คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10957/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในวันนัดไต่สวนคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความแล้วจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าผู้ร้องแถลงว่า จำเลยมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก ส่วนโจทก์แถลงว่า จำเลยมีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องสามารถยึดทรัพย์มาชำระหนี้ได้ ปรากฏตามคำแถลงบัญชีรายละเอียดที่โจทก์ได้ยื่นประกอบคำคัดค้านไว้ เมื่อเอกสารที่โจทก์อ้างดังกล่าวเป็นเอกสารที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินต่าง ๆ ของฝ่ายจำเลย ประกอบด้วยสำเนาโฉนดที่ดิน สำเนาหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดและภาพถ่ายอาคารจำนวนมาก ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความและนำรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งหมดในเอกสารมาประกอบการพิจารณาแล้ววินิจฉัยทำคำสั่งไปนั้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการไต่สวนแล้ว มิใช่แต่เฉพาะว่าการสืบพยานบุคคลเท่านั้นที่จะเป็นการไต่สวน และหากจะให้คู่ความนำพยานเข้าไต่สวนก็จะไม่ได้ข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากการสอบถามของศาลดังกล่าว และไม่อาจทำให้ประเด็นที่มีคำสั่งเปลี่ยนไป ศาลชั้นต้นจึงย่อมมีอำนาจนำข้อเท็จจริงที่ได้มารับฟังประกอบดุลพินิจทำคำสั่งได้ตามที่เห็นสมควรโดยไม่จำต้องสืบพยาน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 84,497,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 3 โฉนดเลขที่ 4109 ถึงเลขที่ 4123 และโฉนดเลขที่ 4125 ถึงเลขที่ 4141 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด และที่ดินแปลงอื่นอีก รวมจำนวน 116 แปลง ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวด้วย
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้ตามคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 13508/2544 และหมายเลขแดงที่ 13509/2544 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 และที่ 1 ในคดีดังกล่าวพร้อมกับจำเลยอื่นร่วมกันชำระเงิน 66,737,961.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4109 ถึงเลขที่ 4123 และโฉนดเลขที่ 4125 ถึงเลขที่ 4141 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ต่อมาศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องซึ่งรับโอนทรัพย์สินด้อยคุณภาพของธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนหลังจากนั้นผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองที่ดินทั้งสามสิบสองแปลงจากที่ดินทั้งหมด 116 แปลงที่โจทก์คดีนี้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดออกขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ซึ่งเมื่อหักชำระหนี้ให้ผู้ร้องแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังมีหนี้ค้างชำระผู้ร้องอีก 153,684,153.92 บาท ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เงินจำนวน 2,350,000 บาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินส่วนที่เหลือของจำเลยที่ 3
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า เมื่อศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 3 โดยไม่ทำการไต่สวนคำร้องนั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์เงินที่ได้จากการขายทอดตลาด โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 กับที่ 3 ยังมีทรัพย์สินอื่นอีกเป็นจำนวนมากที่ผู้ร้องจะไปดำเนินการบังคับคดีได้ และแถลงในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2550 ยืนยันว่า ผู้ร้องได้รับโอนทรัพย์สินของจำเลยซึ่งมิได้ถูกยึดทรัพย์เป็นอาคารชุดที่กรุงเทพมหานครและที่ดินที่จังหวัดชุมพร ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 120,000,000 บาท จึงไม่ต้องมาร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ ศาลชั้นต้นจึงให้เลื่อนการไต่สวนไปนัดหน้าเพื่อให้โอกาสคู่ความแสดงหลักฐานเพื่อความสะดวกแก่การพิจารณา ต่อมาในนัดไต่สวนวันที่ 29 สิงหาคม 2550 ศาลชั้นต้นได้สอบถามคู่ความและจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า ผู้ร้องแถลงว่า จำเลยมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก ส่วนโจทก์แถลงว่า จำเลยมีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องสามารถยึดทรัพย์มาชำระหนี้ได้ ปรากฏตามคำแถลงบัญชีรายละเอียดที่โจทก์ได้ยื่นประกอบคำคัดค้านไว้ เมื่อเอกสารที่โจทก์อ้างดังกล่าวเป็นเอกสารที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินต่าง ๆ ของฝ่ายจำเลย ประกอบด้วยสำเนาโฉนดที่ดิน สำเนาหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด และภาพถ่ายอาคารจำนวนมาก ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความและนำรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งหมดในเอกสารมาประกอบการพิจารณา แล้ววินิจฉัยทำคำสั่งไปนั้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นการไต่สวนแล้ว มิใช่ว่าจะต้องสืบพยานบุคคลเท่านั้นจึงจะเป็นการไต่สวน และหากจะให้คู่ความนำพยานเข้าไต่สวนก็จะไม่ได้ข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากการสอบถามของศาลดังกล่าว และไม่อาจทำให้ประเด็นที่มีคำสั่งเปลี่ยนไป ศาลชั้นต้นจึงย่อมมีอำนาจนำข้อเท็จจริงที่ได้มารับฟังประกอบดุลพินิจทำคำสั่งได้ตามที่เห็นสมควรโดยไม่จำต้องสืบพยาน และเมื่อพิจารณารายการทรัพย์สินดังกล่าวทั้งหมดแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่า มีทรัพย์สินรายการใดที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ส.739/2547 ของศาลชั้นต้นที่นำมาผูกติดกับสำนวนนี้ประกอบประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีและรายงานเจ้าหน้าที่ เอกสารท้ายคำร้องแสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองที่ดินทั้งสามสิบสองแปลงจากการขายทอดตลาดเพียง 1,250,000 บาท รวมแล้วจึงไม่พอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาที่ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยอื่นชำระเงิน 66,737,961.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ร้อง จึงถือได้ว่าผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยสิ้นเชิง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การที่ผู้ร้องไม่ใช้สิทธิตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 จำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตกลั่นแกล้งโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์ไม่ได้โต้แย้งประเด็นดังกล่าวไว้ในคำคัดค้าน จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share