คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มีเจตนารมณ์ที่ถือว่าการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของนักแสดงนั้นต้องเป็นการกระทำที่เป็นการแสดงงานอันมีลิขสิทธิ์โดยเฉพาะงานดนตรีกรรม งานนาฏกรรม และงานวรรณกรรมที่มีลักษณะทำนองเป็นบทพากย์ บทละคร หรือบทที่ใช้แสดงอื่นใดอันอาจนำมาให้บุคคลที่ถือเป็นนักแสดงตามบทนิยามมาตรา 4 แสดง
การได้สิทธิของนักแสดงที่จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นั้น ต้องมีองค์ประกอบที่บุคคลที่จะแสดงนั้นเป็นไปตามบทนิยามคำว่านักแสดงในมาตรา 4 และสิ่งที่แสดงหรือการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของนักแสดงที่จะได้รับการคุ้มครองนั้นต้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ด้วยเท่านั้น
โจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายฟ้องให้เห็นเป็นประเด็นให้วินิจฉัยว่า การแสดงการเดินแบบเสื้อผ้าตามฟ้องมีการทำท่าที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวในลักษณะงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทนาฏกรรมได้อย่างไร จึงไม่อาจพิจารณาวินิจฉัยและฟังว่าการแสดงการเดินแบบนี้เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทนาฏกรรมโดยตัวเองหรือเป็นการแสดงงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทนาฏกรรมอยู่แล้ว ดังนี้แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นนักแสดงหรือผู้แสดงท่าทางในการเดินแบบ ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าได้สิทธิของนักแสดง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปตามที่โจทก์ทั้งสองขอไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความโจทก์ทั้งสองให้จำนวน 10,000 บาท และให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มีเจตนารมณ์ที่ถือว่าการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของนักแสดงนั้น ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการแสดงงานอันมีลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะงานดนตรีกรรม งานนาฏกรรม และงานวรรณกรรมที่มีลักษณะทำนองเป็นบทพากย์ บทละคร หรือบทที่ใช้แสดงอื่นใดอันอาจนำมาให้บุคคลที่ถือเป็นนักแสดงตามบทนิยามมาตรา 4 แสดงนั่นเอง เพราะลักษณะหรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับงานเหล่านี้ล้วนมีบัญญัติไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับงานอันมีลิขสิทธิ์แล้วทั้งสิ้น จึงไม่จำเป็นต้องบัญญัติซ้ำสำหรับใช้กับกรณีสิทธิของนักแสดงอีก จากบทกฎหมายและเหตุผลดังวินิจฉัยมาข้างต้นจึงเห็นได้ว่า
การได้สิทธิของนักแสดงที่จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นั้น ต้องมีองค์ประกอบที่บุคคลที่จะแสดงนั้นเป็นไปตามบทนิยามคำว่านักแสดง ในมาตรา 4 และสิ่งที่แสดงหรือการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของนักแสดงที่จะได้รับการคุ้มครองนั้นต้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ด้วยเท่านั้น
โจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายฟ้องแสดงให้เห็นเป็นประเด็นให้วินิจฉัยว่า การแสดงการเดินแบบเสื้อผ้าตามฟ้องมีการทำท่าที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวในลักษณะงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทนาฏกรรมได้อย่างไร จึงไม่อาจพิจารณาวินิจฉัยและฟังว่าการแสดงการเดินแบบนี้เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทนาฏกรรมโดยตัวเองหรือเป็นการแสดงงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทนาฏกรรมอยู่แล้ว ดังนี้แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นนักแสดงหรือผู้แสดงท่าทางในการเดินแบบ ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าได้สิทธิของนักแสดง จึงไม่อาจฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิของนักแสดงของโจทก์ทั้งสอง และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 1 และอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share