แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม บัญญัติว่า “การผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย…(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป” ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางมีน้ำหนักสุทธิรวม 1.697 กรัม ซึ่งมีปริมาณน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวที่ให้ถือว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบว่าจำเลยมีเจตนามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงมีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยครอบครองมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เพียง 0.244 กรัม ไม่ถึงสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 66 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับจำนวนหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิ ดังนั้น การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 18 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 1.697 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 0.244 กรัม จึงเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย ปรับบทกฎหมายและกำหนดโทษใหม่ให้ถูกต้องเหมาะสมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุก 6 ปี และปรับ 450,000 บาท คำรับในชั้นจับกุมและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี และปรับ 300,000 บาท ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง บังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่ทั้งนี้หากต้องกักขังแทนค่าปรับ ให้กักขังเกิน 1 ปี ได้ แต่ไม่เกิน 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 21,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 1 ปี และปรับ 14,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยฟัง ให้คุมความประพฤติจำเลยมีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร มีกำหนด 20 ชั่วโมง ภายในกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม บัญญัติว่า “การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการผลิตนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย… (2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป” ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางมีน้ำหนักสุทธิรวม 1.697 กรัม ซึ่งมีปริมาณน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาดที่ให้ถือว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบว่าจำเลยมีเจตนามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงมีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยครอบครองมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เพียง 0.244 กรัม ไม่ถึงสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 66 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับจำนวนหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิ ดังนั้น การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 18 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 1.697 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 0.244 กรัม จึงเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย ปรับบทกฎหมายและกำหนดโทษใหม่ให้ถูกต้องเหมาะสมได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง ลงโทษจำคุก 4 ปี ไม่ลงโทษปรับ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6