คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14359/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในคดีความผิดฐานรับของโจรนั้น โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 รับทรัพย์ของกลางไว้ โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของกลางนั้น จำเลยที่ 1 จะต้องนำสืบแก้ตัวว่าตนไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับแหวนทองฝังเพชรรูปข้าวหลามตัด 1 วง กล่องทองเหลืองรูปทรงกลมมีข้อความ “นครหลวงไทย” 3 กล่อง ตะกรุด 4 อัน และพระเครื่อง 50 องค์ ของกลาง โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ลำพังคำรับของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 1 ได้ซื้อทรัพย์สินดังกล่าวมาจากชายคนหนึ่ง และคำรับของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้ให้การปฏิเสธในชั้นศาลว่าจำเลยที่ 1 ไม่รู้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด พยานหลักฐานโจทก์จึงยังมีข้อสงสัยอยู่ตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 357 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ (ที่ถูก ทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน) จำนวน 2,974,800 บาท แก่ผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 4,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติโดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์ข้อหาลักทรัพย์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่าเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 เวลาเช้า นางสาวสุขสมบัติ ผู้เสียหายออกจากบ้านไปเปิดอู่คาร์แคร์ ส่วนบิดาและมารดาอยู่ที่บ้านจนถึงเวลาประมาณ 13 นาฬิกา ผู้เสียหายให้คนมารับบิดามารดาไปทำบุญที่วัดลวมมาบุญ ก่อนออกจากบ้านบิดามารดาปิดประตูบ้านเรียบร้อย จนกระทั่งเวลาประมาณ 17 นาฬิกา น้องชายของผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์มาส่งมารดาที่บ้าน เมื่อเปิดประตูรั้วหน้าบ้านเข้าไปเห็นประตูบ้านถูกงัด ตรวจดูภายในบ้านพบว่ามีการรื้อค้นสิ่งของ จึงโทรศัพท์บอกผู้เสียหายผู้เสียหายกลับมาตรวจสอบภายในบ้านพบว่าทรัพย์สินจำพวกเครื่องประดับ เพชร ทองที่เก็บไว้ในห้องนอนชั้นล่าง และพระที่โต๊ะหมู่บูชากับพระที่อยู่ในตู้พระสูญหายไปรวม 58 รายการ เป็นเงิน 3,107,860 บาท ผู้เสียหายโทรศัพท์แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรีมาตรวจที่เกิดเหตุและออกสืบสวนหาคนร้าย จนกระทั่งทราบว่านายประกาศิตหรือตี๋ เป็นคนร้ายที่เข้าไปลักทรัพย์ในบ้านผู้เสียหาย เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจไปค้นที่ร้านเข็มทองคาราโอเกะ พบนายประกาศิตพร้อมนาฬิกาข้อมือและแหวนของผู้เสียหาย นายประกาศิตรับว่าเป็นคนร้ายลักทรัพย์ดังกล่าวมาจากบ้านผู้เสียหาย และนำทรัพย์สินบางส่วนที่ลักมาไปขายให้จำเลยที่ 1 ที่แผงพระริมถนนสีหบุรานุกิจ เจ้าพนักงานตำรวจไปค้นห้องพักจำเลยที่ 1 ที่มามีนคอนโดพบแหวนทองฝังเพชรรูปข้าวหลามตัด 1 วง กล่องทองเหลืองรูปทรงกลมมีข้อความ “นครหลวงไทย” 3 กล่อง พระเครื่อง 50 องค์ ตะกรุด 4 อัน จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินดังกล่าวมาในราคา 200 บาท หลังจากนั้นไปค้นห้องพักจำเลยที่ 2 พบพระพุทธรูปหลวงปู่ดุล วัดบูรพาราม ขนาดหน้าตักกว้าง 5 นิ้ว 1 องค์ จำเลยที่ 2 รับว่าซื้อมาจากแผงพระริมถนนสีหบุรานุกิจ จึงยึดไว้เป็นของกลางและจับกุมจำเลยทั้งสอง ชั้นจับกุมและสอบสวน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหารับของโจร
จำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 มีอาชีพค้าขาย รับซื้อขายพระตั้งแผงอยู่ที่ริมถนนสีหบุรานุกิจ มีรายได้วันละประมาณ 200 ถึง 300 บาท เมื่อวันที่ 3 หรือ 4 กรกฎาคม 2556 เวลาประมาณ 10 หรือ 11 นาฬิกา มีชายคนหนึ่งนำพระเครื่องใส่ถุงผ้ามาขายที่บริเวณหน้าแผงพระของจำเลยที่ 1 มีผู้มาเลือกซื้อไปก่อนแล้วหลายองค์ จำเลยที่ 1 ซื้อเป็นคนสุดท้ายโดยรับซื้อของที่เหลือทั้งหมด มีแหวน 1 วง กล่องทองเหลือง 3 กล่อง ตะกรุด 4 อัน และพระเครื่อง 50 องค์ ในราคา 200 บาท จำเลยที่ 1 ถามชายคนดังกล่าวว่านำทรัพย์สินที่ขายมาจากที่ใด ได้รับคำตอบว่าเป็นของตนเอง ส่วนพระเครื่องที่นำมาขายเป็นพระที่ได้รับแจกมาจากงานทอดกฐิน งานทอดผ้าป่า ไม่มีราคาเมื่อซื้อทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 นำไปเก็บไว้ที่ห้องพักที่เจ้าพนักงานตำรวจค้นจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมา หลังถูกจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารโดยมิได้อ่านให้ฟังหรือให้จำเลยที่ 1 อ่านด้วยตนเอง ก่อนลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานตำรวจบอกว่า จะกันจำเลยที่ 1 ไว้เป็นพยาน ถ้ารู้ว่าในบันทึกการจับกุมมีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ทราบว่าทรัพย์สินที่ซื้อเป็นทรัพย์สินที่ถูกลักมา จำเลยที่ 1 จะไม่ลงชื่อในบันทึกการจับกุม ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 แจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่าต้องการญาติและทนายความ แต่พนักงานสอบสวนมิได้ว่ากระไร
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ คดีส่วนของจำเลยที่ 2 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ เห็นว่า แม้ว่าหลังเกิดเหตุลักทรัพย์เจ้าพนักงานตำรวจพบแหวนทองฝังเพชรรูปข้าวหลามตัด 1 วง กล่องทองเหลืองรูปทรงกลมมีข้อความ “นครหลวงไทย” 3 กล่อง ตะกรุด 4 อัน และพระเครื่อง 50 องค์ ของกลาง ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ในคดีความผิดฐานรับของโจรนั้น โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 รับทรัพย์ของกลางดังกล่าวไว้ โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของกลางนั้น จำเลยที่ 1 จะต้องนำสืบแก้ตัวว่าตนไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับแหวนทองฝังเพชรรูปข้าวหลามตัด 1 วง กล่องทองเหลืองรูปทรงกลมมีข้อความ “นครหลวงไทย” 3 กล่อง ตะกรุด 4 อัน และพระเครื่อง 50 องค์ ของกลาง โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ลำพังคำรับของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 1 ได้ซื้อทรัพย์สินดังกล่าวมาจากชายคนหนึ่ง และคำรับของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้ให้การปฏิเสธในชั้นศาลว่าจำเลยที่ 1 ไม่รู้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด พยานหลักฐานโจทก์จึงยังมีข้อสงสัยอยู่ตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share