คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3945/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผลของการทำละเมิดของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บกระดูกขาขวาท่อนล่าง ซึ่งมี 2 ท่อนคู่กันกระดูกแต่ละท่อนได้หัก 2 แห่ง และมีแผลฉีกขาดที่ปลายขาขวา ยาว 20 เซนติเมตร แพทย์ต้องตัดเนื้อเยื่อจากส่วนอื่นของร่างกายมาใส่แผลที่ฉีกขาด ต้องผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกที่หัก ถึง 2 ครั้ง โจทก์ต้องรับการรักษาต่อเนื่องนานนับปี ต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานเป็นอันมาก มีรอยแผลเป็นและไม่สามารถเดินได้อย่างปกติเพราะขายาวไม่เท่ากัน เห็นได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกได้จากจำเลยผู้ทำละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 446 วรรคหนึ่ง และการที่โจทก์ต้องรับการผ่าตัดกระดูกขาขวานั้นเอง ทำให้โจทก์ไม่สามารถประกอบการงานขับรถจักรยานยนต์ส่งเอกสารได้จนถูกบริษัทนายจ้างสั่งให้ออกจากงาน แม้ต่อมาโจทก์จะได้กลับไปทำงานขับรถส่งเอกสารอีก แต่ก็ไม่สามารถขับไปส่งในระยะไกล ๆ ได้ดังเดิม ทำให้รายได้โจทก์ลดลงจากเดิมเดือนละ 15,000 บาท เหลือเพียง 8,000 บาท อันถือได้ว่า เป็นการเสียความสามารถประกอบการงานแต่บางส่วนที่คิดเป็นเงินได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 444 วรรคหนึ่ง และไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนกันดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกา ส่วนจำนวนค่าเสียหายโจทก์ควรจะได้เท่าใดนั้น เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 955,216.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 955,216.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดอีกไม่เกิน 532,909.25 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 756,497 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 756,497 บาท นับแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดเป็นเงิน 532,909.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 532,909.25 บาท นับแต่วันที่ 11 กรกฎาคม2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 9,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 4 ประการแรกว่า ค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 วรรคหนึ่ง และค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน ตามมาตรา 446 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกันหรือไม่ และโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายถึงกับไม่สามารถทำงานได้ โดยโจทก์ขับรถจักรยานยนต์ได้ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ผลของการทำละเมิดของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บกระดูกขาขวาท่อนล่าง ซึ่งมี 2 ท่อนคู่กันกระดูกแต่ละท่อนได้หัก 2 แห่ง และมีแผลฉีกขาดที่ปลายขาขวา ยาว 20 เซนติเมตร แพทย์ต้องตัดเนื้อเยื่อจากส่วนอื่นของร่างกายมาใส่แผลที่ฉีกขาด ต้องผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกที่หัก ถึง 2 ครั้ง โจทก์ต้องรับการรักษาต่อเนื่องนานนับปี ต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานเป็นอันมาก มีรอยแผลเป็นและไม่สามารถเดินได้อย่างปกติเพราะขายาวไม่เท่ากัน เห็นได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกได้จากจำเลยผู้ทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 วรรคหนึ่ง และการที่โจทก์ต้องรับการผ่าตัดกระดูกขาขวานั้นเอง ทำให้โจทก์ไม่สามารถประกอบการงานขับรถจักรยานยนต์ส่งเอกสารได้จนถูกบริษัทนายจ้างสั่งให้ออกจากงาน แม้ต่อมาโจทก์จะได้กลับไปทำงานขับรถส่งเอกสารอีก แต่ก็ไม่สามารถขับไปส่งในระยะไกล ๆ ได้ดังเดิม ทำให้รายได้โจทก์ลดลงจากเดิมเดือนละ 15,000 บาท เหลือเพียง 8,000 บาท อันถือได้ว่า เป็นการเสียความสามารถประกอบการงานแต่บางส่วนที่คิดเป็นเงินได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 วรรคหนึ่ง และไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนกันดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกา ส่วนจำนวนค่าเสียหายโจทก์ควรจะได้เท่าใดนั้น เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ได้ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช้ตัวเงินกับค่าเสียหายที่เสียความสามารถประกอบการงานบางส่วนอย่างละ 200,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไป จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกาว่า โจทก์ได้ทำบันทึกรับเงินค่าเสียหายบางส่วนจากจำเลยที่ 4 โดยในบันทึกดังกล่าวได้ระบุต่อไปว่า ถ้าจำเลยที่ 1 และผู้เกี่ยวข้องชำระค่าเสียหายให้โจทก์อีก 367,900.25 บาทแล้ว โจทก์จะยุติคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไป ฝ่ายจำเลยคงรับผิดต่อโจทก์ไม่เกิน 367,900.25 บาทเท่านั้น เห็นว่า ภายหลังที่มีการทำบันทึกดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ตามบันทึกข้อตกลงจนโจทก์ต้องนำคดีมาฟ้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่รับผิดต่อโจทก์เกินวงเงิน 367,900.25 บาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 4,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ.

Share