คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5939/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พนักงานของธนาคารโจทก์บันทึกรายการในบัญชีเงินฝากของจำเลยซ้ำกัน2 ครั้ง ทำให้ยอดเงินในบัญชีของจำเลยสูงกว่าความเป็นจริง 35,505 บาท และจำเลยเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวไป เมื่อจำเลยได้เงินนั้นไปโดยไม่ชอบ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยผู้ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยได้
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลอุทธรณ์มิได้รับฟังข้อเท็จจริงใหม่ การที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมานั้นเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ จำเลยกระทำผิดสัญญาฝากทรัพย์และโจทก์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืน จึงมิใช่เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์กับโจทก์ สาขาถนนข้าวสารเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2536 จำเลยนำเช็คธนาคารโจทก์ สาขาศรีย่าน จำนวน 1 ฉบับสั่งจ่ายเงิน 35,505 บาท ฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่สาขารัตนาธิเบศร์ของโจทก์ แต่เครื่องคอมพิวเตอร์บันทึกรายการนำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีซ้ำกัน 2 ครั้ง ทำให้ยอดเงินในบัญชีเพิ่มเกินไป 35,505 บาท ต่อมาจำเลยทราบเรื่องและเบิกถอนเงินดังกล่าวไปใช้โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 46,900.65 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 35,505 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2536 นับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 35,505 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้กับโจทก์ที่สาขาถนนข้าวสาร เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2536พนักงานของโจทก์สาขารัตนาธิเบศร์บันทึกรายการรับฝากเงินจำนวน 35,505 บาทเข้าบัญชีของจำเลยซ้ำกัน 2 ครั้ง ทำให้ยอดเงินในบัญชีของจำเลยมีจำนวนเกินไปจากความเป็นจริง 35,505 บาท และจำเลยได้เบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์การที่พนักงานของโจทก์บันทึกรายการในบัญชีของจำเลยซ้ำกัน 2 ครั้ง ทำให้ยอดเงินในบัญชีของจำเลยสูงกว่าความเป็นจริง 35,505 บาท และจำเลยเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปโดยอาศัยความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานของโจทก์ เงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เมื่อจำเลยได้เงินนั้นไปโดยไม่ชอบ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินจำนวนนั้นคืนจากจำเลยผู้ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยได้ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญาฝากทรัพย์ แล้วพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเป็นการพิจารณาพิพากษาคดีนอกฟ้องนอกประเด็น ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 วรรคหนึ่ง นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลอุทธรณ์มิได้รับฟังข้อเท็จจริงใหม่ แต่ศาลอุทธรณ์ปรับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมานั้นเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ จำเลยกระทำผิดสัญญาฝากทรัพย์และโจทก์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืน กรณีจึงมิใช่เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share