คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5561/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าหนี้ค่าก่อสร้างถนนของกรุงเทพมหานครลูกหนี้ ได้โอนหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเงินค่าก่อสร้างดังกล่าวให้ผู้ร้องโดยทำเป็นหนังสือและผู้ร้องได้ส่งคำบอกกล่าวแจ้งการโอนไปยังกรุงเทพมหานครเป็นหนังสือแล้ว จึงต้องด้วยแบบพิธี สำหรับการโอนสิทธิเรียกร้องตามป.พ.พ. มาตรา 306 ทุกประการ การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยกับผู้ร้องเป็นอันสมบูรณ์ สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การโอนย่อมหลุดจากจำเลยไปสู่ผู้ร้องแล้ว และย่อมใช้ยันกรุงเทพมหานครลูกหนี้และใช้ยันโจทก์ลูกจ้างของจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้โดยไม่ต้องพิจารณาว่ากรุงเทพมหานครลูกหนี้จะได้ยินยอมในการโอนนั้นด้วยหรือไม่โจทก์หามีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวไม่ ข้อความตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 ที่ว่า “ได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น” กฎหมายต้องการเพียงประการใดประการหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ต้องการให้ประกอบกันทั้งสองประการ จึงจะถือว่าการโอนสมบูรณ์และใช้ยันลูกหนี้กับบุคคลภายนอกได้ ที่บัญญัติว่า ลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น เป็นกรณีที่ใช้ประกอบกับมาตรา 308 ซึ่งมีความหมายว่า หากลูกหนี้ยินยอมโดยมิได้อิดเอื้อนแล้วย่อมทำให้ลูกหนี้หมดสิทธิที่จะยกข้อต่อสู้อันตน มีอยู่ต่อเจ้าหนี้มาใช้แก่ผู้รับโอน แต่หาทำให้การโอนสิทธิเรียกร้องที่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขประการแรกตก เป็นอันไม่สมบูรณ์ด้วยการที่ลูกหนี้ไม่ยินยอมไม่.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างชำระค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 255,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 120,000 บาทแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 118,387 บาท แก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 16,800 บาทแก่โจทก์ที่ 5 จำนวน 49,382 บาท แก่โจทก์ที่ 6 จำนวน 29,120 บาทและแก่โจทก์ที่ 7 จำนวน 16,000 บาท
โจทก์ทั้งเจ็ดยื่นคำร้องขอให้จัดให้มีวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินของกรุงเทพมหานครซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลย ศาลแรงงานกลางไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้กรุงเทพมหานครส่งเงินมายังศาลแรงงานกลาง ผู้ร้องร้องขอให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนการอายัด
ศาลแรงงานกลางไต่สวนแล้วยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306 บัญญัติว่า “การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโอยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือท่านว่าไม่สมบูรณ์อนึ่ง การโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ…”
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กรณีนี้จำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้ของกรุงเทพมหานครกับผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนได้ทำการโอนหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเป็นหนังสือตามบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิรับเงินเอกสารหมาย ร.1 และเอกสารหมาย ร.2 ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนได้ส่งคำบอกกล่าวการโอนไปยังกรุงเทพมหานครผู้เป็นลูกหนี้เป็นหนังสือตามเอกสารหมาย ร.3 และเอกสารหมาย ร.4 แล้ว กรุงเทพมหานครผู้เป็นลูกหนี้ก็ทราบการโอนตามเอกสารหมาย ร.3 และเอกสารหมาย ร.4 จนถึงได้มีหนังสือตอบมายังผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนตามเอกสารหมาย ร.5และเอกสารหมาย ร.6 (เอกสารหมาย ร.6 มี 2 ฉบับ ตรงกับหนังสือหมายเลข 9 และหมายเลข 10 ท้ายคำร้อง) ศาลฎีกาเห็นว่าด้วยข้อเท็จจริงตามที่กล่าวข้างต้น การโอนระหว่างจำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้กับผู้ร้องที่เป็นผู้รับโอนได้ทำเป็นหนังสือ การแจ้งการโอนไปยังกรุงเทพมหานครลูกหนี้ก็ได้ทำเป็นหนังสือ ซึ่งมีความที่ถือเป็นคำบอกกล่าวต้องด้วยแบบพิธีสำหรับการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 ทุกประการแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้กับผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนเป็นอันสมบูรณ์ สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การโอนย่อมหลุดจากจำเลยไปส่งผู้ร้องแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องย่อมใช้ยันกรุงเทพมหานครผู้เป็นลูกหนี้และใช้ยันโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกได้แล้วโดยไม่จำต้องพิจารณาในข้อที่ว่า กรุงเทพมหานครผู้เป็นลูกหนี้จะได้ยินยอมในการโอนนั้นด้วยหรือไม่ เพราะมาตรา 306 บัญญัติว่า “ได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น” กฎหมายต้องการเพียงประการใดประการหนึ่งเท่านั้นไม่ได้ต้องการให้ประกอบกันทั้งสองประการ จึงจะถือว่าการโอนสมบูรณ์และใช้ยันลูกหนี้และบุคคลภายนอกได้ ดังจะเห็นได้จากกฎหมายใช้คำว่า “หรือ” มิได้ใช้คำว่า “และ” ที่มาตรา 306 บัญญัติว่า”ลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น” เป็นกรณีที่ใช้ประกอบกับมาตรา 308 ซึ่งมีความหมายว่า หากลูกหนี้ยินยอมโดยมิได้อิดเอื้อนแล้วย่อมทำให้ลูกหนี้หมดสิทธิที่จะยกข้อต่อสู้อันตนมีอยู่ต่อเจ้าหนี้มาใช้แก่ผู้รับโอน เป็นต้นว่าเจ้าหนี้ได้ปลดหนี้แล้วหรือตนชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แล้วเท่านั้น แต่ก็หาทำให้การโอนสิทธิเรียกร้องตกเป็นอันไม่สมบูรณ์ด้วยการที่ลูกหนี้ไม่ยินยอมไม่ เมื่อกฎหมายบัญญัติไว้ดังนี้ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย ร.3 และเอกสารหมาย ร.4 มิใช่ หนังสือแจ้งคำบอกกล่าว หากเป็นเพียงหนังสือขอความยินยอม ทั้งกรุงเทพมหานครยังยินยอมโดยอิดเอื้อนตามเอกสารหมาย ร.5 และเอกสารหมาย ร.6แล้วนำเอาเหตุทั้งนั้นมาวินิจฉัยเป็นทำนองว่าการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยกับผู้ร้องไม่สมบูรณ์ ซึ่งย่อมแปลได้ต่อไปว่า จำเลยยังมีสิทธิเรียกร้องต่อกรุงเทพมหานครอยู่เช่นเดิมโจทก์ทั้งเจ็ดย่อมอายัดสิทธิเช่นว่านั้นได้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น โจทก์ทั้งเจ็ดหามีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องอันตกแก่ผู้ร้องแล้วไม่
พิพากษากลับ ให้ยกเลิกคำสั่งอายัดชั่วคราว และให้ถอนหมายอายัดชั่วคราวของศาลแรงงานกลาง”.

Share