คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5821/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามฟ้องโจทก์ข้อ 1 ก. และข้อ 1 ง. แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยพรากเด็กหญิง ณ. อายุ 13 ปี 8 เดือน ซึ่งอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากความปกครองดูแลของ อ. ผู้เป็นบิดา เพื่อการอนาจาร ต้องตาม ป.อ.มาตรา 317 วรรคสาม ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี ก็ตาม แต่ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุด้วยว่า โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 317 ดังกล่าววรรคใดจำเลยให้การรับสารภาพและศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก ซึ่งมีระวางโทษจำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป จึงไม่อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 176 และศาลไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์เสียก่อน ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 317 วรรคแรกได้ โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1 ก. และข้อ 1 ง. ว่า จำเลยได้พรากเด็กหญิง ณ. ผู้เยาว์อายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากนาย อ. ผู้ปกครองเพื่อการอนาจารต่างวันเวลากัน หลังจากจำเลยกระทำผิดดังกล่าวแต่ละข้อแล้ว จำเลยได้บังอาจกระทำอนาจารเด็กหญิง ณ. โดยใช้กำลังกายกอดปล้ำ หอมแก้ม และใช้มือบีบ จับนม ของผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายไม่ยินยอม อันเป็นการบรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ทั้งความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารเป็นความผิดสำเร็จนับแต่จำเลยเริ่มพรากเด็กหญิง ณ. ไปโดยมีเจตนาเพื่อการอนาจารการที่จำเลยกระทำอนาจารเด็กหญิง ณ. ผู้เสียหายหลังจากนั้นจึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง ต่างกรรมต่างวาระกับความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารทั้งจำเลยพรากเด็กหญิง ณ. ไปเพื่อการอนาจารถึง 2 ครั้ง ต่างวันเวลากัน และกระทำอนาจารเด็กหญิง ณ. ผู้เสียหายหลังจากนั้นอีก 2 ครั้ง ตามคำฟ้องโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 เมื่อจำเลยรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ซึ่งโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องมาแล้วได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๙ , ๓๑๐ , ๓๑๗ , ๙๑
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๙ วรรคสอง , ๓๑๐ วรรคแรก , ๓๑๗ วรรคแรก ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานกระทำอนาจาร จำคุกกระทงละ ๒ ปี ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง จำคุกกระทงละ ๑ ปี ฐานพรากผู้เยาว์ จำคุกกระทงละ ๓ ปี รวมจำคุก ๑๒ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงเหลือกระทงแรก จำคุก ๒ ปี กระทงที่สองจำคุก ๑ ปี กระทงที่สาม จำคุก ๓ ปี รวมจำคุก ๖ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๐ วรรคแรก ให้ยกฟ้อง คงลงโทษจำเลยฐานพรากผู้เยาว์และฐานอนาจาร รวมจำคุก ๕ ปี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้บังอาจพรากเด็กหญิงณภาพรรณไปจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร ซึ่งคำฟ้องดังกล่าวเป็นขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ วรรคสาม ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๕ ปี ถึง ๒๐ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ทำการสืบพยานโจทก์ก่อน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยพรากเด็กหญิงณภาพรรณ สมภา อายุ ๑๓ ปี ๘ เดือน ซึ่งอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ไปเสียจากความปกครองดูแลของนายอุดม สมภา ผู้เป็นบิดา เพื่อการอนาจารต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ วรรคสามก็ตาม แต่ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุด้วยว่า โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตราดังกล่าววรรคใด และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ วรรคแรก ซึ่งมีระวางโทษจำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ ๓ ปี ขึ้นไป จึงไม่อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๖ และศาลไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์เสียก่อน ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา ๓๑๗ วรรคแรกได้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ ๑ ก. แล้ว ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ ๑ ง. ถึง ข้อ ๑ ฉ. อีกไม่ได้ เพราะการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องข้อ ๑ ก. และข้อ ๑ ง. ว่าจำเลยได้พรากเด็กหญิงณภาพรรณผู้เยาว์อายุไม่เกิน ๑๕ ปี ไปเสียจากนายอุดม สมภา ผู้ปกครองเพื่อการอนาจารต่างวันเวลากัน หลังจากจำเลยกระทำผิดดังกล่าวแต่ละข้อแล้ว จำเลยได้บังอาจกระทำอนาจารเด็กหญิงณภาพรรณโดยใช้กำลังกายกอดปล้ำ หอมแก้ม และใช้มือบีบ จับนม ของผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายไม่ยินยอม อันเป็นการบรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ทั้งความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารนั้น เป็นความผิดสำเร็จนับแต่จำเลยเริ่มพรากเด็กหญิงณภาพรรณไปโดยมีเจตนาเพื่อการอนาจาร ดังนั้นการที่จำเลยกระทำอนาจารเด็กหญิงณภาพรรณผู้เสียหายหลังจากนั้น จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างกรรมต่างวาระกับความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารดังกล่าว ทั้งจำเลยพรากเด็กหญิงณภาพรรณไปเพื่อการอนาจารถึง ๒ ครั้ง ต่างวันเวลากัน และกระทำอนาจารเด็กหญิงณภาพรรณผู้เสียหายหลังจากนั้นอีก ๒ ครั้ง ตามคำฟ้องโจทก์ข้อ ๑ ก. ถึง ข้อ ๑ ข. และข้อ ๑ ง. ถึง ข้อ ๑ จ. การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ เมื่อจำเลยรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ซึ่งโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องมาแล้วได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share