็นเงินค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่รัฐเรียกเก็บและกฎหมายกำหนดให้เป็นเงินภาษีอากร ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ เมื่อข้อพิพาทคดีนี้เกิดจากการที่โจทก์จัดเปิดประมูลเงินอากรเก็บรังนกฯ และจำเลยเป็นผู้ชนะการประมูลซึ่งจะต้องเข้าทำสัญญาเก็บรังนกกับโจทก์แต่ในระหว่างนั้นจำเลยได้เข้าเก็บรังนกไปพลางก่อนแล้วโดยไม่ได้เสียอากร และมิได้เข้าทำสัญญาต่อกัน โจทก์จึงยกเลิกการชนะประมูลของจำเลยแล้วมาฟ้องเป็นคดีนี้ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากร และเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อผูกพันซึ่งได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากร อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร มาตรา ๗ (๒) และ (๔)
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง กระทรวงการคลัง โจทก์ นางเกียรติสุดา วงศ์มีบุญ จำเลย เป็นคดีภาษีอากร อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(นายศุภชัย ภู่งาม) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท พลโท
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share