คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5640/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้การอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดต่อศาลตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 57 จะไม่ระบุว่าให้ทำเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขอแต่การอุทธรณ์ก็บ่งบอกว่าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัด หรือคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดนั้นโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของผู้อุทธรณ์เกิดเป็นคดีมีข้อพิพาทระหว่างผู้อุทธรณ์และ คชก. จังหวัดแล้ว ผู้อุทธรณ์จึงจำต้องอุทธรณ์ต่อศาลโดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาท หาใช่ทำเป็นคำร้องขอฝ่ายเดียวอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทไม่แต่เมื่อคำร้องของผู้ร้องทั้งสามได้บรรยายว่า คชก. จังหวัดสิงห์บุรี โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ร้องทั้งสามอย่างไร ตลอดทั้งได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อกล่าวหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาทุกประการเสมือนเป็นคำฟ้องคดีมีข้อพิพาทและศาลชั้นต้นได้สั่งรับคำร้องและให้มีการนำส่งสำเนาคำร้องให้ คชก. จังหวัดสิงห์บุรีผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาททำนามีโอกาสคัดค้านโต้แย้ง และ คชก. จังหวัดสิงห์บุรี ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ได้ทำคำคัดค้านเสมือนเป็นคำให้การเข้ามาในคดีจนศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างคดีมีข้อพิพาททั้งได้สืบพยานทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นล่วงเลยเวลาที่จะสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสามแล้ว จึงไม่อาจยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสามได้
การที่ ส. เจ้าของที่ดินพิพาทผู้ให้เช่านาถูกธนาคารเจ้าหนี้ฟ้องบังคับจำนองและนำยึดที่ดินพิพาทที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หาได้เป็นการที่ ส. ประสงค์ที่จะขายนา หรือจะโอนนาชำระหนี้จำนองตามจำนวนหนี้จำนองที่ค้างชำระอยู่ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 53 วรรคแรกและวรรคท้ายไม่แต่เป็นเรื่องที่ ส. หรือที่ดินของ ส. ถูกบังคับหรือถูกยึดทรัพย์สินไปขายทอดตลาดแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อนำเงินมาชำระหนี้จำนองแก่เจ้าหนี้ผู้รับจำนองตามอำนาจแห่งบทกฎหมายว่าด้วยเรื่องหนี้การจำนองและการบังคับจำนองได้บัญญัติวิธีการไว้เป็นพิเศษต่างหาก ยากที่ ส. ในฐานะผู้ให้เช่านาจะปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 53 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ เพราะการขายทอดตลาดย่อมมีเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ดำเนินการแทนตามอำนาจหน้าที่ ต้องประกาศขายอย่างเปิดเผยเปิดโอกาสให้ประชาชนรวมทั้งผู้เช่านาเพื่อเข้าสู้ราคา ไม่ใช่ขายให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ทั้งราคาที่จะขายก็ไม่มีใครสามารถกำหนดได้ล่วงหน้าสุดแต่ผู้เข้าสู้ราคาหรือผู้จะซื้อจะเสนอ ประกอบกับวิธีการชำระเงิน วิธีการขายก็มีบทกฎหมายว่าด้วยการขายทอดตลาดบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ไม่มีทางที่ ส. ผู้ให้เช่านาจะแจ้งถึงความจำนงที่จะขายนา ราคาที่จะขาย วิธีการขาย และวิธีการชำระเงินให้แก่ผู้เช่านาทราบล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดังกล่าวได้ การซื้อขายนาจากการขายทอดตลาดของศาลในกรณีเช่นนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการที่ผู้ให้เช่านาขายนาตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 53 วรรคแรก

ย่อยาว

คดีนี้เพื่อความสะดวกแก่การพิจารณา ศาลชั้นต้นให้เรียกผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดสิงห์บุรีว่าผู้คัดค้านที่ 1 นางสาวสำรี เอี่ยมสำอางค์ ว่าผู้คัดค้านที่ 2 และนายประสิทธิ์ฟุ้งพงษ์ ว่าผู้คัดค้านที่ 3

ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งสามและนายแฉล้ม เหมือนพันธ์ เข้าหุ้นส่วนกันประมูลซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 754 ตำบลโพชนไก่ อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลในคดีแพ่ง เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รวมให้แก่ผู้ร้องทั้งสามและนายแฉล้ม แต่เมื่อผู้ร้องทั้งสามและนายแฉล้มเข้าไปไถนาหว่านข้าวบนที่ดินดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลโพชนไก่ (คชก.ตำบลโพชนไก่)ว่าตนทำสัญญาเช่านาไว้ ผู้ร้องทั้งสามและนายแฉล้มไม่มีสิทธิเข้าทำนาคชก. ตำบลโพชนไก่ พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีการเช่านากันจริง จึงวินิจฉัยให้ผู้ร้องทั้งสามและนายแฉล้มเข้าทำนาต่อไป ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคชก. ตำบลโพชนไก่ ต่อ คชก. จังหวัดสิงห์บุรี และคชก. จังหวัดสิงห์บุรี วินิจฉัยให้ผู้ร้องทั้งสามและนายแฉล้มส่งคืนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เข้าทำนาต่อจนครบสัญญาเช่าในวันที่ 5 สิงหาคม 2533 และวันที่ 20 มิถุนายน 2534 ตามลำดับต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม2533 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนสิ้นสุดการเช่าของผู้คัดค้านที่ 2 เพียง 4 วัน ผู้คัดค้านที่ 2ยังคงหว่านข้าวลงในที่ดินดังกล่าว อันเป็นการแสดงเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดสิงห์บุรี ผู้ร้องทั้งสามและนายแฉล้มนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาล ผู้คัดค้านที่ 2 ยินยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงออกจากที่ดินพิพาท และส่งมอบที่ดินพิพาทภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2533 และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว แต่หลังจากนั้นผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอต่อ คชก. ตำบลโพชนไก่หลายข้อ รวมทั้งขอให้มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทราคา 260,000 บาท ด้วย คชก. ตำบลโพชนไก่พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อร้องเรียนอื่น ๆ ของผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ได้มีการตกลงกันในชั้นศาลแล้ว ส่วนข้อร้องเรียนที่ให้มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทราคา 260,000 บาท นั้นเห็นว่า ผู้ร้องทั้งสามและนายแฉล้มซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของศาลเป็นการซื้อโดยถูกต้อง ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลโพชนไก่ ต่อ คชก. จังหวัดสิงห์บุรีวันที่ 7 พฤศจิกายน 2533 คชก. จังหวัดสิงห์บุรี วินิจฉัยให้ผู้ร้องทั้งสามขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 และได้แจ้งให้ผู้ร้องทั้งสามทราบเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2533ผู้ร้องทั้งสามไม่เห็นพ้องด้วยกับมติดังกล่าวเนื่องจากเป็นกรณีที่ผู้ร้องทั้งสามและนายแฉล้มร่วมกันเข้าหุ้นส่วนซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล มิใช่ผู้ร้องทั้งสามซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายแฉล้ม กรณีจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ที่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 จะใช้สิทธิซื้อที่ดินพิพาทคืนจากผู้ร้องทั้งสามได้ ขอให้มีคำสั่งหรือคำพิพากษายกหรือเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดสิงห์บุรี ครั้งที่ 3/2533 ลงวันที่7 พฤศจิกายน 2533 ที่วินิจฉัยให้ผู้ร้องทั้งสามขายที่ดินพิพาทที่รับโอนมาจากนายแฉล้มให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 และมีคำสั่งหรือคำพิพากษาว่าผู้ร้องทั้งสามร่วมกับนายแฉล้มซื้อที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 754 ตำบลโพชนไก่ อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยชอบด้วยกฎหมาย

ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า นายแฉล้มซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล และจดทะเบียนโอนเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2532 ในขณะที่ผู้คัดค้านที่ 2และที่ 3 ยังมีสิทธิการเช่าอยู่ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ต่อมาวันที่ 21 เดือนเดียวกันนายแฉล้มยินยอมให้ผู้ร้องทั้งสามเข้าถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับตนโดยผู้ร้องทั้งสามตกลงให้ค่าตอบแทนแก่นายแฉล้ม 260,000 บาท ถือได้ว่าเป็นการขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งสาม แต่นายแฉล้มมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งสาม โดยไม่แจ้งความจำนองจะขายให้ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เช่าทราบ ผู้คัดค้านที่ 2และที่ 3 มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทจากผู้ร้องทั้งสาม คำวินิจฉัยของคชก.จังหวัดสิงห์บุรีให้ผู้ร้องทั้งสามขายที่ดินพิพาทที่รับโอนจากนายแฉล้มให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ชอบด้วยกฎหมาย นายแฉล้มมิได้เป็นตัวแทนของผู้ร้องทั้งสามเข้าซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ขอให้ยกคำร้อง

ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทร่วมกับนายแฉล้ม โดยเสียค่าตอบแทนให้แก่นายแฉล้ม 260,000 บาท เท่ากับเป็นการซื้อขายที่ดินพิพาท เมื่อนายแฉล้มขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องทั้งสามโดยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53 ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เช่ามีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทจากผู้รับโอน คือผู้ร้องทั้งสามและถ้าผู้ร้องทั้งสามไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(คชก.) ประจำจังหวัดสิงห์บุรี ผู้ร้องทั้งสามจะต้องยื่นฟ้องคณะกรรมการดังกล่าวต่อศาลการที่ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลโดยไม่ทำเป็นคำฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้น พิพากษายกคำร้องขอ

ผู้ร้องทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเช่าทีดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดสิงห์บุรี ครั้งที่ 3/2533 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2533

ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามเป็นข้อแรกว่า ผู้ร้องทั้งสามอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดสิงห์บุรีต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 มาตรา 57 วรรคแรก บัญญัติว่า “คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านาที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัด มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัด แต่จะต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ คชก.จังหวัดมีคำวินิจฉัย” แม้การอุทธรณ์ต่อศาลจะไม่ระบุว่าให้ทำเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขอแต่การอุทธรณ์ก็บ่งบอกว่าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดอย่างใดอย่างหนึ่งหรืออีกนัยหนึ่งคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดนั้นได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของผู้อุทธรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดเป็นคดีมีข้อพิพาทระหว่างผู้อุทธรณ์และ คชก. จังหวัดแล้วผู้อุทธรณ์จึงจำต้องอุทธรณ์ต่อศาลโดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาท หาใช่เป็นกรณีที่ผู้อุทธรณ์จะต้องใช้สิทธิทางศาลโดยทำเป็นคำร้องขอฝ่ายเดียวอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทไม่อย่างไรก็ตาม ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสามได้บรรยายว่า คชก. จังหวัดสิงห์บุรีโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ร้องทั้งสามอย่างไร ตลอดทั้งได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อกล่าวหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาทุกประการเสมือนเป็นคำฟ้องคดีมีข้อพิพาท และศาลชั้นต้นได้สั่งรับคำร้องและให้มีการนำส่งสำเนาคำร้องให้คชก.จังหวัดสิงห์บุรี นางสำรี เอี่ยมสำอางค์ ผู้คัดค้านที่ 2 และนายประสิทธิ์ ฟุ้งพงษ์ผู้คัดค้านที่ 3 ผู้เช่าที่ดินพิพาทนำนามีโอกาสคัดค้านโต้แย้ง และ คชก. จังหวัดสิงห์บุรีนางสำรีและนายประสิทธิ์ได้ทำคำคัดค้านเสมือนเป็นคำให้การเข้ามาในคดี จนศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างคดีมีข้อพิพาททั้งได้สืบพยานทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นล่วงเลยเวลาที่จะสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสามแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสามจึงชอบแล้ว

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ว่า การซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาด ทรัพย์ของศาลต้องตกอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ให้เช่านาจะขายนาได้ต่อเมื่อได้แจ้งให้ผู้เช่านาทราบโดยทำเป็นหนังสือแสดงความจำนองจะขายนา พร้อมทั้งระบุราคาที่จะขายและวิธีการชำระเงินยื่นต่อประธาน คชก.ตำบล เพื่อแจ้งให้ผู้เช่านาทราบภายในสิบห้าวัน และถ้าผู้เช่านาแสดงความจำนงจะซื้อนาเป็นหนังสือยื่นต่อประธานคชก. ตำบลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ผู้ให้เช่าต้องขายนาแปลงดังกล่าวให้ผู้เช่านาตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ได้แจ้งไว้…” และวรรคท้ายบัญญัติว่า “การขายฝากการแลกเปลี่ยน และการโอนชำระหนี้จำนอง ให้ถือว่าเป็นการขายตามมาตรานี้ด้วย” บทบัญญัติแห่งมาตรานี้จึงเป็นเรื่องบังคับผู้ให้เช่านาที่ประสงค์จะขายนา จะขายฝากนาจะแลกเปลี่ยนนา หรือจะโอนนาชำระหนี้จำนองให้แก่บุคคลอื่นได้จะต้องแจ้งให้ผู้เช่านาทราบโดยทำเป็นหนังสือแสดงความจำนงจะขายนาหรือจะขายฝากนาหรือจะแลกเปลี่ยนนาหรือจะโอนนาชำระหนี้จำนอง พร้อมทั้งระบุราคาที่จะขาย ราคาที่จะขายฝากราคานาที่จะแลกเปลี่ยน หรือจำนวนหนี้จำนองที่ค้างชำระอยู่ตลอดทั้งวิธีการชำระเงินที่ยื่นต่อประธาน คชก. ตำบล เพื่อแจ้งให้ผู้เช่านาทราบเพื่อให้โอกาสผู้เช่านาได้ซื้อนารับซื้อฝากนารับแลกเปลี่ยนนา หรือรับที่จะชำระหนี้จำนองแทนผู้เช่านาแล้วรับโอนที่นามาเป็นของผู้เช่านาอันเป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้เช่านาตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 อย่างไรก็ตาม การที่นางสำราญเจ้าของที่ดินพิพาทผู้ให้เช่านาถูกธนาคารเจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับจำนองและนำยึดที่ดินพิพาทที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หาได้เป็นการที่นางสำราญประสงค์ที่จะขายนาหรือจะโอนนาชำระหนี้จำนองตามจำนวนหนี้จำนองที่ค้างชำระอยู่ไม่แต่เป็นเรื่องที่นางสำราญหรือที่ดินของนางสำราญถูกบังคบหรือถูกยึดทรัพย์สินไปขายทอดตลาดแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อนำเงินมาชำระหนี้จำนองแก่เจ้าหนี้ผู้รับจำนองตามอำนาจแห่งบทกฎหมายว่าด้วยเรื่องหนี้ การจำนองและการบังคับจำนองซึ่งบัญญัติวิธีการไว้เป็นพิเศษต่างหาก ยากที่นางสำราญในฐานะผู้ให้เช่านาจะปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53 วรรคแรกได้เพราะการขายทอดตลาดย่อมมีเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ดำเนินการแทนตามอำนาจหน้าที่ต้องประกาศขายอย่างเปิดเผยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้เช่านาเพื่อเข้าสู้ราคา ไม่ใช่ขายให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ทั้งราคาที่จะขายก็ไม่มีใครสามารถกำหนดได้ล่วงหน้าสุดแต่ผู้เข้าสู้ราคาหรือผู้จะซื้อจะเสนอ ประกอบกับวิธีการชำระเงิน วิธีการขายก็มีบทกฎหมายว่าด้วยการขายทอดตลาดบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ไม่มีทางที่นางสำราญผู้ให้เช่านาจะแจ้งถึงความจำนองที่จะขายนา ราคาที่จะขาย วิธีการขายและวิธีการชำระเงินให้แก่ผู้เช่านาทราบล่วงหน้าเป็นการเฉพาะตามกฎหมายว่าด้วยการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดังกล่าวได้ การซื้อขายนาจากการขายทอดตลาดของศาลในกรณีเช่นนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการที่ผู้ให้เช่านาขายนาตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524มาตรา 53 วรรคแรก ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น… ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดสิงห์บุรี ครั้งที่ 3/2533 ลงวันที่ 7พฤศจิกายน 2533 นั้น ศาลฎีกาเห็นชอบด้วยในผล”

พิพากษายืน

Share