คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2495

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารที่มีข้อความว่าผู้ยกทรัพย์สินยอมยกให้เป็นกรรมสิทธิแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ต่อเมื่อผู้ให้วายชนม์ และผู้รับได้ทำการณาปนกิจผู้ให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นพินัยกรรม์
ในพินัยกรรม์ แม้จะมีการขีดฆ่าถ้อยคำบางตอนออก โดยผู้เขียนเซ็นชื่อกำกับที่ข้างกระดาษเอง ผู้ทำพินัยกรรม์มิได้ลงลายมือชื่อกำกับด้วยนั้น ถ้าเป็นที่เห็นได้ชัดว่าผู้เขียน เขียนพลาดไปจึงได้ขีดฆ่าคำที่กล่าวนั้นออก เอามาเขียนไว้ในข้อต่อมา จะขีดฆ่าคำที่เขียนไว้ออกเสียดังกล่าวแล้วหรือจะไม่ขีดฆ่าออกก็ตาม หากระทำให้ข้อความ ในพินัยกรรมนั้นเปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใดไม่ดังนี้ ย่อมไม่เป็นเหตุทำให้พินัยกรรมนั้นไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด หากจะว่าไม่สมบูรณ์ ก็ไม่สมบูรณ์เฉพาะข้อความที่ขีดฆ่าออกดังกล่าวเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้แสดงว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง
จำเลยต่อสู้ว่า มารดาได้ยกนาพิพาทให้แก่จำเลย
ศาลชั้นต้นฟังตามข้อต่อสู่จำเลย จึงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณแล้ว เอกสารที่ผู้ตายทำยกทรัพย์สินให้แก่จำเลยนั้น มีข้อความกล่าวไว้ชัดเจนว่าผู้ยกทรัพย์สินให้แก่จำเลยนั้น มีข้อความกล่าวไว้ชัดว่า ผู้ยกทรัพย์สินยอมยกให้เป็นกรรมสิทธิแก่จำเลยต่อเมื่อผู้ให้ ได้วายชนม์ และผู้รับได้ทำการณาปนกิจศพผู้ให้เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นพินัยกรรม์ แม้จะมีการขีดฆ่าคำว่า “หนังสือสัญญานี้ทำขั้น ๑ ฉะบับให้ผู้รับถือไว้” โดยมีผู้เขียนเซ็นกำกับการขีดฆ่าไว้ข้างกระดาษ หาใช่ลายมือผู้ทำพินัยกรรม์ก็ดี แต่ในเอกสารนั้นเองได้เขียนข้อ ๔ ข้อ ๕ ต่อไป ในข้อ ๕ มีความว่าสัญญานี้ทำขึ้น ๑ ฉะบับ ให้ผู้รับถือไว้เป็นหลักฐาน ฯลฯ เป็นข้อความอย่างเดียวกับที่ขีดฆ่าออกดังกล่าวมาแล้วนั่นเอง เห็นได้ชัดว่าผู้เขียน เขียนพลาดไป จึงได้ขีดฆ่าคำที่กล่าวแล้วออกเอามาเขียนลงไว้ในข้อ ๕ ดังกล่าวแล้ว จะขีดฆ่าคำที่เขียนไว้ออกเสียดังกล่าวหรือจะไม่ขีดฆ่าออกก็ตาม หากระทำให้พินัยกรรม์ที่กล่าวเปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใดไม่ จึงไม่เป็นเหตุให้พินัยกรรม์ดังกล่าวไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด หากจะว่าไม่สมบูรณ์ ก็ไม่สมบูรณ์เฉพาะข้อมความที่ขีดฆ่าออกดังกล่าวเท่านั้น จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share