แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (51)
สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาตามยอม ปรากฏว่าเงินจำนวน ที่จำเลยยอมจ่ายให้โจทก์ระบุว่าเป็นเงินช่วยเหลือ มิได้ระบุว่าเป็นเงินชดเชย และตามคำฟ้องนอกจากโจทก์ฟ้องเรียก ค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม แล้วยังฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายอีกด้วย ดังนั้น เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่ค่าชดเชยหรือพอจะแปลได้ว่าเป็นค่าชดเชย เพราะไม่ปรากฏว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดอันจะมีผลให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย เงินจำนวนดังกล่าวจึงไม่ได้รับยกเว้นรัษฎากร ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 217 (พ.ศ. 2542) ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฏากร ข้อ 2 (51)
การที่จำเลยยอมจ่ายเงินช่วยเหลือแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็เพราะถูกโจทก์ฟ้องเรียกร้องเงินอันเนื่องมาจากการที่จำเลยกับโจทก์มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง ถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฏากร มาตรา 40 (1) ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมิน เมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 42 จำเลยผู้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมจึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 50 ประกอบด้วยมาตรา 3 จตุทศ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยฟ้องขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากไม่สามารถ รับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ขอให้จำเลยชำระค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหาย ระหว่างพิจารณาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยยอมจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่โจทก์จำนวน ๒๙๙,๓๐๕ บาท โดยจำเลยจะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาวางศาลเพื่อให้โจทก์รับไปจากศาล หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีทันที ซึ่งโจทก์ตกลงและไม่ติดใจเรียกร้องอื่นใดอีก ซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยชำระเงินให้โจทก์ไม่ครบตามคำพิพากษา โดยหักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งกรมสรรพากร ซึ่งโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิหักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าว เพราะเงินตามคำพิพากษาเป็นเงินค่าชดเชย ได้รับยกเว้นรัษฎากรในส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายแต่ไม่เกินสามแสนบาท ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๒๑๗ (พ.ศ. ๒๕๔๒) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เงินดังกล่าวไม่ใช่ค่าชดเชย จำเลยจึงต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตาม ป.รัษฎากร
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยมีหน้าที่หัก ภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินที่ต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้วปรากฏว่าเงินที่จำเลยยอมจ่ายให้โจทก์นั้นไม่ได้ระบุไว้แน่ชัดว่าเป็นเงินตามฟ้องประเภทใดเป็นแต่เพียงระบุว่าเป็นเงินช่วยเหลือ และเมื่อตรวจดูคำฟ้องแล้วปรากฏว่านอกจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มแล้วยังฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและ ค่าเสียหายอีกด้วย ดังนั้นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพื่อให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยระบุว่าเป็นเงินช่วยเหลือดังกล่าวจึงมิใช่ค่าชดเชยหรือพอจะแปลได้ว่าเป็นค่าชดเชย เพราะนอกจากจะไม่ระบุว่าเป็นค่าชดเชยแล้วยังไม่ปรากฏว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดอันจะมีผลให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยแต่อย่างใด เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่ค่าชดเชยจึงไม่ได้รับยกเว้นรัษฎากร ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ ๒๑๗ (พ.ศ. ๒๕๔๒) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ ๒ (๕๑)
อย่างไรก็ตามการที่จำเลยยอมจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็เพราะโจทก์ฟ้องเรียกร้องเงินอันเนื่องมาจากการที่จำเลยกับโจทก์มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างนั่นเอง ถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา ๔๐ (๑) ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้ พึงประเมิน เมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๔๒ ดังนั้นจำเลยผู้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมจึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๕๐ ประกอบด้วยมาตรา ๓ จตุทศ คำสั่งของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน .