คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13385/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์อ้างสัญญาเช่าซื้อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้าง สัญญาเช่าซื้อมีลักษณะเป็นตราสาร จึงต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่ปรากฏว่า สัญญาเช่าซื้อมิได้ปิดอากรแสตมป์ จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามบทบัญญัติ ป.รัษฎากร มาตรา 118 ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังสัญญาเช่าซื้อเป็นพยานหลักฐานจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้หรือยกปัญหาในเรื่องสัญญาเช่าซื้อมิได้ปิดอากรแสตมป์ขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ว่าสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ฟ้องเป็นเอกสารที่เกิดจากกลฉ้อฉลของโจทก์เพราะในการกรอกข้อความลงในเอกสารดังกล่าวไม่ตรงกับเงื่อนไขและข้อกำหนดที่จำเลยทั้งสามเสนอต่อโจทก์ เมื่อไม่อาจรับฟังสัญญาเช่าซื้อเป็นพยานหลักฐานได้ พยานหลักฐานอื่นของโจทก์ไม่มีน้ำหนักดีไปกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสาม ดังนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อ กรณีนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 14,532,694.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,138.694.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามส่งมอบทรัพย์สินและอุปกรณ์ทั้งหมดคืนแก่โจทก์ หากไม่สามารถส่งคืนได้ให้ชดใช้ราคาแทน
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,343,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 6 มกราคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบกล่องป้ายเอ็ม พี จำนวน 3 ป้าย คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากไม่สามารถส่งมอบคืนได้ ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 17,400 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางสาวมัลลิการ์ ทายาทของจำเลยที่ 3 เข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทน
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนางทิพวรรณ บุตรของจำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทน พิเคราะห์แล้วฟังได้ว่า นางทิพวรรณเป็นทายาทของจำเลยที่ 2 ผู้มรณะ จึงอนุญาตให้นางทิพวรรณเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเช่าซื้อและค่าขาดประโยชน์พร้อมดอกเบี้ย กับให้จำเลยทั้งสามส่งมอบทรัพย์สินและอุปกรณ์คืนโจทก์ โดยโจทก์อาศัยสัญญาเช่าซื้อ สัญญายืมทรัพย์สินและอุปกรณ์และสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาแต่งตั้งผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการตามข้อสัญญาได้ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและร่วมกันส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่โจทก์ เห็นว่า ตามมาตรา 118 ประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้น เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งมิได้จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ที่ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้ว” ที่โจทก์อ้างสัญญาเช่าซื้อ เป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างนั้น สัญญาเช่าซื้อมีลักษณะเป็นตราสาร จึงต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่ปรากฏว่า สัญญาเช่าซื้อมิได้ปิดอากรแสตมป์ ดังนั้น สัญญาเช่าซื้อฉบับดังกล่าวจึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามบทบัญญัติประมวลรัษฎากรข้างต้น ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังสัญญาเช่าซื้อเป็นพยานหลักฐานจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้หรือยกปัญหาในเรื่องสัญญาเช่าซื้อมิได้ปิดอากรแสตมป์ขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ว่าสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ฟ้องเป็นเอกสารที่เกิดจากกลฉ้อฉลของโจทก์เพราะในการกรอกข้อความลงในเอกสารดังกล่าวไม่ตรงกับเงื่อนไขและข้อกำหนดที่จำเลยทั้งสามเสนอต่อโจทก์ เมื่อไม่อาจรับฟังสัญญาเช่าซื้อเป็นพยานหลักฐานได้ พยานหลักฐานอื่นของโจทก์ไม่มีน้ำหนักดีไปกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสาม ดังนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อ กรณีนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247
ส่วนความรับผิดในการคืนทรัพย์สินให้แก่โจทก์นั้น เมื่อได้ความว่า ตามสัญญายืมทรัพย์สินและอุปกรณ์มีเอกสารแนบท้ายระบุรายการทรัพย์สินที่ยืมซึ่งมีป้ายเอ็ม พี จำนวน 3 ป้าย แต่ตามใบรับคืนสินค้าขีดฆ่ารายการกล่องป้ายเอ็ม พี จำนวน 3 ป้าย ออก โดยมีข้อความว่า รายการที่ขีดฆ่า คือ รายการที่ยังไม่ได้ถอดถอนไป แสดงว่า ป้ายของโจทก์ยังอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อโจทก์ขอเรียกคืนทรัพย์สินดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องส่งมอบคืนโจทก์ โดยจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกัน ต้องร่วมรับผิดด้วย เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในเรื่องค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้ออีก เพราะไม่มีผลต่อคดี ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยเพียงบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนคำขอตามสัญญาเช่าซื้อ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share