คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 517/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สิทธิในการฎีกาย่อมต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแม้โจทก์และจำเลยจะขอสละสิทธิในการฎีกา ก็หาได้มีผลเป็นการตัดสิทธิโจทก์และจำเลยไม่ให้ฎีกาโดยเด็ดขาดไม่ โจทก์และจำเลยยังคงมีสิทธิที่จะฎีกาได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย คดีจึงยังไม่ถึงที่สุดในวันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่จำเลยขอให้ศาลออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดย้อนหลังไปในวันดังกล่าวจึงไม่อาจกระทำได้.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 99พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16, 17พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 มาตรา 4 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นบทหนัก ปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน109,663,779.20 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยออกหมายกักขังมีกำหนด 2 ปีของกลางให้ริบ จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับและให้จ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานผู้จับตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยทั้งสองฟังเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2535 ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม 2535จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอสละสิทธิการฎีกาและวันที่ 11 สิงหาคม2535 โจทก์ยื่นคำแถลงว่า โจทก์มีคำสั่งไม่ฎีกาแล้วตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2535 ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2535 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีหมายแจ้งไปยังสถานกักขังกลางว่าคดีนี้ถึงที่สุดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2535 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีจะถึงที่สุดเมื่อพ้นเวลาฎีกา จึงออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดเมื่อพ้นกำหนดเวลาฎีกาแล้ว
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า คดีของจำเลยทั้งสองถึงที่สุดตั้งแต่วันใด เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 บัญญัติว่า วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ ซึ่งตามมาตรา 147วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติว่า”คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง ฯลฯ” คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองฟังเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2535 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม แต่ก็อาจดำเนินให้มีการอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ทั้งไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย คดีจึงอาจฎีกาได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ดังนั้น คดีจึงถือว่าเป็นที่สุดเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของวันสุดท้ายที่อาจฎีกาได้ ซึ่งวันสุดท้ายที่อาจฎีกาได้คดีนี้คือวันที่ 23 สิงหาคม 2535 ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่โจทก์ยื่นคำแถลงว่าโจทก์ไม่ฎีกา และจำเลยทั้งสองยื่นร้องขอสละสิทธิในการฎีกา ย่อมหมายถึงโจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ประสงค์จะใช้สิทธิฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงเป็นการตัดสิทธิโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้ว โจทก์และจำเลยทั้งสองจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอีกไม่ได้ คดีจึงถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2535 นั้น เห็นว่า สิทธิในการฎีกาย่อมต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แม้โจทก์และจำเลยทั้งสองจะขอสละสิทธิในการฎีกา ก็หาได้มีผลเป็นการตัดสิทธิโจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ให้ฎีกาโดยเด็ดขาดไม่ โจทก์และจำเลยทั้งสองยังคงมีสิทธิที่จะฎีกาได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย คดีจึงยังไม่ถึงที่สุดในวันที่ 23 กรกฎาคม 2535 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาดังนั้น ที่จำเลยทั้งสองขอให้ออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดย้อนหลังไปในวันที่ 23 กรกฎาคม 2535 ซึ่งเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจกระทำได้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share