แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามหนังสือที่จำเลยขอให้โจทก์ผู้ถูกเวนคืนไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเขตทางหลวงมีข้อความระบุว่า “ด้วยคณะกรรมการกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ได้กำหนดราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของท่าน… เสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนี้ ค่าทดแทนที่ดินโฉนดที่… เป็นเงิน… บาท จึงขอให้ท่านไปตกลงราคาค่าทดแทนดังกล่าวข้างต้น… หากไม่ได้รับการติดต่อภายในกำหนดเวลาดังกล่าว…จะได้ดำเนินการวางเงินค่าทดแทนต่อไป” เมื่อพิจารณาหนังสือดังกล่าวประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่งที่บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการตามมาตรา 9… กำหนด มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่ที่ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว และมาตรา 9 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทน ให้คณะกรรมการกำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ และดำเนินการให้แล้วเสร็จ และประกาศราคาที่กำหนดไว้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง ดังนี้ เห็นได้ชัดแจ้งว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนตามมาตรา 9 วรรคสี่ แล้วเมื่อโจทก์ทราบและไม่พอใจ โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ได้ทันทีโดยไม่จำต้องรอหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนอีก
กำหนดระยะเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เป็นกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดแห่งการใช้สิทธิอุทธรณ์ หาใช่กำหนดเวลาเริ่มต้นให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอคลองหลวง อำเภอสามโคกอำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. 2531 เพื่อสร้างและขยายทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3309 สามแยกทางหลวงหมายเลข 308 (บางปะอิน) – ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษตอนแยกทางหลวง จังหวัดหมายเลข 3186 – ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษและแยกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาฯ และจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 1530 และ 1581 อยู่ในแนวเขตที่จะเวนคืนเป็นเนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 62 ตารางวาและ 3 ไร่ 1 งาน 24 ตารางวา ตามลำดับ จำเลยที่ 2 ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1530 ในราคาไร่ละ 1,400,000 บาท ในเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน36 ตารางวา และในราคาไร่ละ 700,000 บาท ในเนื้อที่ 4 ไร่ 26 ตารางวา (ที่ถูกต้อง4 ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา) รวมเป็นเงิน 6,471,500 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 1581กำหนดเงินค่าทดแทนให้ในราคาไร่ละ 1,400,000 บาท ในเนื้อที่ 2 งาน 82 ตารางวาและในราคาไร่ละ 700,000 บาท ในเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา รวมเป็นเงิน2,810,500 บาท รวมค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงเป็นเงิน 9,282,000 บาท โจทก์เห็นว่าราคาค่าทดแทนดังกล่าวไม่เป็นธรรม เพราะที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายตามปกติในท้องตลาดไม่ต่ำกว่าไร่ละ 36,000,000 บาท โจทก์จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติยืนยันตามราคาค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดไว้ และจำเลยที่ 2 ได้นำเงินค่าทดแทนดังกล่าวไปฝากไว้กับธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ โจทก์ขอคิดเงินค่าทดแทนที่ดินในราคาไร่ละ 36,000,000 บาท ที่ดินของโจทก์จะต้องถูกเวนคืนเป็นเนื้อที่ 10 ไร่86 ตารางวา คิดเป็นเงินค่าทดแทน 367,740,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 วางเงินค่าทดแทนให้โจทก์ไว้แล้วเป็นเงิน 9,202,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มเป็นเงิน358,538,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มแก่โจทก์ 358,538,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินของโจทก์ได้ถูกเวนคืนตามฟ้องจริง จำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปติดต่อตกลงราคาค่าทดแทนตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดไว้ แต่โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อ้างว่าที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์มีราคาสูงถึงไร่ละ 28,000,000 บาทคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีมติยืนตามราคาค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้ โจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนตามหนังสือลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2534 ไม่ปรากฏว่าภายหลังจากรับหนังสือดังกล่าว โจทก์ได้มีการอุทธรณ์เงินค่าทดแทน แต่กลับปรากฏว่าโจทก์ได้อุทธรณ์เงินค่าทดแทนเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2534 ก่อนเวลาได้รับหนังสือให้ไปรับเงินค่าทดแทนถึง 1 เดือน จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ไว้ก่อน โดยที่สิทธิดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นถือไม่ได้ว่าเป็นการยื่นอุทธรณ์ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 จึงถือเสมือนหนึ่งว่าโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ไว้เลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่ม 75,980,500 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่ม32,600,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยจะต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ตามคำขอ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่ามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอบางไทรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอคลองหลวง อำเภอสามโคก อำเภอเมืองปทุมธานีจังหวัดปทุมธานี พ.ศ. 2531 เพื่อประโยชน์สาธารณะในการสร้างและขยายทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3309 สามแยกทางหลวงหมายเลข 308 (บางปะอิน) – ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ ตอนแยกทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3186 – ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษและแยกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2531 ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ถูกเวนคืนเป็นเนื้อที่รวม 10 ไร่ 86 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯมีมติกำหนดเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ตามหลักเกณฑ์ ซึ่งกำหนดจากราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน ปี 2531ถึง 2533 สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1530 ไร่ละ 1,400,000 บาท ในเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน36 ตารางวา และไร่ละ 700,000 บาท ในเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 1581 ไร่ละ 1,400,000 บาท ในเนื้อที่ 2 งาน 82 ตารางวา และไร่ละ 700,000บาท ในเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2534 ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปตกลงราคาค่าทดแทนภายในวันที่ 5กันยายน 2534 โจทก์ไม่ไปตกลง จำเลยที่ 2 จึงนำเงินค่าทดแทน 8,259,500 บาทไปฝากไว้กับธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2534 ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนโฉนดเลขที่ 1530 ติดถนนพหลโยธินและฝั่งตะวันตกติดถนนสายบางขันธ์ -อำเภอคลองหลวง โฉนดเลขที่ 1581 ถนนสายบางขันธ์ – อำเภอคลองหลวง และติดถนนพหลโยธิน ที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ในย่านชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตสุขาภิบาลคลองหลวง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 เป็นประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า หนังสือแจ้งให้โจทก์ไปตกลงราคาค่าทดแทนฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2534 มิใช่หนังสือแจ้งค่าทดแทนที่ถูกต้อง และมิใช่หนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทน โจทก์ยื่นอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 28 ตุลาคม 2534 ก่อนที่จะได้รับหนังสือแจ้งการนำเงินค่าทดแทนไปฝากธนาคารออมสินฉบับลงวันที่ 13พฤศจิกายน 2534 ซึ่งถือเป็นหนังสือแจ้งค่าทดแทนที่ถูกต้อง ดังนั้น อุทธรณ์โจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โดยเป็นการอุทธรณ์ก่อนที่จะเกิดสิทธิอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลนั้น เห็นว่า ตามหนังสือขอให้ไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเขตทางหลวงสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1530 และ 1581 ลงวันที่ 29สิงหาคม 2534 ทั้งสองฉบับ มีข้อความระบุว่า “ด้วยคณะกรรมการกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ได้กำหนดราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของท่าน… เสร็จเรียบร้อยแล้วดังนี้ ค่าทดแทนที่ดินโฉนดที่… เป็นเงิน… บาท จึงขอให้ท่านไปตกลงราคาค่าทดแทนดังกล่าวข้างต้น… หากไม่ได้รับการติดต่อภายในกำหนดเวลาดังกล่าว… จะได้ดำเนินการวางเงินค่าทดแทนต่อไป” เมื่อพิจารณาหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน… ผู้ใดไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการตามมาตรา 9… กำหนดมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี… ภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่… ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว” และมาตรา 9 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทน ให้คณะกรรมการกำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์… และดำเนินการให้แล้วเสร็จและประกาศราคาที่กำหนดไว้… ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง”ดังนี้ ตามบทบัญญัติมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และมาตรา 9 วรรคสี่ ประกอบหนังสือขอให้ไปตกลงราคาค่าทดแทนดังกล่าว จะเห็นได้ชัดแจ้งว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนตามมาตรา 9 วรรคสี่ แล้ว เมื่อโจทก์ทราบและไม่พอใจ โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ได้ทันทีโดยไม่จำต้องรอหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนและกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เป็นกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดแห่งการใช้สิทธิอุทธรณ์ หาใช่กำหนดเวลาเริ่มต้นให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ ดังนั้น คดีนี้โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้และเป็นการอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ส่วนที่จำนวนเงินค่าทดแทนผิดพลาดก็ดี หรือการที่ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนมีหนังสือแจ้งการนำเงินค่าทดแทนไปฝากไว้กับธนาคารออมสินก็ดี กรณีเป็นความผิดพลาดของฝ่ายจำเลยเองและเป็นการแจ้งให้ทราบถึงการวางเงินค่าทดแทนในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่มารับเงินค่าทดแทนภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา 28 วรรคสอง เท่านั้น
พิพากษายืน