แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า ตั้งบ้านเรือนตามความหมายของ พ.ร.บ.เทศบาล 2486 หรือ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2492 นั้น ต้องตีความว่า มีความหมายตลอดไปถึงบุคคลที่อยู่ในเคหะสถานบ้านเรือนของผู้อื่นด้วย จะหมายเฉพาะแต่ผู้เป็นเจ้าของบ้านของตนเองเท่านั้นหาได้ไม่ ฉะนั้นการตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตเทศบาลตามกฎหมายเกี่ยวกับเทศบาล จึงมีความหมายเกียวกับการเทศบาล จึงมีความหมายถึงการที่บุคคลมีที่อยู่เป็นปรกติในเคหะสถานใด ๆ ในเขตเทศบาลนั่นเอง ซึ่งย่อมตรงกับคำว่าเจ้าบ้านและผู้อยู่ในบ้าน ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตเทศบาล พ.ศ.2479
การที่มีชื่อผู้ใดเป็นผู้อยู่ในบ้านตามทะเบียนราษฎรในเขตเทศบาลนั้น ย่อมเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า ผู้นั้นได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตเทศบาลนั้น ฉะนั้นเพียงแต่ได้ความว่า ผู้นั้นไปได้ภรรยาที่ตำบลอื่นหรือไปมีบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลอื่นโดยมิได้ความว่าผู้นั้นได้ละทิ้งที่อยู่เดิมในเขตเทศบาลตามที่ปรากฎในทะเบียนราษฎรเป็นที่อยู่ต่อไปแล้ว ก็จะฟังเป็นข้อพิศูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้วไม่ได้ จึงต้องฟังว่าผู้นั้นยังมีที่อยู่ในเขตเทศบาลอยู่
ย่อยาว
คดี ๔ เรื่องนี้ โจทก์แต่ละคนต่างฟ้องจำเลยตามลำดับสำนวนใจความต้องกันว่า โจทก์ทุกคนเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองลพบุรี ซึ่งประกาศแล้วแต่เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๔๙๒ ต่อมาจำเลยผู้เป็นนายกเทศมนตรีแห่งเทศบาลนี้ ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า บัดนี้โจทก์มิได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตเทศบาล โจทก์ขาดจากตำแหน่งสมาชิกภาพแล้วอันเป็นความเท็จ จึงขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าโจทก์ยังไม่ขาดจากสมาชิกภาพของเทศบาลเมืองลพบุรี
จำเลยให้การว่า โจทก์ทุกคนไม่ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตเทศบาลเมืองลพบุรี ฯลฯ
โจทก์จำเลยไม่สืบพยาน โดยทั้งสองฝ่ายยอมรับว่า โจทก์ทุกคนมีชื่อในทะเบียนราษฎรในเขตเทศบาล โดยมาทำงานในเทศบาล แต่มีบ้านอยู่นอกเขตเทศบาลอ้างมีภริยาอยู่นอกเขตเทศบาลบ้าง ฯลฯ ทั้งนี้โจทก์ทุกคนไม่มีบ้านเรือนของตนเองในเขตเทศบาล
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า หนังสือที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่า โจทก์ขาดจากสมาชิกในสภาเทศบาลเมืองลพบุรีนั้นเป็นโมฆะ และโจทก์ทุกคนยังคงเป็นสมาชิกอยู่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า ตั้งบ้านเรือนตามความหมายของพ.ร.บ.เทศบาล ๒๔๘๖ หรือ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล ๒๔๙๒ นั้นต้องตีความว่า มีความหมายตลอดไปถึงบุคคลที่อยู่ในเคหะสถานบ้านเรือนของผู้อื่นด้วย จะหมายเฉพาะแต่ผู้เป็นเจ้าของบ้านของตนเองเท่านั้นหาได้ไม่ ฉะนั้นการตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตเทศบาลตามกฎหมายเกี่ยวกับการเทศบาล จึงมีความหมายถึงการที่บุคคลมีที่อยู่เป็นปรกติในเคหะสถานใด ๆ ในเขตเทศบาลนั่นเอง ซึ่งย่อมตรงกับคำว่าเจ้าบ้านและผู้อยู่ในบ้านตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตเทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙ แต่การที่บุคคลใดจะมีที่อยู่เป็นปรกติในเคหะสถานใดหรือไม่นั้น ย่อมเป็นข้อเท็จจริง ที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยกันเป็นราย ๆ ไป การมีชื่อเป็นผู้อยู่ในบ้านใดตามทะเบียนราษฎรในเขตเทศบาลนั้น เป็นแต่เพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่าได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตเทศบาลเท่านั้น ผู้นั้นอาจอพยพไปจากที่นั่นเสียนานแล้ว หรือตายไปแล้ว ก็ได้ แต่ถึงกระนั้นก็ดี ผู้ใดจะกล่าวอ้างว่าบุคคลใดไม่ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่นั่นแล้ว ผู้นั้นต้องนำสืบให้ปรากฎ
สำหรับนายศักดิ์โจทก์ดไปได้ภรรยาที่ตำบลโพธิเก้าต้น เพียงเท่านี้จึงยังไม่พอฟังว่า นายศักดิ์มิได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตเทศบาล สำหรับนายแสวงก็รับกันเพียงว่า ได้ปลูกบ้านส่วนตัวของตนอยู่ที่ตำบลโพธิ์เก้าต้นเป็นเรือน ๒ หลัง สำหรับนายเดือน ไม่มีข้อเท็จจริงอย่างอื่น สำหรับนายปลั่งแม้จะรับกันว่ามีบ้านเรือนอยู่นอกเขตเทศบาล และใช้เป็นที่อยู่อาศัยของนายปลั่ง ก็มิได้ความว่านายหลั่งมิได้ใช้บ้านเรือนในเขตเทศบาล ตามที่ปรากฎในทะเบียนราษฎรเป็นที่อยู่ต่อไปแล้ว และบุคคลอาจมีที่อยู่หลายแห่งซึ่งอยู่สับเปลี่ยนกันไปได้ จึงฟังหักล้างข้อสันนิษฐานแห่งคดีไม่ได้
คงพิพากษายืน