แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์อ้างว่ามีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากบิดาโจทก์ โจทก์ให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ที่ได้รับมรดกมาจากบิดา คดีจึงมีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ คู่ความในคดีดังกล่าวท้ากันว่าลายมือชื่อผู้ขายในสัญญาขายที่ดินเป็นของบิดาโจทก์หรือไม่ ซึ่งผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่ามิใช่ลายมือชื่อของบิดาโจทก์ จำเลยที่ 1 แพ้คดีตามคำท้าโดยศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว จึงมีผลว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คำพิพากษาย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และแม้จำเลยที่ 2 จะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1ในฐานะเจ้าของรวมใช้สิทธิความเป็นเจ้าของครอบไปถึงที่ดินพิพาททั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 อันเป็นการใช้สิทธิฟ้องแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งด้วยผลแห่งคดีก่อนย่อมผูกพันถึงจำเลยที่ 2 เช่นกัน จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจโต้เถียงได้ว่าจำเลยที่ 2 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเลขที่ /150 เนื้อที่ 20 ไร่40 ตารางวา ซึ่งโจทก์รับโอนมรดกมาจากนายครื้น สนิท บิดาโจทก์ โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา จำเลยทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน2536 จำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 685/2538 ของศาลชั้นต้น อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวบางส่วนเนื้อที่ 12 ไร่เศษอันเป็นที่ดินพิพาทได้มาโดยการซื้อจากบิดาโจทก์ซึ่งคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง วันที่ 6 ตุลาคม 2538จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 90/2539 ของศาลชั้นต้นอ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินอันเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้มาโดยบิดาโจทก์โอนสิทธิครอบครองให้จำเลยที่ 2 ตั้งแต่ปี 2510 ซึ่งคดีดังกล่าวต่อมาจำเลยที่ 2 ขอถอนฟ้อง และศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนฟ้องหลังจากจำเลยทั้งสองทราบคำพิพากษาทั้งสองคดีดังกล่าว จำเลยทั้งสองยังเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าไปรบกวนการครอบครอง และให้เลิกยุ่งเกี่ยวในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ /150 ตำบลฉวางอำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อประมาณต้นปี 2510 นายครื้นสนิท บิดาโจทก์กู้เงินนายกล่อม ช่วยอักษร บิดาจำเลยทั้งสองจำนวน2,000 บาท บิดาโจทก์ยกที่ดินพิพาทจำนวน 11 ไร่เศษ ให้บิดาจำเลยทั้งสองเป็นการตีใช้หนี้เงินกู้ ในปีเดียวกันนั้นบิดาจำเลยทั้งสองยกที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์มาจนปัจจุบัน โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครองเมื่อปี 2510เป็นต้นมา จึงขาดอายุความฟ้องร้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองพร้อมบริวารเข้าไปรบกวนการครอบครอง และให้เลิกยุ่งเกี่ยวในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ /150 เล่ม 6 หน้า 30 หมู่ที่ 8 (เดิมเป็นหมู่ 14) ตำบลฉวาง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ของโจทก์(เฉพาะที่ดินพิพาทเนื้อที่ 11 ไร่เศษ)
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองได้พิพาทกันเกี่ยวกับที่ดินพิพาทแปลงนี้กันมาแล้ว โดยเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2536 จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจากนายครื้นสนิท บิดาโจทก์ โจทก์ให้การต่อสู้คดีนั้นว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ซึ่งได้รับมรดกมาจากบิดา บิดาโจทก์ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ท้ากันและโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีตามคำท้า คดีถึงที่สุดตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 685/2538 ของศาลชั้นต้น หลังจากโจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 1 แล้ววันที่ 6 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้นายขิน เหลือสมสามีฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้รับที่ดินพิพาทมาจากการที่บิดาโจทก์โอนให้ โจทก์ให้การต่อสู้คดี แต่จำเลยที่ 2 ขอถอนฟ้องคดีดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ให้ออกไปจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทในสองคดีก่อน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 685/2538 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์อ้างว่ามีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยการซื้อมาจากบิดาโจทก์ แต่โจทก์ให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ที่ได้รับมรดกมาจากบิดาคดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ คู่ความในคดีดังกล่าวท้ากันว่าลายมือชื่อผู้ขายในสัญญาขายที่ดินเป็นของบิดาโจทก์หรือไม่ ซึ่งผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่ามิใช่ลายมือชื่อของบิดาโจทก์ จำเลยที่ 1 แพ้คดีตามคำท้าโดยศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จึงมีผลว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามข้ออ้างของตนนั่นเองคำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 และแม้จำเลยที่ 2 ผู้ฎีกาจะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีนี้เป็นอย่างเดียวกันว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งในที่ดินพิพาทได้ใช้สิทธิฟ้องคดีเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในคดีก่อนดังกล่าวไปแล้ว จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของรวมใช้สิทธิความเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองไปถึงที่ดินพิพาททั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 อันเป็นการใช้สิทธิฟ้องแทนจำเลยที่ 2 ด้วย ผลแห่งคดีตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 685/2538 ของศาลชั้นต้นย่อมต้องผูกพันถึงจำเลยที่ 2 เจ้าของรวมอีกคนหนึ่งเช่นกัน จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจโต้เถียงได้ว่าจำเลยที่ 2 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท”
พิพากษายืน