แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นหัวหน้าพนักงานล้างภาชนะไม่มีหน้าที่ให้บริการลูกค้า โจทก์สมัครใจทะเลาะวิวาทกับ ช. หัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งมิใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ ขณะเกิดเหตุร้านอาหารของจำเลยปิดการให้บริการเลิกงานแล้ว ที่เกิดเหตุอยู่นอกบริษัทห่างร้านอาหารของจำเลยประมาณ 200 เมตรมิได้เกิดขึ้นต่อหน้าลูกค้าหรือพนักงานอื่นของจำเลย ไม่มีผลกระทบต่อชื่อเสียงของจำเลย ทั้งไม่มีฝ่ายใดได้รับอันตรายถึงบาดเจ็บ การกระทำของโจทก์จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างในกรณีร้ายแรง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2527 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่หัวหน้าเด็กล้างจาน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 14,800 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2542 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เหตุทะเลาะวิวาทไม่ได้เกิดจากโจทก์จึงไม่ใช่การกระทำผิดอย่างร้ายแรง โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 10 ปี ขึ้นไป จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 148,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน28,120 บาท และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ประสงค์จะทำงานกับจำเลยต่อไป หากไม่อาจรับเข้าทำงานได้ ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 296,000 บาทและให้จำเลยจ่ายเงินสมทบจำนวน 80,000 บาท เพื่อส่งเข้าสมทบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่จำเลยได้หักเงินสะสมของโจทก์ไว้ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน28,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าจ้างจำนวน1,973.32 บาท ค่าชดเชยจำนวน 148,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม หรือจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 286,000 บาทและให้จำเลยจ่ายเงินสมทบส่วนของจำเลยจำนวน 80,000 บาทส่งเข้าสมทบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่จำเลยได้หักเงินสะสมของโจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2542 โจทก์และนายทวี ช่างสลัก ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยได้ใช้กำลังทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ในสถานประกอบการของจำเลยขณะที่ยังมีลูกค้าใช้บริการกิจการของจำเลย การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง จำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานกับจำเลยได้ และการเลิกจ้างเป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2527 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าพนักงานล้างภาชนะ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 14,800 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2542เวลาประมาณ 23 นาฬิกาเศษ ซึ่งเป็นเวลาที่ร้านอาหารของจำเลยปิดให้บริการแล้วโจทก์กับนายทวี ช่างสลัก หัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัยสมัครใจวิวาททำร้ายกันที่บริเวณหน้าป้อมยามทางเข้าภายในบริเวณบริษัทจำเลย ห่างร้านอาหารของจำเลยประมาณ 200 เมตร ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2542 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.2 บทที่ 6 ข้อ 1.8 แต่เป็นกรณีไม่ร้ายแรงพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 148,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 5 สิงหาคม2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายเงินสมทบจำนวน80,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการเดียวว่า การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยประกอบกิจการโรงแรมอันเป็นงานบริการซึ่งพนักงานผู้ร่วมองค์กรจะต้องเป็นบุคคลที่มีความประพฤติและมีพฤติกรรมที่ดีที่เหมาะสมทั้งต่อผู้ร่วมงานและลูกค้าผู้ใช้บริการโจทก์เป็นพนักงานระดับหัวหน้างาน ต้องปกครองดูแลผู้ใต้บังคับบัญชากลับก่อการทะเลาะวิวาทกับพนักงานด้วยกันเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีต่อพนักงานอื่นของจำเลย อีกทั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของจำเลย การกระทำของโจทก์ย่อมเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรงจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย เห็นว่า การกระทำผิดของลูกจ้างจะเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่นั้น ต้องพิเคราะห์ถึงปัจจัยต่าง ๆ ประกอบกันหลายประการอาทิเช่น ตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกจ้าง ลักษณะและพฤติการณ์การกระทำผิดของลูกจ้าง ตลอดจนผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดว่ามีมากน้อยเพียงใด คดีนี้โจทก์เป็นหัวหน้าพนักงานล้างภาชนะซึ่งไม่มีหน้าที่ให้บริการลูกค้าของจำเลย โจทก์สมัครใจทะเลาะวิวาทกับนายทวี ช่างสลัก หัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นพนักงานที่มิใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ดังที่จำเลยอ้าง ขณะเกิดเหตุร้านอาหารของจำเลยปิดการให้บริการอันเป็นเวลาเลิกงานแล้วที่เกิดเหตุอยู่นอกบริษัท บริเวณหน้าป้อมยามทางเข้าบริเวณบริษัทห่างร้านอาหารของจำเลยประมาณ 200 เมตร มิได้เกิดขึ้นต่อหน้าลูกค้าผู้มาใช้บริการหรือหมู่พนักงานอื่นของจำเลย จึงไม่มีผลกระทบต่อชื่อเสียงของจำเลย อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีฝ่ายใดได้รับอันตรายถึงบาดเจ็บ การกระทำดังกล่าวของโจทก์จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน