คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6009/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม มิได้ระบุขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ให้สอดคล้องกับคำบรรยายฟ้อง เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างวรรคผิดเท่านั้น มิใช่เรื่องที่คำฟ้องของโจทก์ขัดแย้งกัน คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2547 เวลากลางวัน จำเลยช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งวิทยุเทปติดรถยนต์จำนวน 1 เครื่อง ราคา 9,095 บาท ที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บต-636 มหาสารคาม ของบริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งถูกนายจักรีศราษฐ์กับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ไป ขณะเกิดเหตุรถยนต์กระบะคันดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของนายเอกภพผู้เสียหาย โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการปล้นทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาข้อกฎหมายในประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งวิทยุเทปติดรถยนต์จำนวน 1 เครื่อง ที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์กระบะของบริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งถูกนายจักรีศราษฐ์กับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ไป โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการปล้นทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม ดังนี้ คำบรรยายฟ้องดังกล่าวทำให้จำเลยสามารถเข้าใจข้อหาได้โดยถูกต้องแล้วว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดอย่างไร แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม โดยมิได้ระบุขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ให้สอดคล้องกับคำบรรยายฟ้องก็ตามก็เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างวรรคผิดเท่านั้น มิใช่เรื่องที่คำฟ้องของโจทก์ขัดแย้งกันแต่อย่างใด คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อทางพิจารณาโจทก์ก็สืบสมว่า จำเลยซื้อวิทยุเทปติดรถยนต์กระบะที่ถูกนายจักรีศราษฐ์กับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ไปโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการปล้นทรัพย์ ถือว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์สืบสมแล้ว เมื่อกรณีเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างวรรคผิด ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งวิทยุเทปติดรถยนต์จำนวน 1 เครื่อง ที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์กระบะของบริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งถูกนายจักรีศราษฐ์กับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ไปโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการปล้นทรัพย์ ซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยซื้อวิทยุเทปดังกล่าวไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ จำเลยมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ ข้อเท็จจริงจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรกจึงเป็นการไม่ถูกต้อง แต่มิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ และมิใช่เรื่องข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวฟ้องแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นแต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 อ้างวรรคผิดเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าวิทยุเทปที่จำเลยซื้อไว้โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ดังกล่าวมีราคาเพียง 9,095 บาท ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี นั้น หนักเกินไป แม้คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งความผิดได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง จำคุก 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share