คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3011/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อได้ลงลายมือชื่อกำกับชื่อผู้มีสิทธิรับเงินคนเดิมที่จำเลยที่ 1 ขีดฆ่าออกและลงลายมือชื่อกำกับชื่อที่พิมพ์หรือเขียนแทนลงไปใหม่ กับได้ลงลายมือชื่อสั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจ่ายเงินในคำขอรับคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตรตามที่จำเลยที่ 1 นำเสนอ การที่จำเลยที่ 1 กับพวกสามารถทุจริตและนำเงินไปเป็นประโยชนส่วนตัวได้ เพราะจำเลยที่ 2 ที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อโดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้บังคับบัญชาได้ลดขั้นตอนการตรวจสอบ ให้จำเลยที่ 1 เสนอคำขอต่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยตรงไม่ต้องผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น อันเป็นการเสี่ยงต่อการทุจริตแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำขอรับคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล คำฟ้องของโจทก์เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยละเอียดรอบคอบ ไม่จัดให้มีการตรวจสอบเป็นขั้นตอนตามลำดับชั้นว่าการขีดฆ่าและเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิรับเงินตามพันธบัตรรัฐบาลนั้นถูกต้องหรือไม่ แต่จำเลยที่ 2ที่ 3 ลงลายมือชื่อโดยไม่ใช้ความระมัดระวัง ก่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ที่ 3จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ และทางพิจารณาโจทก์ก็นำสืบเพื่อให้ศาลเห็นว่ามีขั้นตอนในการตรวจสอบมากมาย แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้ตรวจสอบเลย และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ประมาทเลินเล่อไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบและได้เซ็นชื่อตามที่จำเลยที่ 1 กากบาทไว้ให้เซ็นเท่านั้น เช่นนี้ แม้ไม่มีระเบียบเป็นลายลักษณ์อักษรกำหนดขั้นตอนในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการขอคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลของผู้ใช้ไฟฟ้า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็อาจจะต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์ได้ เพราะจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ควบคุมการทำงานของจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปโดยถูกต้องและสุจริตการที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อดังกล่าวก็เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้มีการตรวจสอบว่าถูกต้องแล้วดังนั้น ไม่ว่าจะมีระเบียบการปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อด้วยความประมาทเลินเล่อแล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ศาลแรงงานไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรับผิดของของจำเลยที่ 2ที่ 3 ให้ตรงกับข้อกล่าวหาตามคำฟ้องและตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมา ศาลฎีกาย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานพิจารณาพิพากษาความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ใหม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ตามระเบียบของโจทก์ได้กำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าเป็นเงินสด หรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารหรือพันธบัตรรัฐบาลไว้ต่อโจทก์ สำหรับหลักประกันการใช้ไฟฟ้าที่เป็นพันธบัตรรัฐบาลนั้น ผู้ใช้ไฟฟ้าหรือผู้วางหลักประกันต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในพันธบัตร เมื่อผู้ใช้ไฟฟ้าเลิกใช้ไฟฟ้าและไม่มีหนี้ค่าไฟฟ้าค้างชำระ โจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรกลับคืนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าตามเดิม โจทก์จะส่งพนักงานไปรับคำขอรับคืนต้นเงินและดอกเบี้ยจากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อโจทก์จะลงนามในคำขอรับคืนต้นเงินและดอกเบี้ยในพันธบัตรนั้น สั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจ่ายเงินตามพันธบัตรแก่ผู้มีสิทธิรับเงินตามพันธบัตรซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิมพ์ชื่อไว้ในคำขอรับคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตรแล้ว เดิมจำเลยที่ ๑ เป็นพนักงานของโจทก์และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๑ ทำหน้าที่เป็นพนักงานบัญชี แผนกประมวลการบัญชีกองการบัญชี ฝ่ายการบัญชีและการเงิน มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อผู้มีสิทธิรับเงินตามพันธบัตรคืน การโอนกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรคืนให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าหรือผู้วางหลักประกัน ดำเนินการเกี่ยวกับการไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอน โดยมีหน้าที่เสนอคำขอรับคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตรไปตามลำดับชั้นบังคับบัญชา เพื่อให้ผู้อำนวยการฝ่ายการบัญชีและการเงินหรือผู้ทำการแทน ผู้มีอำนาจลงนามแทนโจทก์ สั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจ่ายเงินตามพันธบัตรคืนให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงิน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิมพ์ชื่อไว้ในคำขอรับคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตรแล้ว จำเลยที่ ๒ เป็นพนักงานของโจทก์ ขณะเกิดเหตุมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการบัญชีและการเงิน มีหน้าที่ควบคุมตรวจสอบสั่งการงานและบังคับบัญชาพนักงานในสังกัดฝ่ายการบัญชีและการเงินซึ่งต้องควบคุมเงินรายได้และเงินรายจ่าย งานเกี่ยวกับการรับและคืนหลักประกันการใช้ไฟฟ้า และเป็นผู้มีอำนาจลงนามในนิติกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในพันธบัตร รวมทั้งการไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอนแทนโจทก์ จำเลยที่ ๓เป็นพนักงานของโจทก์ ขณะเกิดเหตุมีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายการบัญชีและการเงินมีหน้าที่ช่วยจำเลยที่ ๒ เกี่ยวกับงานอันเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ และเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ ๒ เมื่อจำเลยที่ ๒ ไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ รวมทั้งเป็นผู้มีอำนาจลงนามในนิติกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรตลอดจนการไถ่ถอนแทนโจทก์ด้วย เมื่อระหว่างวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๒๙ ถึงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๓๐ จำเลยที่ ๑ ได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ได้สมคบกับบุคคลภายนอกกระทำการทุจริตโดยจำเลยที่ ๑ ได้นำคำขอรับคืนเงินต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอนมาขีดฆ่าชื่อผู้มีสิทธิรับเงินตามคำขอดังกล่าวที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิมพ์ไว้แต่เดิมออก แล้วเขียนหรือพิมพ์ชื่อบุคคลอื่นให้เป็นผู้มีสิทธิรับเงินตามพันธบัตรแทน แล้วนำเสนอจำเลยที่ ๒ หรือจำเลยที่ ๓ ลงลายมือชื่อกำกับชื่อผู้มีสิทธิรับเงินที่ขีดฆ่าและชื่อบุคคลภายนอก และลงลายมือชื่อสั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจ่ายเงิน เสร็จแล้วจำเลยที่ ๑ มอบคำขอรับคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตรที่แก้ไขโดยทุจริตดังกล่าวและพันธบัตรให้แก่บุคคลภายนอกไปขอรับเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นเหตุให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจ่ายต้นเงินและดอกเบี้ยตามพันธบัตรให้แก่บุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่เจ้าของอันแท้จริง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายรวมจำนวน ๗๓ ฉบับ ซึ่งจำเลยที่ ๒ ได้ลงลายมือชื่อกำกับชื่อผู้มีสิทธิรับเงินคนเดิมที่ขีดฆ่าออกลงลายมือชื่อกำกับชื่อที่พิมพ์หรือเขียนแทนลงไปใหม่ กับได้ลงลายมือชื่อสั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจ่ายเงินในคำขอรับคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตรตามที่จำเลยที่ ๑ นำเสนอโดยทุจริต ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจ่ายคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตรไปจำนวน ๕๖ ฉบับ จำเลยที่ ๓ ได้ลงลายมือชื่อกำกับชื่อผู้มีสิทธิรับเงินคนเดิมที่ขีดฆ่าออกลงลายมือชื่อกำกับชื่อที่พิมพ์หรือเขียนแทนลงไปใหม่ กับได้ลงลายมือชื่อสั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจ่ายเงินในคำขอรับคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตรตามที่จำเลยที่ ๑ นำเสนอโดยทุจริต ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจ่ายคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตรไปรวมจำนวน ๑๕ ฉบับ การที่จำเลย-ที่ ๑ กับบุคคลภายนอกสามารถกระทำการทุจริตแก้ไขคำขอรับคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตรและไปขอรับเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยอันเป็นการไถ่ถอนพันธบัตร แล้วนำเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่นได้ เพราะจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ ได้ลดขั้นตอนการตรวจสอบและการเสนอคำขอรับเงินคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตร โดยให้จำเลยที่ ๑ เสนอคำขอดังกล่าวต่อจำเลยที่ ๒ หรือที่ ๓ โดยตรง ไม่ต้องผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น อันเป็นการเสี่ยงภัยต่อการทุจริตแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำขอรับคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตร ถ้าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ประมาทเลินเล่อแล้ว ก่อนที่จำเลยที่ ๒ หรือที่ ๓ จะลงลายมือชื่อกำกับดังกล่าว และก่อนลงลายมือชื่อสั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจ่ายเงิน จะต้องตรวจสอบว่ามีหลักฐานการมอบอำนาจหรือมอบฉันทะจากผู้มีสิทธิรับเงินคนเดิมที่ถูกขีดฆ่าชื่อออกหรือไม่ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้ลงลายมือชื่อโดยไม่มีหลักฐานการมอบอำนาจหรือมอบฉันทะจากผู้มีสิทธิรับเงินคนเดิมที่ถูกขีดฆ่าชื่อออก การกระทำของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เป็นการปฏิบัติงานโดยขาดความระมัดระวัง ไม่เอาใจใส่และประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องคดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ไม่มีระเบียบวางไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการขอรับคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ลดขั้นตอนการตรวจสอบ และพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาก็ไม่ปรากฏว่ามีพยานปากใดที่เบิกความยืนยันว่า ตอนที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ลงลายมือชื่อไปนั้น ไม่มีหลักฐานการมอบอำนาจหรือมอบฉันทะจากผู้มีสิทธิรับเงินคนเดิมแนบมาด้วย คำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลแรงงานกลางไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในสำนวนและวินิจฉัยข้อเท็จจริงอื่นซึ่งไม่ปรากฏในสำนวน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เกี่ยวกับการลดขั้นตอนในการตรวจสอบนั้น โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ได้ลงลายมือชื่อกำกับผู้มีสิทธิรับเงินคนเดิมที่จำเลยที่ ๑ ขีดฆ่าออกและลงลายมือชื่อกำกับชื่อที่พิมพ์หรือเขียนแทนลงไปใหม่ กับได้ลงลายมือชื่อสั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจ่ายเงินในคำขอรับคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตรตามที่จำเลยที่ ๑ นำเสนอ การที่จำเลยที่ ๑ กับพวกสามารถทุจริตและนำเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวได้เพราะจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เป็นผู้บังคับบัญชา ได้ลดขั้นตอนการตรวจสอบให้จำเลยที่ ๑ เสนอคำขอต่อจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ โดยตรงไม่ต้องผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น อันเป็นการเสี่ยงต่อการทุจริตแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำขอรับคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ รับผิดเพราะฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยละเอียดรอบคอบ ไม่จัดให้มีการตรวจสอบเป็นขั้นตอนตามลำดับชั้นว่าการขีดฆ่าและเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิรับเงินตามพันธบัตรรัฐบาลนั้นถูกต้องหรือไม่ แต่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ลงลายมือชื่อโดยไม่ใช้ความระมัดระวัง ก่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ทางพิจารณาโจทก์ยังได้นำสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารแสดงถึงขั้นตอนการทำงานในทางปฏิบัติและความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เช่นคำเบิกความของนางสาวปรียา พิศาลบุตร พยานโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกบัญชีลูกหนี้เเจ้าหนี้เบิกความว่าการเสนองานที่หน่วยงานของนางสาวปรียานั้น จะเสนองานตามลำดับชั้น โดยเริ่มจากหมวดซึ่งหัวหน้าหมวดจะเสนองานไปยังหัวหน้าแผนก หัวหน้าแผนกจะเสนอไปยังหัวหน้ากอง หัวหน้ากองจะผ่านงานไปยังรองผู้อำนวยการฝ่าย รองผู้อำนวยการฝ่ายเสนอไปยังผู้อำนวยการฝ่ายการบัญชีและการเงิน ยกเว้นงานพันธบัตรรัฐบาลที่ผู้ใช้ไฟฟ้ามาประกันครบกำหนดไถ่ถอน เฉพาะส่วนที่ผู้ใช้ไฟฟ้ามาติดต่อด้วยตนเองเพื่อนำใบคำขอไปขึ้นเงินกับธนาคารแห่งประเทศไทยเองงานนี้ไม่ผ่านนางสาวปรียา โดยจะผ่านจากหัวหน้าหมวดไปยังผู้อำนวยการฝ่าย นางสาวปรียาสงสัยเคยถามจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ บอกว่า เป็นงานเร่งด่วน นางสาวปรียา ยังเบิกความยืนยันว่า การปฏิบัติงานที่ไม่ผ่านขั้นตอนนี้ ไม่เคยปรากฏว่าผู้บังคับบัญชาสั่งให้ปฏิบัติงานเช่นนี้นอกจากนี้โจทก์ยังได้นำสืบถึงระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีสิทธิไถ่ถอนพันธบัตรว่าจะต้องไม่เป็นหนี้กับโจทก์ จำเลยที่ ๑ ได้นำเงินอื่นมาชำระหนี้แทนผู้ใช้ไฟฟ้าที่พันธบัตรครบกำหนดไถ่ถอน แล้วจึงไถ่ถอนพันธบัตรของผู้ใช้ไฟฟ้านั้นโดยทุจริต การนำสืบของโจทก์เพื่อให้ศาลเห็นว่ามีขั้นตอนในการตรวจสอบมากมาย แต่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ได้ตรวจสอบเลย นายโพธิ์ อิ่มจิตต์พยานโจทก์ซึ่งเป็นประธานกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ก็เบิกความว่า จำเลยที่ ๑ ให้การชั้นสอบสวนว่า ได้นำคำขอรับคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตรที่มีการขีดฆ่าชื่อผู้รับเงินไปให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓เซ็นชื่อโดยไม่มีใบมอบอำนาจ ร้อยตรีดนัย พนมวัน ณ อยุธยา พยานโจทก์อีกปากหนึ่งก็เบิกความว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ประมาทเลินเล่อไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบและได้เซ็นชื่อตามที่จำเลยที่ ๑กากบาทไว้ให้เห็นเท่านั้น ดังนั้นในการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทข้อ ๔ ที่ว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ประมาทเลินเล่อเกี่ยวกับเรื่องพันธบัตรตามที่จำเลยที่ ๑ นำเสนอตามฟ้องหรือไม่ ศาลแรงงานกลางจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อตามที่โจทก์นำสืบมาดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ แต่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางไม่ได้วินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์เลย นอกจากวินิจฉัยว่าไม่มีระเบียบเป็นลายลักษณ์อักษรกำหนดขั้นตอนในการปฏิบัติงาน ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้ลดขั้นตอนการตรวจสอบ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ไม่มีระเบียบเป็นลายลักษณ์อักษร จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ก็อาจจะต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์ได้ เพราะจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของจำเลยที่ ๑ ให้เป็นไปโดยถูกต้องและสุจริต การที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้ลงลายมือชื่อดังกล่าวก็เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้มีการตรวจสอบว่าถูกต้องแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าจะมีระเบียบการปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หากจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ได้ลงลายมือชื่อด้วยความประมาทเลินเล่อแล้ว จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ว่า ไม่มีระเบียบเป็นลายลักษณ์อักษรและจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ได้ลดขั้นตอนการตรวจสอบ จึงฟังว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ได้ประมาทเลินเล่อโดยไม่ได้วินิจฉัยว่าการลงลายมือชื่อกำกับของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ โดยไม่ตรวจสอบเป็นการประมาทเลินเล่อแล้วหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ตรงกับพยานหลักฐานในสำนวน นอกจากโจทก์ยังกล่าวหาในคำฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่ออีกประการหนึ่งคือ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้ลงลายมือชื่อโดยไม่มีหลักฐานการมอบอำนาจหรือมอบฉันทะจากผู้มีสิทธิรับเงินคนเดิมที่ถูกขีดฆ่าชื่อออก การกระทำของจำเลยที่ ๒ที่ ๓ เป็นการปฏิบัติงานโดยขาดความระมัดระวังไม่เอาใจใส่และประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทข้อ ๓ เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ว่า รับฟังไม่ได้ว่าผู้ใช้ไฟฟ้าทั้ง ๗๓ ราย ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้พวกของจำเลยที่ ๑ ไปรับเงินแทน แต่ในประเด็นข้อพิพาทข้อ ๔ กลับวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ตอนที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ลงลายมือชื่อกำกับตามฟ้อง ไม่มีหลักฐานการมอบอำนาจหรือมอบฉันทะจากผู้มีสิทธิรับเงินคนเดิมที่ถูกขีดฆ่าชื่อออกจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังในประเด็นข้อพิพาทข้อ ๓ แล้วว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าคนเดิมทั้ง ๗๓ ราย ไม่ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้พวกของจำเลยที่ ๑ ไปรับเงินแทน ข้อเท็จจริงในคดีจะฟังได้เช่นเดียวกันหรือไม่ว่า ในขณะที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ลงลายมือชื่อกำกับไปตามฟ้องนั้น ไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากผู้ใช้ไฟฟ้าคนเดิม ศาลแรงงาน-กลางยังวินิจฉัยด้วยว่า ตอนที่จำเลยที่ ๑ นำใบขอคืนต้นเงินและดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลมาให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ลงนามนั้นอาจมีหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ ๑ ทำขึ้นเองแนบมาด้วยก็ได้ คำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลแรงงานกลางไม่แน่ชัดว่าจำเลยที่ ๑ มีหนังสือมออบอำนาจหรือไม่ และหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ ๑ ทำขึ้นเองนั้นเป็นของผู้ใด ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยข้างต้น ศาลฎีกาเห็นว่าศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้ตรงกับข้อกล่าวหาตามคำฟ้องและตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมา อาศัยอำนาจตามประมทวลกฎหมายวิธี-พิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณา-คดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ เห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาความรับผิดของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ใหม่
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เพราะเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง
พิพากษายืนเฉพาะคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาความรับผิดของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

Share