คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1694/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของส.ได้ยื่นขอรับมรดกบ้านพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินแต่จำเลยคัดค้านว่าบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของมารดาจำเลยเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจจดทะเบียนโอนบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ได้และเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินเปรียบเทียบโจทก์จำเลยก็ไม่สามารถตกลงกันได้เจ้าพนักงานที่ดินจึงแจ้งให้คู่กรณีไปดำเนินการฟ้องต่อศาลภายใน60วันกรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา81ซึ่งกำหนดขั้นตอนไว้ว่าเมื่อมีผู้โต้แย้งการขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดกของผู้ร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบสวนคู่กรณีและเปรียบเทียบถ้าเปรียบเทียบแล้วไม่ตกลงให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งการไปตามที่เห็นสมควรหากคู่กรณีไม่พอใจคำสั่งดังกล่าวให้ไปดำเนินการฟ้องต่อศาลภายใน60วันนับแต่วันทราบคำสั่งโดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่รอเรื่องไว้เมื่อศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งถึงที่สุดประการใดจึงให้ดำเนินการไปตามกรณีถ้าไม่ฟ้องภายในกำหนดที่กล่าวข้างต้นก็ให้ดำเนินการไปตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งซึ่งระยะเวลาที่กำหนดให้คู่กรณีไปฟ้องศาลภายใน60วันดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ให้คู่กรณีฝ่ายไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหาใช่อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/3ไม่แม้คู่กรณีไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่จะไม่ฟ้องศาลตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วก็ตามเจ้าพนักงานที่ดินก็ยังคงดำเนินการต่อไปได้ตามระเบียบของทางราชการและกฎหมายตามที่เห็นสมควรทั้งไม่เป็นการตัดสิทธิคู่กรณีนั้นที่จะฟ้องบังคับจำเลยตามมูลคดีเดิมอีกด้วย โจทก์ฟ้องโดยอ้างสิทธิในฐานะเจ้าของบ้านพิพาทเพื่อติดตามเอาทรัพย์สินคืนจากจำเลยผู้ทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1336เป็นกรณีไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความฟ้องร้องไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บ้านเลขที่ 553 เป็นกรรมสิทธิ์ของนายเกษม ปาหนัน โดยปลูกอยู่ในที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นายเกษมให้นางคาเตียง แซ่เบ๊มารดาจำเลยเช่าบ้านพิพาทโดยไม่ได้ทำสัญญาเช่า ต่อมานายเกษมถึงแก่ความตายมารดาจำเลยจึงไม่ยอมชำระค่าเช่าตั้งแต่ปี 2512 นางเสงี่ยม ปาหนันในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเกษมตามคำสั่งศาลได้ฟ้องขับไล่มารดาจำเลย มารดาจำเลยกลับต่อสู้ว่าบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของตนผลที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า บ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเกษม ต่อมานางเสงี่ยมถึงแก่ความตาย โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเสงี่ยมตามคำสั่งศาลได้ยื่นขอรับมรดกบ้านพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจำเลยได้ยื่นคำคัดค้านว่าบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของมารดาจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะไม่อาจรับมรดกและเข้าครอบครองบ้านพิพาทได้ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากบ้านพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากบ้านพิพาทและส่งมอบคืนในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า บ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางคาเตียงมารดาจำเลยและมารดาจำเลยไม่เคยตกลงเช่าบ้านดังกล่าวจากนายเกษมจำเลยอยู่ในบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิของมารดาเมื่อมารดาถึงแก่ความตายจำเลยก็ยังคงอยู่อาศัยในบ้านพิพาทมาโดยตลอด ไม่มีผู้ใดคัดค้าน โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่มีการโต้แย้งสิทธิกันในบ้านพิพาท สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปแล้ว ค่าเช่าที่โจทก์เรียกสูงเกินความเป็นจริงและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากบ้านเลขที่ 553 และส่งมองแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,200 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่าระยะเวลาที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายใน 60 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานที่ดินไกล่เกลี่ยและโจทก์จำเลยตกลงกันไม่ได้นั้นเป็นอายุความที่กำหนดให้คู่ความนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาล หากโจทก์ไม่ฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ย่อมหมดสิทธิฟ้องพิเคราะห์แล้ว การวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า คดีนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเสงี่ยม ปาหนัน ได้ยื่นขอรับมรดกบ้านที่พิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร แต่จำเลยคัดค้านว่าบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของมารดาจำเลย เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจจดทะเบียนโอนบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ได้ และเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินเปรียบเทียบโจทก์จำเลยก็ไม่สามารถตกลงกันได้ เจ้าพนักงานที่ดินจึงแจ้งให้คู่กรณีไปดำเนินการฟ้องต่อศาลภายใน 60 วันเห็นว่า กรณีดังกล่าวต้องบังคับตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 81ซึ่งบัญญัติกำหนดขั้นตอนไว้ว่า เมื่อมีผู้โต้แย้งการขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดกของผู้ร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบสวนคู่กรณีและเปรียบเทียบแล้วไม่ตกลงให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งการไปตามที่เห็นสมควร หากคู่กรณีไม่พอใจคำสั่งดังกล่าวให้ไปดำเนินการฟ้องต่อศาลภายใน 60 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่รอเรื่องไว้ เมื่อศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งถึงที่สุดประการใดจึงให้ดำเนินการไปตามกรณี ถ้าไม่ฟ้องภายในกำหนดที่กล่าวข้างต้นก็ให้ดำเนินการไปตามที่พักงานเจ้าหน้าที่สั่งเห็นได้ว่า ระยะเวลาที่กำหนดให้คู่กรณีไปฟ้องศาลภายใน 60 วันดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ให้คู่กรณีฝ่ายไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติ หาใช่อายุความดังที่จำเลยเข้าใจแต่ประการใดไม่ เพราะแม้โจทก์ไม่ฟ้องศาลตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วเจ้าพนักงานที่ดินก็ยังคงดำเนินการต่อไปได้ตามระเบียบของทางราชการและกฎหมายที่เห็นสมควรทั้งไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องบังคับจำเลยตามมูลคดีเดิมอีกด้วย จากเหตุและผลดังที่ได้วินิจฉัยมาสรุปได้ว่า กำหนดระยะเวลา 60 วัน ตามที่เจ้าพนักงานที่ดินได้กำหนดให้โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลดังที่จำเลยกล่าวอ้างมิใช่อายุความตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/9 ซึ่งบัญญัติว่า”สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ” ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องโดยอ้างสิทธิในฐานะเจ้าของบ้านพิพาทเพื่อติดตามเอาทรัพย์สินคืนจากจำเลยผู้ทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งเป็นกรณีไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความฟ้องร้องไว้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเกิน 60 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานที่ดินไกล่เกลี่ยได้
พิพากษายืน

Share