คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5630/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าล่วงเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ และประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวยังได้กำหนดให้ลูกจ้างประเภทไหนทำงานในระยะเวลาเท่าใดใน 1 สัปดาห์ หากทำเกินจากกำหนดระยะเวลา จะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราที่กฎหมายกำหนดตามข้อ 3,11,29,34 และ 42 ซึ่งกำหนดโดยคำนวณจากอัตราค่าจ้างในเวลาทำงานปกติ การที่จะรวมค่าจ้างและค่าทำงานล่วงเวลาย่อมเป็นการเอาเปรียบลูกจ้างเพราะไม่ทราบว่าอัตราค่าจ้างปกติที่จะนำไปคำนวณค่าล่วงเวลานั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่หรือต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ เมื่อสัญญาว่าจ้างทำงานมิได้กำหนดอัตราค่าจ้างปกติทำให้ไม่อาจคำนวณค่าล่วงเวลาได้ ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่า จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาจริง ข้อสัญญาดังกล่าวข้างต้นมีผลเป็นการให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานนอกเวลาทำงานปกติโดยไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ย่อมขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่หัวหน้างานทั่วไปได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 22,000 บาท ระหว่างทำงานอยู่กับจำเลย โจทก์ทำงานล่วงเวลาให้จำเลยรวม 1,950 ชั่วโมงซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของค่าจ้างปกติรายชั่วโมง คิดเป็นเงิน 240,630 บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาในการทำงานโจทก์ได้ตกลงกับจำเลยที่จะยอมรับค่าจ้างรวมค่าล่วงเวลาทำงานตามปกติในอัตราค่าจ้างรายเดือนที่โจทก์ได้รับไปจากจำเลยแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา โจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาจริง หากโจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาจากจำเลยคิดจากการทำงานเกิน 9 ชั่วโมงต่อ1 วัน โจทก์จะได้รับเงิน 139,877.50 บาท ตามตารางการคิดคำนวณค่าล่วงเวลาเอกสารหมาย จ.ล.2 แต่ถ้าคิดจากการทำงานเกิน9 ชั่วโมงต่อ 1 วัน โจทก์จะได้รับเงิน 90,052.50 บาท ตามตารางการคิดคำนวณค่าล่วงเวลา เอกสารหมาย จ.ล.3 โดยในประเด็นข้อพิพาทที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาจากจำเลยหรือไม่เพียงใด คู่ความขอให้ศาลวินิจฉัยคดีไปตามสัญญาว่าจ้างทำงานเอกสารหมาย จ.ล.1
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน139,877.50 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า สัญญาว่าจ้างทำงานตามเอกสารหมาย จ.ล.1 ข้อ 3ระบุว่าเงินเดือนพื้นฐานของลูกจ้างได้รวมค่าล่วงเวลาสำหรับการทำงานให้ได้ตามเป้าหมายในแต่ละวันแล้ว จึงเป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน มีผลใช้บังคับนั้น เห็นว่า ค่าล่วงเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ และประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวยังได้กำหนดให้ลูกจ้างประเภทไหนทำงานในระยะเวลาเท่าใดใน 1 สัปดาห์ หากทำเกินจากกำหนดระยะเวลาจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราที่กฎหมายกำหนดตามข้อ 3, 11, 29, 34 และ 42 ซึ่งกำหนดโดยคำนวณจากอัตราค่าจ้างในเวลาทำงานปกติ การที่จะรวมค่าจ้างและค่าทำงานล่วงเวลาย่อมเป็นการเอาเปรียบลูกจ้าง เพราะไม่ทราบว่าอัตราค่าจ้างปกติที่จะนำไปคำนวณค่าล่วงเวลานั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หรือต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ เมื่อสัญญาว่าจ้างทำงานมิได้กำหนดอัตราค่าจ้างปกติทำให้ไม่อาจคำนวณค่าล่วงเวลาได้ ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามที่คู่ความแถลงรับและศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาจริง ข้อสัญญาดังกล่าวข้างต้นมีผลเป็นการให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานนอกเวลาทำงานปกติโดยไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาย่อมขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานดังกล่าวข้างต้นซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาจากจำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากเดือนนั้นชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยได้รับอนุญาตจากกรมแรงงานให้กำหนดข้อบังคับในการทำงานสำหรับพนักงานได้ไม่เกินสัปดาห์ละ 54 ชั่วโมงหรือวันละ 9 ชั่วโมง จึงต้องคิดจากการทำงานล่วงเวลาชั่วโมงที่ 9 ออกไป ตามตารางการคิดคำนวณค่าล่วงเวลาเอกสารหมาย จ.ล.3 นั้น เห็นว่า ข้อที่จำเลยยกขึ้นอ้างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share